วันอาทิตย์ที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2555

สรุปสารสำคัญแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 (2555-2559)

 บทนำ
           "การจะพัฒนาคนต้องพัฒนาที่จิตใจ" วลีดังกล่าวนี้เรามักคุ้นหูกันมากที่สุด นั่นก็หมายถึงว่า จิตใจ ถือเป็นแก่นสำคัญในงานด้านการพัฒนา  จะ พัฒนาเจริญรุ่งเรืองมากแต่ถ้าจิตใจไม่มีพัฒนาการตามไปด้วยก็ไม่เกิดผล (เสื่อมทราม) การจะพัฒนาประเทศก็เช่นเดียวกัน จะมุ่งความเจริญเติบโตด้านใดด้านหนึ่งไม่ได้  จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องให้ความสำคัญรอบด้าน (หลายมิติ) และการจะให้ฝ่ายปฏิบัติสามารถนำแผนไปสู่การปฏิบัติได้อย่างเกิดผล  ก็ ต้องมีการร่างแผนพัฒนาขึ้น ในอดีตเรียกแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ เมื่อการพัฒนามุ่งเน้นเฉพาะระบบเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว เพียงเพื่อต้องการหนีออกจากคำว่า “ประเทศด้อยพัฒนา, ประเทศกำลังพัฒนา, ประเทศที่สาม” กลับพบว่าผู้คนในประเทศยิ่งจนลงเรื่อยๆ ปัญหาด้านสังคมกลับทวีความรุนแรงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ฝ่ายบริหารต้องมีการทบทวนบทบาทตนเองใหม่  เพิ่ม คำว่าสังคมเข้าไปด้วย ทำให้ได้คำใหม่ซึ่งฟังดูดีขึ้นคือ “แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ” ปัจจุบันกำลังเริ่มใช้แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๑๑ (พ.ศ. ๒๕๕๕-๒๕๕๙) ช่วงภาวะเศรษฐกิจฟองสบู่ (พ.ศ.๒๕๔๐) ประเทศไทยประสบกับภาวะวิกฤตเศรษฐกิจตกต่ำ นอกจากนั้นประสบกับความไม่สมดุลที่เกิดจากการพัฒนาประเทศขาดความยั่งยืน เนื่องจากมุ่งการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว ขณะที่ด้านสังคมได้ประสบกับภาวะปัญหาต่างๆ และทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมีความเสื่อมโทรมลง  จึงมีการน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้  ซึ่งถือเป็นปรัชญาที่ชี้นำยุทธศาสตร์และนโยบายการพัฒนาประเทศที่มุ่งสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน  และมั่นคงทุกภาคส่วน
             แผน พัฒนาฯ ฉบับที่ ๑๑ (พ.ศ. ๒๕๕๕-๒๕๕๙) ก็ยังคงไว้ซึ่งหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเหมือนเดิมภายใต้หลัก “คนคือศูนย์กลางการพัฒนา” โดยใช้หลักเศรษฐกิจเป็นเครื่องมือในการพัฒนาคน (มนุษย์) ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นนั่นเอง  ซึ่งกระบวนการเรียนการสอนวิชา ทฤษฎีการพัฒนาประเทศอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่บรรยายโดย อ.ดร.วิเศษ  ชินวงศ์ ได้ฝึกให้นักศึกษามีทักษะด้านการคิดวิเคราะห์  และสังเคราะห์ จากแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๑๑ ว่ามีสาระสำคัญอย่างไรตามประเด็นที่ได้กำหนดไว้ให้   ซึ่งสามารถนำเสนอตามประเด็นต่างๆ ได้ดังนี้
 การเปลี่ยนแปลงระดับโลกและภายในประเทศไทย
             การประเมินสถานการณ์ด้านต่างๆ ที่ประเทศกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้  ซึ่งอาจจะเรียกว่าเป็นวิธีการหา SWOT Analysis ก็ไม่ผิด  เพื่อหาแนวทางว่าประเทศไทยมีจุดแข็ง-อ่อนอย่างไรบ้าง จากการประเมินสถานการณ์พบว่า
             ๑.๑   การเปลี่ยนแปลงในระดับโลกพบว่า
                     จากปัญหาวิกฤตด้านเศรษฐกิจและการเงินส่งผลให้หลายประเทศ หรือกลุ่มประเทศต่างๆ มีการปรับเปลี่ยนการบริหารจัดการด้านการค้า  การลงทุน  การเงิน  สิ่ง แวดล้อม และด้านสังคม ทั้งนี้ เพราะว่าปัจจัยเหล่านี้มีผลสืบเนื่องถึงกันอย่างเห็นได้ชัด ทุกฝ่ายจึงให้ความสำคัญด้านหลักธรรมาภิบาล คือความโปร่งใส  การแก้ปัญหาโลกร้อน  ให้การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา และสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศ  กลุ่ม ประเทศอุตสาหกรรมมีการปรับตัวเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจโลกแบบศูนย์กลางการผลิตที่ ใหญ่เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กลุ่มประเทศของตน และจากการคาดการณ์มีการมองว่าในอนาคตกลุ่มชนชั้นกลางของแต่ละประเทศจะเพิ่ม จำนวนปริมาณมากขึ้น  ก็เมื่อเป็นเช่นนี้ก็จะมีกำลังในการซื้อขายมากขึ้น  เห็น ได้จากในปัจจุบันมีการรวมกลุ่มทำสัญญาเสรีการค้าในหลายประเทศ ซึ่งสถานการณ์เช่นนี้นับว่าเป็นผลกระทบอย่างมากสำหรับประเทศที่กำลังพัฒนา  เพราะจำเป็นต้องมีการเร่งพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และระบบการพัฒนาต่างๆ ภายในประเทศอย่างเร่งด่วน
             ในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๑๑ นี้ ประชากรผู้สูงอายุในโลกจะเพิ่มปริมาณขึ้นอีก ๘๑.๙ ล้านคน  ส่งผลต่อภาคธุรกิจคือการสร้างงานต้องใช้ทักษะ  ความชำนาญ ควบคู่กับเทคโนโลยี ขณะเดียวกันประเทศที่มีผู้สูงอายุมากก็จะเพิ่มรายจ่ายเป็นจำนวนมาก  และที่สำคัญในสังคมจะมีความหลายหลายทางวัฒนธรรม  สภาพภูมิอากาศโลกมีความแปรปรวน ในช่วง ๓๐ ปีที่ผ่านมา อุณหภูมิโลกเฉลี่ยสูงขึ้น ๐.๒ องศาเซลเซียสต่อศตวรรษ  จากสภาพอากาศที่มีความแปรปรวนได้ก่อให้เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติบ่อยครั้งและทวีความรุนแรง อาทิ แผ่นดินไหว  ดินถล่ม  ภูเขาไฟระเบิด  อุทกภัย  วาตภัย  ภัยแล้ง  ไฟป่า  ระบบนิเวศในหลายพื้นที่ของโลกอ่อนแอ  บาง พื้นที่มีโรคระบาดมีแมลงศัตรูพืชสร้างความเสียหายแก่ผลผลิตทางการเกษตรและ ธัญญาหารของโลก รวมทั้งกระทบต่อภาคสังคม คือปัญหาความยากจน  การอพยพย้ายถิ่น และการแย่งชิงทรัพยากร  ปัจจุบัน กำลังการผลิตทางการเกษตรลดลงไม่เพียงพอต่อความต้องการ หรือไม่ก็มีราคาที่สูงเกินไปซึ่งสืบเนื่องมาจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางภูมิ อากาศโลก เมื่อปัญหาทั้งหมดทั้งมวลที่กล่าวมาทวีความรุนแรงขึ้น  มนุษย์ ก็เริ่มมองหาวิธีการที่จะมาแก้ไข สิ่งที่ช่วยได้มากที่สุดในขณะนี้คือการพัฒนาเทคโนโลยี ในปัจจุบันมีการนำเอาเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในชีวิตประจำวันมาก ซึ่งทั้งหมดนี้ก็ยังไม่สามารถตอบโจทย์หรือสนองความต้องการได้ทั้งหมด  เพราะมันยังมีทั้งคุณและโทษ ที่สำคัญยิ่งมีการพัฒนาระบบสารสนเทศได้มากแค่ไหน  ปัญหาการจารกรรมข้อมูลข่าวสารก็ย้อมมีมากขึ้นตามไปด้วย  ในหลายประเทศมีปัญหาการก่อการร้ายในรูปแบบต่างๆ และมีความสลับซับซ้อนเพิ่มขีดความสามารถในระดับชาติ  มีการช่วยเหลือจากประเทศต่างๆ ซึ่งส่งผลกระทบต่อความมั่งคงของประเทศ  ประเทศ ต่างๆ ต้องเร่งควบคุมปัจจัยที่หนุนการก่อการร้าย ต้องทั้งต้องมีการสร้างความร่วมมือในเวทีระหว่างประเทศเพื่อปกป้องผล ประโยชน์ของชาติจากภัยเหล่านี้
             ๑.๒    ความเปลี่ยนแปลงภายในประเทศ  การ เปลี่ยนแปลงภายในประเทศมีอยู่ ๔ หลักใหญ่ๆ คือ การเปลี่ยนแปลงสภาวะด้านเศรษฐกิจ ประเทศไทยมีอัตราการขยายตัวและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจอยู่ในเกณฑ์ดี ภาคอุตสาหกรรมมีบทบาทในการผลิตสูง ภาคการเกษตรเป็นแหล่งสร้างรายได้หลักของประชาชนและเป็นฐานการสร้างมูลค่า เพิ่ม  ด้านสังคมนั้น ประเทศไทยมีก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น วัยเด็กและวัยแรงงานลดลง ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรเสื่อมโทรมส่งผลซ้ำเติมให้ปัญหาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รุนแรง ด้านการบริหารจัดการพัฒนาประเทศ ปัจจุบันประชาชนมีความตื่นตัวทางการเมืองสูงขึ้น (อาจมาจากการสร้างแส) แต่ปัญหาความขัดแย้งยังคงอยู่ ส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจและการดำรงชีพของประชาชน ภาครัฐมีประสิทธิภาพแต่ก็ยังไม่สามารถป้องกันการทุจริตคอร์รัปชั่น ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญของไทยและการพัฒนาประเทศ
ความเสี่ยงของสังคมไทย
             ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่า  ประเทศ ไทยถ้าจะพัฒนาประเทศก้าวเข้าสู่เวทีโลก หรือแม้ที่กำลังเป็นกระแสอยู่ในขณะนี้ คือประชาคมอาเซียน ซึ่งมีประเทศสมาชิกในกลุ่มอุษาคเณย์เข้าร่วม จำเป็นอย่างยิ่งที่ประเทศไทยต้องมีการประเมินสถานการณ์ของตนเอง ซึ่งจากประเด็นดังกล่าวนี้ ประเทศไทยต้องเผชิญ คือพร้อมที่เผชิญกับการเปลี่ยนแปลงอย่างมีประสิทธิภาพ คือ
             ๑. การบริหารภาครัฐที่อ่อนแอไม่สามารถขับเคลื่อนการบริหารได้อย่างเต็มขีดความ สามารถ และอำนาจรัฐถูกใช้เพื่อผลประโยชน์ของคนบางกลุ่ม ประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายสาธารณะน้อย
             ๒.  โครง สร้างทางเศรษฐกิจไม่สามารถรองรับการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน ตราบใดที่ระบบเศรษฐกิจของไทยยังคงพึ่งพากลไกเศรษฐกิจโลก หรือการนำเข้าจากต่างประเทศมากเท่าไหร่  ระบบเศรษฐกิจภายในประเทศก็ยิ่งมีความผันผวนอยู่เสมอ  ประชาชนของประเทศส่วนใหญ่ยังคงอยู่ในระดับฐานราก
             ๓. โครงสร้างประชากรที่มีวัยสูงอายุเพิ่มขึ้น ขณะที่ประชากรวัยเด็กและวัยแรงงานลดลง ปี พ.ศ. ๒๕๖๘ คาดการณ์ว่าประเทศไทยจะกลายเป็นประเทศสังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์  การ แข่งขันเพื่อแย่งชิงกำลังแรงงานจะเกิดขึ้น ในปัจจุบันงานก่อสร้างตาม ๓ จังหวัดชายแดนอีสานตอนล่าง เริ่มมีกลุ่มแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาขายแรงงานกันมากขึ้น
             ๔. ค่านิยมที่ดีงานเสื่อมถอยและประเพณีดั้งเดิมถูกบิดเบือน เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงภายใต้กระแสโลกาภิวัฒน์  ส่งผลให้สังคมไทยเป็นสังคมวัตถุนิยม (คนที่พูดประเด็นนี้กลับเป็นผู้นำกระแสโลกาภิวัตน์เสียเอง  แต่ผู้ที่เขาอยู่กับประเพณีนิยม ความเป็นท้องถิ่น กลับมองว่าล้าสมัย อนุรักษ์นิยม หัวโบราณ)
             ๕. ฐานทรัพยากรธรรมชาติและสภาพแวดล้อมของประเทศมีแนวโน้มเสื่อมโทรมรุนแรง เนื่องจากปัจจัยความจำเป็นพื้นฐานของคนในสังคม ผนวกกับปัญหาภัยธรรมชาติ และความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ แต่ก็ไม่ร้ายแรงเท่าการสร้างชุมชนในเขตบริเวณที่เป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติ คนรากฐานก็ต้องการที่ทำกิน เพื่อทำการเกษตร  ส่วนคนชั้นกลางขึ้นไปต้องการสร้างระบบเศรษฐกิจการท่องเที่ยว บ้านเช่า โรงแรม ทำทุกวิถีทางเพื่อให้สามารถเข้าถึงพื้นที่ให้ได้
             ๖. ประเทศไทยยังคงมีความเสี่ยงด้านความมั่นคง ความเสี่ยงด้านนี้ถือเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ยากจะแก้ไข  แต่ก็ไม่เกินความสามารถถ้าทุกฝ่ายช่วยกัน เพื่อผลประโยชน์ของชาติอย่างแท้จริง
             ซึ่งจากปัญหาความเสี่ยงที่ประเทศกำลังประสบอยู่และจะประสบในอนาคตเมื่อประเทศก้าวเข้าสู่เวทีโลก  ดังนั้นประเทศต้องสร้างภูมิคุ้มกันให้ตนเอง  ซึ่งในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๑๑ นี้ กำหนดไว้ ๕ ประเด็นด้วยกันคือ
             ๑. ประเทศไทยจะต้องมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็น ประมุขของประเทศชาติเท่านั้น ซึ่งสถาบันที่คอยเชื่อมโยงทักทอเส้นใยให้คนในชาติมีความกลมเกลียวกัน
             ๒. การพัฒนาประเทศจำเป็นต้องให้อยู่บนฐานความรู้และเทคโนโลยีที่ทันสมัย สิ่งเหล่านี้จะปฏิเสธเลยทีเดียวไม่ได้ แต่ทำอย่างไรจึงจะสามารถปรับประสานให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมในท้องถิ่นของตน ให้ได้
             ๓. สังคมไทยมีค่านิยมและวัฒนธรรมที่ดีงาม อัตลักษณ์ความเป็นไทยดีอยู่แล้ว แต่ตัวแปรที่สำคัญที่สามารถส่งผลให้คนในสังคมมีการเปลี่ยนแปลงได้ นั่นคือศาสนา ศาสนาที่คนไทยรู้จักและคุ้นเคยมากที่สุด คือพระพุทธศาสนา
             ๔. ภาคการเกษตรเป็นฐานรากได้หลักและความมั่นคงด้านอาหารของประเทศ แหล่งพลังงานที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทยคือ ภาคการเกษตร เป็นแหล่งสร้างรายได้อย่างยั่งยืนให้กับคนในสังคมได้เป็นอย่างดี
             ๕. ชุมชนท้องถิ่นเป็นกลไกที่มีความสามารถในการบริหารจัดการ มีส่วนร่วมในการพัฒนาคุณภาพชีวิตและเชื่อมโยงกันเป็นสังคมสวัสดิการ ในท้องถิ่นมีทุกอย่าง แต่แนะนำให้ทุกคนรู้จักนำมาใช้ ให้เหมาะสม
ทิศทางการพัฒนาประเทศ
             การ พัฒนาประเทศไทยระยะแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๑๑ ตระหนักถึงสถานการณ์และความเสี่ยงซึ่งเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงในระดับโลก และภายในประเทศ โดยเฉพาะด้านความผันผวนทางเศรษฐกิจ พลังงาน และภูมิอากาศ ภายใต้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยให้ความสำคัญด้านการพัฒนาระบบเศรษฐกิจภาคการเกษตร พร้อมก้าวสู่ประชาคมอาเซียนในปี ๒๕๕๘  ที่มีความพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน
             ดัง นั้น กล่าวได้ว่าทิศทางการพัฒนาประเทศในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๑๑ คือการสร้างภูมิคุ้มกันในมิติต่าง ๆ เพื่อให้การพัฒนาประเทศมีความสมดุลและยั่งยืน โดยมีการนำทุนด้านต่างๆ ที่ประเทศมีอยู่มาใช้ประโยชน์อย่างบูรณาการและเกื้อกูลกัน พร้อมทั้งเสริมสร้างให้แข็งแกร่งเพื่อเป็นรากฐานการพัฒนาประเทศ คือพัฒนาคนและสังคมไทยสู่สังคมคุณภาพ       
วิสัยทัศน์  พันธกิจ  วัตถุประสงค์และเป้าหมายการพัฒนาประเทศ
             “คน ไทยภาคภูมิใจในความเป็นไทย มีมิตรไมตรีบนวิถีชีวิตแห่งความพอเพียง ยึดมั่นในวัฒนธรรมประชาธิปไตย และหลักธรรมาภิบาล การบริการสาธารณะขั้นพื้นฐานที่ทั่วถึง มีคุณภาพ สังคมมีความปลอดภัยและมั่นคง อยู่ในสภาวะแวดล้อมที่ดี เกื้อกูลและเอื้ออาทรซึ่งกันและกัน ระบบการผลิตเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมีความมั่นคงด้านอาหารและพลังงาน อยู่บนฐานทางเศรษฐกิจที่พึ่งตนเองและแข่งขันได้ในเวทีโลก สามารถอยู่ในประชาคมภูมิภาคและโลกได้อย่างมีศักดิ์ศรี” นี่คือกรอบทิศทางการพัฒนาประเทศระยะกลางที่มุ่งสู่วิสัยทัศน์ระยะยาวของแผน พัฒนาฯ ฉบับที่ ๑๑
             วิสัยทัศน์
             “สังคมอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข  ด้วยความเสมอภาค เป็นธรรม และมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลง”
             พันธกิจ
             ๑. สร้างสังคมเป็นธรรมและเป็นสังคมที่มีคุณภาพ  ทุกคนมีความมั่งคงในชีวิต  ได้รับการคุ้มครองทางสังคมที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม มีโอกาสเข้าถึงทรัพยากรและกระบวนการยุติธรรมอย่างเสมอภาค   ทุกภาคส่วนได้รับการเสริมพลังให้สามารถมีส่วนร่วมในกระบวนการพัฒนา  ภายใต้ระบบบริหารจัดการภาครัฐที่โปร่งใส เป็นธรรม
             ๒. พัฒนาคุณภาพคนไทยให้มีคุณธรรม เรียนรู้ตลอดชีวิต มีทักษะและการดำรงชีวิตอย่างเหมาะสมในแต่ละช่วงวัย  สถาบันทางสังคมและชุมชนท้องถิ่นมีความเข้มแข็ง  สามารถปรับตัวรู้เท่าทันกับกาดรเปลี่ยนแปลง
             ๓. พัฒนาฐานการผลิตและบริการให้เข้มแข็งและมีคุณภาพบนฐานความรู้ ความคิดสร้างสรรค์ และภูมิปัญญา  สร้างความมั่นคงด้านอาหารและพลังงาน ปรับโครงสร้างการผลิตและการบริโภคให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม  พร้อมสร้างความเชื่อมโยงกับประเทศในภูมิภาคเพื่อความมั่งคงทางเศรษฐกิจและสังคม
             ๔. สร้างความมั่งคงของฐานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สนับสนุนการมีส่วนร่วมของชุมชน รวมทั้งสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อรองรับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และภัยพิบัติทางธรรมชาติ
             วัตถุประสงค์
             ๑. เพื่อเสริมสร้างสังคมที่เป็นธรรมและเป็นสังคมสันติสุข
             ๒. เพื่อพัฒนาคนไทยทุกกลุ่มวัยอย่างเป็นองค์รวมทั้งทางกาย ใจ สิตปัญญา อารมณ์ คุณธรรม จริยธรรม และสถาบันทางสังคมมีบทบาทหลักในการพัฒนาคนให้มีคุณภาพ
             ๓. เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างมีเสถียรภาพ  คุณภาพ และยั่งยืน  มีความเชื่อมโยงเครือข่ายการผลิตสินค้าและบริการบนฐานปัญญา  นวัตกรรม  และความคิดสร้างสรรค์ในภูมิภาคอาเซียน  มีความมั่นคงทางอาหารและพลังงาน การผลิตและการบริโภคเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นำไปสู่การเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ
             ๔. เพื่ออบริหารจัดการทรัพยากรธรรมและสิ่งแวดล้อมให้เพียงพอต่อการรักษาสมดุลของระบบนิเวศ และเป็นฐานที่มั่นคงของการพัฒนาประเทศ
             เป้าหมาย
             ๑. ความอยู่เย็นเป็นสุขและความสงบสุขของสังคมไทยเพิ่มขึ้น  ความเหลื่อมล้ำในสังคมลดลง  สัดส่วนผู้อยู่ใต้เส้นความยากจนลดลง  และดัชนีภาพลักษณ์การคอร์รัปชั่นไม่ต่ำกว่า ๕.๐ คะแนน
             ๒. คนไทยมีการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง มีสุขภาวะดีขึ้น มีคุณธรรม จริยธรรม และสถาบันทางสังคมมีความเข้มแข็งมากขึ้น
             ๓. เศรษฐกิจเติบโตในอัตราที่เหมาะสมตามศักยภาพของประเทศ  ให้ ความสำคัญกับการเพิ่มผลิตภาพรวมไม่ต่ำกว่าร้อยละ ๓.๐ ต่อปี เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประเทศเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ ของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ให้มีไม่ต่ำกว่าร้อยละ ๔๐.๐
             ๔. คุณภาพสิ่งแวดล้อมอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน เพิ่มประสิทธิภาพการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมทั้งเพิ่มพื้นที่ป่าไม้เพื่อรักษาสมดุลของระบบนิเวศ
ยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ
             ยุทธศาสตร์ การพัฒนาประเทศในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๑๑ นี้มุ่งสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อป้องกันปัจจัยเสี่ยง และเสริมรากฐานของประเทศด้านต่างๆ ให้เข้มแข็งควบคู่กับการพัฒนาคนและสังคมให้มีคุณภาพเข้าถึงทรัพยากรและได้ รับประโยชน์จากแผนพัฒนาฯ ฉบับนี้อย่างเป็นธรรม อันจะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป ซึ่งมียุทธศาสตร์การพัฒนาทั้งหมด ๖ ยุทธศาสตร์ และมีกลยุทธ์ย่อยไปอีก ดังนี้
             ๑.    ยุทธศาสตร์สร้างความเป็นธรรมในสังคม ซึ่งให้ความสำคัญกับประเด็นเหล่านี้คือ
                   ๑.๑  การ สร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคมให้ทุกคนในสังคมไทยควบคู่กับการเสริม สร้างขีดความสามารถในการจัดการความเสี่ยงและสร้างโอกาสในชีวิตให้แก่ตนเอง
                   ๑.๒  การจัดบริการทางสังคมให้ทุกคนตามสิทธิขั้นพื้นฐาน  เน้นการสร้างภูมิคุ้มกันระดับปัจเจก  และสร้างการมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจในการพัฒนาประเทศ
                   ๑.๓  การ เสริมสร้างพลังให้ทุกภาคส่วนสามารถเพิ่มทางเลือกการใช้ชีวิตในสังคมและมี ส่วนร่วมในเชิงเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองได้อย่างมีคุณค่าและศักดิ์ศรี
                   ๑.๔  การสานสร้างความสัมพันธ์ของคนในสังคมให้มีคุณค่าร่วมและตระหนักถึงผลประโยชน์ของสังคม  และเสริมสร้างการบริหารราชการแผ่นดินที่มีประสิทธิภาพ
             ๒.    ยุทธศาสตร์การพัฒนาคนสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างยั่งยืน โดยให้ความสำคัญกับประเด็นเหล่านี้ คือ
                   ๒.๑  การปรับโครงสร้างและการกระจายตัวประชากรให้เหมาะสม
                   ๒.๒  การพัฒนาคุณภาพคนไทยให้มีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลง
                   ๒.๓  การส่งเสริมการลดปัจจัยเสี่ยงด้านสุขภาพอย่างเป็นองค์รวม
                   ๒.๔  การส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต
                   ๒.๕  การเสริมสร้างความเข้มแข็งของสถาบันทางสังคม
             ๓.    ยุทธศาสตร์ความเข้มแข็งภาคเกษตร ความมั่นคงของอาหารและพลังงาน โดยให้ความสำคัญกับประเด็นเหล่านี้ คือ
                   ๓.๑  การพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติที่เป็นฐานการผลิตภาคเกษตรให้เข้มแข็งและยั่งยืน
                   ๓.๒  การเพิ่มประสิทธิภาพและศักยภาพการผลิตภาคเกษตร
                   ๓.๓  การสร้างมูลค่าเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรตลอดห่วงโซ่การผลิต
                   ๓.๔  การสร้างความมั่นคงในอาชีพและรายได้ให้แก่เกษตรกร
                   ๓.๕  การสร้างความมั่นคงด้านอาหารและพัฒนาพลังงานชีวภาพในระดับครัวเรือนและชุมชน
                   ๓.๖  การสร้างความมันคงด้านพลังงานชีวภาพเพื่อสนับสนุนการพัฒนาประเทศและความเข้มแข็งภาคเกษตร
                   ๓.๗  การปรับระบบบริหารจัดการภาครัฐเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงด้านอาหารและพลังงาน
             ๔.    ยุทธศาสตร์การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจสู่การเติบโตอย่างมีคุณภาพและยั่งยืน โดยให้ความสำคัญกับประเด็นเหล่านี้ คือ
                   ๔.๑  การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่มีคุณภาพและยั่งยืน
                   ๔.๒  การพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี  วิจัย  และนวัตกรรม
                   ๔.๓  การพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันที่มีประสิทธิภาพ เท่าเทียม และเป็นธรรม
                   ๔.๔  การบริหารจัดการเศรษฐกิจส่วนรวมอย่างมีเสถียรภาพ
             ๕.    ยุทธศาสตร์การสร้างความเชื่อมโยงกับประเทศในภูมิภาคเพื่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม โดยให้ความสำคัญกับประเด็นเหล่านี้ คือ
                   ๕.๑  การพัฒนาความเชื่อมโยงด้านการขนส่งและระบบโลจิสติกส์ภายใต้กรอบความร่วมมือในอนุภูมิภาคต่างๆ
                   ๕.๒  การพัฒนาฐานลงทุนโดยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันระดับอนุภูมิภาค
                   ๕.๓  การสร้างความพร้อมในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน
                   ๕.๔  การ เข้าร่วมเป็นภาคีความร่วมมือระหว่างประเทศและภูมิภาคภายใต้บทบาทที่สร้าง สรรค์ เป็นทางเลือกในการดำเนินนโยบายระหว่างประเทศในเวทีโลก
                   ๕.๕  การสร้างความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจในภูมิภาคด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์การเคลื่อนย้ายแรงงาน และการส่งเสริมแรงงานไทยในต่างประเทศ
                   ๕.๖  การมีส่วนร่วมอย่างสำคัญในการสร้างสังคมนานาชาติที่มีคุณภาพชีวิต  ป้องกันภัยจากการก่อการร้ายและอาชญากรรม  ยาเสพติด ภัยพิบัติ  และการแพร่ระบาดของโรคภัย
                   ๕.๗  การเสริมสร้างความร่วมมือที่ดีระหว่างประเทศในการสนับสนุนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมีจริยธรรมและไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม  พร้อมทั้งเปิดรับความร่วมมือกับองค์กรระหว่างประเทศที่ไม่แสวงหากำไร
                   ๕.๘  การเร่งรัดการใช้ประโยชน์จากข้อตกลงการค้าเสรีที่มีผลบังคับใช้แล้ว
                   ๕.๙  การส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นฐานการลงทุน  และการประกอบธุรกิจในเอเชีย รวมทั้งเป็นฐานความร่วมมือในการพัฒนาภูมิภาค
                 ๕.๑๐  การปรับปรุงและเสริมสร้างความเข้มแข็งของภาคีการพัฒนาภายในประเทศตั้งแต่ระดับชุมชนท้องถิ่น
             ๖.    ยุทธศาสตร์ การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน โดยให้ความสำคัญกับประเด็นเหล่านี้ คือโดยให้ความสำคัญกับประเด็นเหล่านี้ คือ
                   ๖.๑  การอนุรักษ์ ฟื้นฟู และสร้างความมั่นคงของฐานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
                   ๖.๒  การปรับกระบวนทัศน์การพัฒนาและขับเคลื่อนประเทศเพื่อเตรียมพร้อมไปสู่การเป็นเศรษฐกิจและสังคมคาร์บอนต่ำและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
                   ๖.๓  การยกระดับขีดความสามารถในการรองรับและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อให้สังคมมีภูมิคุ้มกัน
                   ๖.๔  การเตรียมความพร้อมรองรับการภัยพิบัติทางธรรมชาติ
                   ๖.๕  การสร้างภูมิคุ้มกันด้านการค้าจากเงื่อนไขด้านสิ่งแวดล้อมและวิกฤตจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
                   ๖.๖  การเพิ่มบทบาทประเทศไทยในเวทีประชาคมโลกที่เกี่ยวข้องกับกรอบความตกลงและพันธกรณีด้านสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศ
                   ๖.๗  การควบคุมและลดมลพิษ
                   ๖.๘  การพัฒนาระบบการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้มีประสิทธิภาพ โปร่งใสและเป็นธรรมอย่างบูรณาการ
            
ประเด็นที่ต้องการพัฒนาสู่การจัดทำวิทยานิพนธ์ (Dissertation)
          จาก การศึกษาสรุปสาระการเรียนรู้จากแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๑๑ ผู้เรียนมีประเด็นที่สนใจในการนำไปพัฒนาสู่การจัดทำดุษฎีนิพนธ์ต่อไปใน ประเด็น  การเมืองภาคประชาชน   โดยนำหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาเข้ามาปรับใช้   ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ด้านการสร้างความเชื่อมโยงกับประเทศในภูมิภาคเพื่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม   ที่ให้ความสำคัญกับการเข้าร่วมเป็นภาคีความร่วมมือระหว่างประเทศและภูมิภาคภายใต้บทบาทที่สร้างสรรค์  เป็นทางเลือกในการดำเนินนโยบายระหว่างประเทศในเวทีโลก
          ประเด็นที่สนใจ คือ รูปแบบวิถีประชาธิปไตยตามหลักอปริหานิยธรรม ของผู้บริหารสถานศึกษาและบุคลากรทางการศึกษาในโรงเรียนกลุ่มชาติพันธุ์ไทย-เขมร



 พระมหาเฉลิมเกียรติ  แก้วหอม. พธ.ธ.(การเมืองการปกครอง), ศศ.ม. (ยุทธศาสตร์การพัฒนา)   

สรุปสาระสำคัญหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง


สรุปสาระสำคัญ
หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

พระบรมราโชวาทเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียง
เปรียบเสมือนเสาเข็ม
เศรษฐกิจ พอเพียงเป็นเสมือนรากฐานของชีวิต รากฐานความมั่นคงของแผ่นดิน เปรียบเสมือนเสาเข็มที่ถูกตอกรองรับบ้านเรือนตัวอาคารไว้นั่นเองสิ่งก่อ สร้างจะมั่นคงได้ก็อยู่ที่เสาเข็ม แต่คนส่วนมากมองไม่เห็นเสาเข็ม และลืมเสาเข็มเสียด้วยซ้ำไป
ต้องทำแบบคนจน
ต้อง ทำแบบคนจน เราไม่เป็นประเทศร่ำรวย เรามีพอสมควร พออยู่ได้ แต่ไม่เป็นประเทศที่ก้าวหน้าอย่างมาก เราไม่อยากจะเป็นประเทศก้าวหน้าอย่างมาก เพราะถ้าเราเป็นประเทศก้าวหน้าอย่างมาก ก็จะมีแต่ถอยหลัง ประเทศเหล่านั้นที่เป็นประเทศที่มีอุตสาหกรรมก้าวหน้า จะมีแต่ถอยหลัง และถอยหลังอย่างน่ากลัว แต่ถ้าเริ่มการบริหารที่เรียกว่า แบบคนจน แบบที่ไม่ติดกับตำรามากเกินไปทำอย่างมีสามัคคีนี่แหละ คือเมตตากัน ก็จะอยู่ได้ตลอดไป
พึ่งตนเอง (Self-sufficiency)
“Self-sufficiency” นั้น หมายความว่า ผลิตอะไรมีพอที่จะใช้ไม่ต้องไปขอซื้อคนอื่น อยู่ได้ด้วยตนเอง(พึ่งตนเอง)...บางคนแปลจากภาษาฝรั่งว่า ให้ยืนบนขาตัวเอง คำว่า ยืนบนขาตัวเองนี่ มีคนบางคนพูดว่าชอบกล ใครจะมายืนบนขาคนอื่นมายืนบนขาเรา เราก็โกรธ แต่ตัวเองยืนบนขาตัวเองก็ต้องเสียหลักหกล้มหรือล้มลงอันนี้ก็เป็นความคิดที่ อาจจะเฟื่องไปหน่อย แต่ว่าเป็นความที่เขาเรียกว่ายืนบนขาของตัวเอง(ซึ่งแปลว่า พึ่งตนเอง) หมายความว่าสองขาของเรานี่ยืนบนพื้น ให้อยู่ได้ไม่หกล้ม ไม่ต้องไปขอยืมขาของคนอื่นมาใช้สำหรับยืน          

          เศรษฐกิจพอเพียง เป็น ปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบัน (ร.๙)  ทรงชี้แนวทางการดำรงอยู่และปฏิบัติตนของประชาชนในทุกระดับ  ให้ดำเนินไปในทางสายกลางโดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อให้ก้าวทันต่อยุค โลกาภิวัตน์   ทั้งนี้จะต้องอาศัยความรู้และความระมัดระวังอย่างยิ่งในการนำวิชาต่างๆ มาใช้   ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ที่ทรงพระกรุณาปรับปรุงแก้ไขพระราชทานข้างต้น เป็นที่มาของนิยาม  3 ห่วง 2 เงื่อนไข  ที่คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาตินำมาใช้ในการรณรงค์  และเผยแพร่ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงผ่านช่องทางต่างๆอยู่ในปัจจุบัน  ซึ่งประกอบ ด้วยความ พอประมาณ มีเหตุผล มีภูมิคุ้มกัน บนเงื่อนไข  ความรู้ และ คุณธรรม
        เศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวคิดที่ยึดหลักทางสายกลาง  เป็นปรัชญาในการดำรงชีวิตให้มีความสุข ที่จำเป็นต้องใช้ทั้ง ความรู้ ความเข้าใจ (รอบรู้ รอบคอบ ระมัดระวัง)ผนวกกับ คุณธรรม (ซื่อสัตย์ สุจริต ขยัน อดทน แบ่งปัน)ในการดำเนินชีวิต  เศรษฐกิจพอเพียงไม่ใช่เพียงการประหยัด  แต่เป็นการดำเนินชีวิตอย่างชาญฉลาด และสามารถอยู่ได้ แม้ในสถานการณ์ที่มีการแข่งขัน และการไหลบ่าของกระแสโลกาภิวัตน์  นำสู่ความสมดุล มั่นคง และยั่งยืนของชีวิต เศรษฐกิจ และสังคม
ความหมายของหลัก ๓ ห่วง
          ความพอเพียง คือ ความพอประมาณ ความมีเหตุมีผล มีระบบภูมิคุ้มกันที่ดีต่อผลกระทบของการเปลี่ยนแปลง หากขาดองค์ประกอบใดก็ไม่เป็นความพอเพียงที่สมบูรณ์
          ความพอประมาณ คือ ความพอดี กล่าวอย่างง่ายๆว่าเป็นการยืนได้โดยลำแข้งของตนเอง โดยมีการกระทำไม่มากเกินไป ไม่น้อยเกินไปในมิติต่างๆ เช่น การบริโภค การผลิตอยู่ในระดับสมดุล การใช้จ่าย การออมอยู่ในระดับที่ไม่สร้างความเดือดร้อนให้กับตนเอง พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง
          ความ มีเหตุมีผล หมายความว่า การตัดสินใจเกี่ยวกับระดับความพอประมาณ ในมิติต่างๆ จะต้องเป็นไปอย่างมีเหตุมีผล ต้องเป็นการมองระยะยาว คำนึงถึงความเสี่ยง มีการพิจารณาจากเหตุปัจจัยและข้อมูลที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนคำนึงถึงผลที่คาดว่าจะเกิด
ความหมายของหลักเงื่อนไข
           ความรอบรู้ คือ มีความรู้เกี่ยวกับวิชาการต่างๆ อย่างรอบด้าน ในเรื่องต่างๆที่เกี่ยวข้อง เพื่อใช้เป็นประโยชน์พื้นฐานเพื่อนำไปใช้ในการปฏิบัติอย่างพอเพียง การมีความรอบรู้ย่อมทำให้มีการตัดสินใจที่ถูกต้อง
            ความรอบคอบ คือ มีการวางแผน โดยสามารถที่จะนำความรู้และหลักวิชาต่างๆ มาพิจารณาเชื่อมโยงสัมพันธ์กัน
        ความ ระมัดระวัง คือ ความมีสติ ตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้ ในการนำแผนปฏิบัติที่ตั้งอยู่บนหลักวิชาต่างๆ เหล่านั้นไปใช้ในทางปฏิบัติ โดยเป็นการระมัดระวังให้รู้เท่าทันเหตุการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปด้วย
 การนำไปใช้ 
       กรอบแนวคิดและทิศทางการพัฒนาระบบเศรษฐกิจมหภาคของไทย  ได้อิงหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง  ซึ่งบรรลุอยู่ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ  ฉบับที่ ๑๐ (พ.ศ. ๒๕๕๐-๒๕๕๔) เพื่อมุ่งสู่การพัฒนาที่สมดุล ยั่งยืน และมีภูมิคุ้มกัน เพื่อความอยู่ดีมีสุข  มุ่งสู่สังคมที่มีความสุขอย่างยั่งยืน  หรือที่เรียกว่า สังคมสีเขียว (Green Society) ด้วยหลักการดังกล่าว  แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๑๐ นี้ จะไม่เน้นเรื่องตัวเลขการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ  แต่ยังคงให้ความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจแบบทวิลักษณ์  หรือระบบเศรษฐกิจที่มีความแตกต่างกันระหว่างเศรษฐกิจชุมชนเมืองและชนบท
     จากหลักการแนวคิดที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานแนวทางตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนี้  องค์การสหประชาชาติ (UN) โดยนายโคฟี อันนัน ในฐานะเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ ได้เชิดชูเกียรติโดยการทูลเกล้าฯถวายรางวัล The Human Development Lifetime Achievement Award แก่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อ 26 พฤษภาคม 2549 และได้มีปาฐกถาถึงปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงว่าเป็นปรัชญาที่สามารถเริ่มได้จาก การสร้างภูมิคุ้มกันในตนเอง สู่หมู่บ้าน และสู่เศรษฐกิจในวงกว้างขึ้น  ถือเป็นปรัชญาที่มีประโยชน์สังคมโลก  โดยองค์การสหประชาชาติได้สนับสนุนให้ประเทศสมาชิก 166 ประเทศยึดเป็นแนวทางสู่การพัฒนาประเทศแบบยั่งยืนด้วย
สรุป
          หลัก ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง  สำหรับในสังคมไทยแล้วถือว่าเป็นแนวคิดทฤษฎีใหม่ที่ชวนผู้คนในสังคมกลับมามอง ดูตัวเอง  รู้จักประเมินสถานการณ์ของตนว่าตอนนี้มีฐานะความเป็นอยู่ในระดับใด  สภาพแวดล้อมที่เราอาศัยอยู่เป็นแบบไหน  และเราควรต้องปฏิบัติตัวเช่นไรเพื่อให้สอดคล้อง  มีความเหมาะสมได้ นั่นคือหลักความพอเพียง  แต่ในทัศนะของผู้เรียนขอเสนอเพิ่มเติมว่า  หลักความพอเพียงนี้ไม่แตกต่างจากหลัก ความสันโดษ คือการสร้างใจของตนเองให้รู้สึกรัก  พอใจ  ยินดี กับของๆ ตนที่มีอยู่  ซึ่งพุทธองค์ทรงแนะนำพร่ำสอนเหล่าพุทธบริษัทให้มีหลักความสันโดษ  สอนแม้กระทั้งถึงการครองชีวิตคู่ ให้สันโดษในคู่ครอง  ถ้าอยากมากทุกข์มาก  ไม่อยากไม่ทุกข์  ความพอเพียงก็เช่นเดียวกัน  ถ้ายังอยากรวยจนเกินเหตุจะไม่มีทางเข้าใจหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงได้เลย

ขอเจริญพร


บรรยายโดย...พระมหาเฉลิมเกียรติ  แก้วหอม. น.ธ.เอก, ป.ธ.๓,
พธ.บ. (การเมืองการปกครอง), ศศ.ม. (ยุทธศาสตร์การพัฒนา)

การพัฒนาอินทรีย์ให้แก่กล้าเพื่อก้าวเข้าสู่ความเป็นอริยชน


การพัฒนาอินทรีย์ให้แก่กล้า[1]

แม้หนทางข้างหน้าจะมืดมิด      อย่าไปสิ้นความคิดจะย่างก้าว
                           ถึงหนทางข้างหน้าจะยืดยาว      ก็ไม่ไกลเกินเท้าเราก้าวเดิน
ขอนอบน้อม แด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ตรัสรู้ชอบได้ด้วยพระองค์เองนั้น
ขอโอกาส พระครูโสภณธรรมรังสี ผู้เป็นประธานสงฆ์ ตลอดจนพระเถรานุเถระที่เคารพทุกรูป
ขอเจริญไมตรีจิต เพื่อนสหธรรมิกผู้มั่นคงในอุดมการณ์เดียวกันทุกรูป แหละ
ขอเจริญพร ญาติธรรมผู้มีใจรักในปัญญาคือการแสวงหาความรู้ เพื่อนำตนออกจากกองหยากเยื่อ คือกิเลส ทุกๆ ท่าน
            ตึกสูงเสียดฟ้านับชั้นไม่ได้  เวลาจะสร้างต้องมีการวางรากฐานให้มั่นคง เบื้องต้นต้องมีการคำนวณขนาดวาด โครงสร้างให้ชัดเจน จากนั้นเริ่มมีการตอกเสาเข็มและเริ่มขึ้นโครงสร้างไปเรื่อยๆ จนในที่สุดสำเร็จเป็นรูปเป็นร่าง สามารถอยู่อาศัยได้หลาย ๑๐ ปี คนที่เกิดมาในโลกนี้ก็เช่นเดียวกัน กล่าวคือเมื่อเกิดมาแล้ว นอกจากจะต้องดูแลบำรุง รักษาร่างกายให้มีความเจริญเติบโตตามเกณฑ์ที่เหมาะสม ในด้านจิตใจก็ต้องมีการบำรุงรักษาให้มีความเจริญเติบโต  เช่นเดียวกัน มิฉะนั้นแล้ว เราจะต้องได้ยินสำนวนที่กล่าวว่า “ใหญ่แต่ตัว แต่หัวใจปลาซิว” ที่คำกล่าวเช่นนี้เกิดขึ้นมา  ได้เพราะคนเราขาดการฝึกฝน  ไม่รู้จักวิธีการสร้างความสงบให้กับตนเองในภาวะการณ์ต่างๆ ต่างจากผู้ที่มีการฝึกฝน  ตนเองอย่างสิ้นเชิง  คือเวลาประสบปัญหาใดๆ หรือตนเองกำลังอยู่ในสังคมที่มีปัญหาอย่างไร ก็จะไม่มีผลกระทบใดๆ เกิดขึ้นได้ หรือมีความสะเทือนถึงใจของผู้นั้นได้ ดังพุทธาภาษิตที่ว่า จิตตัง ทันตัง สุขาวะหัง แปลได้ความว่า จิตที่ฝึกดีแล้วนำสุขมาให้  แต่ก่อนที่จะฝึกตนเองได้ตามที่คาดหมายไว้  เราจะต้องสร้างความพร้อมให้กับตนเองเสีย  ก่อน  อุปมาเหมือนการสร้างตึกนั่นแหละ  เบื้องต้นต้องมีการออกแบบแล้วจึงเริ่มโครงสร้าง  งานโครงสร้างคือฐานราก ที่สำคัญ เปรียบเสมือนด้านจิตใจของคนเรา
            ฉะนั้น วันนี้อาตมภาพขอหยิบยกเอาประเด็นธรรมะที่ได้จากการฟังธรรมะบรรยาย  ที่พระครูโสภณธรรมรังสี ได้เทศน์อบรมพระ-เณร-เถร-ชีภาคค่ำเกี่ยวกับหลักปฏิบัติธรรม ในวันธัมมัสสวนะครั้งนี้จะบรรยายเรื่อง การพัฒนา ตนให้มีอินทรีย์เเก่กล้า ให้ญาติโยมสาธุชนทั้งหลายได้สดับรับฟัง เพื่อเป็นแนวทางแห่งสัมมาปฏิบัติช่วยขจัดความหมด หวัง  และเพื่อเป็นธรรมะปฏิสันถาร  ในการณ์ที่ท่านทั้งหลายมาประชุมพร้อมกัน ณ พุทธสมาคมแห่งนี้ ตามสมควรแก่ เวลาเป็นลำดับต่อไป

            อินทรีย์ หมายถึง  ความเป็นใหญ่ที่สามารถพัฒนาจิตให้มีกำลัง และมีประสิทธิภาพในงานที่ปฏิบัติอยู่
            ความแก่กล้า หมายถึง ความเข้มแข็งทางจิตที่เกิดเมื่อได้รับการฝึกฝน
            อินทรีย์ มี ๕ ประการ ได้แก่ :-
๑.   สัทธินทรีย์   คือ ความศรัทธา ในโพธิปักขิยะธรรม
                        ๒.   วิริยินทรีย์    คือ ความเพียร ในสัมมัปปะธาน
                        ๓.   สตินทรีย์     คือ ความระลึกได้ ในสติปัฏฐาน
                        ๔.   สมาธินทรีย์ คือ ความตั้งมั่น ในญาณ
๕.   ปัญญินทรีย์ คือ ความเข้าใจ ในอริยะสัจ

            เบื้องต้น ท่านทั้งหลายต้องปรับทัศนะใหม่เกี่ยวกับหลักธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสียก่อนว่า ธรรมะต้องเริ่มจากจุดเล็กๆ คือเริ่มจากภายในตัวเราเสียก่อน แล้วจึงแผ่ขยายเป็นวงกว้าง มีความสืบเนื่องกันไปเรื่อยๆ เหมือนการต่อจิกซอรูปภาพ ถ้าเราเริ่มจากจุดเล็กๆ ไม่ได้  เราก็ไม่สามารถเข้าใจหลักธรรมที่ละเอียดลึกซึ้งได้เหมือน กัน การปฏิบัติธรรมของท่านทั้งหลายก็เช่นเดียวกัน เหมือนบทประพันธ์ที่ได้กล่าวในเบื้องต้น “แม้หนทางข้างหน้าจะ มืดมิด  อย่าไปสิ้นความคิดที่จะย่างก้าว ถึงหนทางข้างหน้าจะยืดยาว ก็ไม่ไกลเกินเท้าเราก้าวเดิน” จากบทประพันธ์นี้ ได้ชี้ให้เห็นว่า ในดวงจิตของเราจะมืดมิดไปด้วยกิเลสตัณหา ถ้าเราไม่ย่อท้อ โอกาสที่เราจะได้เห็นธรรมะก็ย่อมมี เคยสนทนาธรรมกับหมู่คณะเกี่ยวกับการปฏิบัติธรรม  ถ้าเราได้ยินครูบาอาจารย์ที่ท่านปฏิบัติลำบากแถมยังรู้ยากอีก เราก็จะเกิดความรู้สึกว่า โอ๊ย...ธรรมะของพุทธองค์ทำไมถึงยากอย่างนี้ เราจะมีบุญวาสนาได้เห็นกับเขาไหมหนอ  แต่ถ้าเราได้ฟังครูบาอาจารย์ที่ท่านปฏิบัติง่ายและรู้เร็ว  เราก็จะเกิดความรู้สึกว่ามันง่าย  เราก็น่าจะมีโอกาสรู้ธรรม เหมือนอย่างท่านแน่นอน  ขอเพียงเราตั้งใจจริง  ความคิดที่ว่า “ขอเพียงเราตั้งใจจริง” นี้แหละ คือจุดเริ่มต้นของ การพัฒนาอินทรีย์ของตนให้กล้าแข็ง  เมื่ออินทรีย์มีการบ่มเพาะเต็มที่แล้ว  ก็ไม่ต่างอะไรจากนาที่มีความสมบูรณ์ จะ ปลูกอะไรก็ย่อมได้ผลผลิตเต็มที่ ต่อไปนี้จะได้กล่าวถึงวิธีการเพิ่มประสิทธิภาพให้กับอินทรีย์เพื่อให้มีความกล้าแข็ง
            ท่านสาธุชนทั้งหลาย ในเบื้องต้นโยคีวจรผู้สำรอกกิเลสต้องมีความอดทน อดทนในการฝึกฝนตนเองให้ดีขึ้น อดทนต้านทานจากอารมณ์ภายนอกที่มากระทบ ความอดทนนั้นเป็นบาทฐานสำคัญที่จะพัฒนาอินทรีย์ให้เข้มแข็งได้ ทั้งนี้ต้องไม่มีความรู้สึกว่า “ตนเองเป็นผู้มีบุญน้อย วาสนาน้อย” ทั้งๆ ที่ยังไม่ได้ลงมือปฏิบัติ พุทธองค์ตรัสว่า “ความ อดทนเป็นยอดตบะแห่งธรรมทั้งหลาย” กล่าวได้ว่าผู้ที่จะได้ดีหรือมีความสมหวังได้นั้น ต้องมีความอดทน และมีความ สงบเสงี่ยม สองอย่างนี้เรียกว่า ขันติ กับ โสรัจจะ เป็นธรรมะที่ทำให้ผู้นั้นมีความงาม เมื่อมีธรรมะสองอย่างนี้แล้ว ต่อไปต้องเพิ่มอินทรีย์ให้แก่กล้า  ที่ว่าเพิ่มให้แก่กล้านั้น  หมายถึงว่าทุกคนมีอยู่แล้วเพียงแต่กำลังยังอ่อน เราจำเป็น ต้องเพิ่มพูนให้มาก ดังนี้

            สัทธินทรีย์ คือ ความศรัทธา ในโพธิปักขิยะธรรม หมายถึง ศูนย์รวมแห่งธรรม หรือที่รวมลงแห่งธรรม แต่ก่อน ที่เราจะเข้าไปรับรู้ถึงขนาดนั้นได้ต้องมีความศรัทธา  สาธุชนท่านใดที่มีปกติเข้าวัดเรียนรู้หลักธรรมอยู่แล้ว ไม่ น่าเป็นห่วงเท่าใดนัก แต่สำหรับท่านที่ไม่ค่อยมีเวลาว่างที่จะเข้าวัดจำเป็นต้องฟังให้ดี ซึ่งเปรียบเสมือนเด็กเล็กๆ เกิด มาใหม่ๆ ในสมอง ยังไม่ได้รับการบรรจุข้อมูลอะไรเข้าไป ก็จะรู้สึกหิวกระหายดีใจเสียใจธรรมดา พอโตขึ้นมาหน่อย เริ่มมีความรู้สึกทะเยอทะยาน อยากได้ อยากมี อยากเป็น ผู้ปฏิบัติธรรมก็เช่นเดียวกัน ต้องมีความศรัทธาเป็นพื้น คือเชื่อในสิ่งที่ เกิดขึ้นตามความเป็นจริง ๑. เชื่อแน่ชัดว่าพระพุทธเจ้ามีอยู่จริง คือเกิดเป็นมนุษย์เหมือนอย่างเรานี้จริง มิใช่เป็นเพียงนิยายหรือละครที่เขาแต่งให้เราอ่านเล่นๆ ๒. เชื่อแน่ชัดว่าพุทธเจ้าตรัสรู้จริง หลักธรรมต่างๆ ที่เราได้ยิน ได้ฟังมา เป็นสิ่งที่พุทธเจ้านำมาตรัสสอนแก่พุทธบริษัทจริง ๓. เชื่อว่าพระรัตนตรัยมีอยู่จริง คือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นที่พึ่งสูงสุดของเรา สามารถช่วยให้เราเป็นคนดีได้ สามารถคุ้มครองเราจากภัยไม่ดีทั้งหลายได้ ๔. เชื่อว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ทุกคนที่เกิดมาเป็นมนุษย์ สัตว์ ล้วนอาศัยกรรมเป็นแดนเกิด ทุกคนมีวิบากเป็นของตนเอง ใครทำอย่างไร ก็ย่อมได้รับอย่างนั้น นอกจากจะมีความเชื่อแบบนี้แล้ว ทุกท่านต้องมีความเชื่อเลยว่าการปฏิบัติของตน แบบนี้มีผลจริง เราไม่ได้หลงงมงาย  นักปราชญ์ทั้งหลายทั้งในอดีตและในปัจจุบันพาดำเนินมาแบบนี้  เมื่อเรามีกำลัง แห่งศรัทธาเช่นนี้  ก็ย่อมส่งผลไปถึงอินทรีย์ข้อต่อไป คือ

วิริยินทรีย์ คือ ความเพียร ในสัมมัปปะธาน หมายถึง ธรรมที่เป็นประธาน มีความรู้ มีเงินทอง มีกำลังแข็งแรง ถ้าไม่มีวิริยินทรีย์แล้วก็ไร้ประโยชน์  ก็เหมือนสังคมโลกที่ท่านทั้งหลายประสบอยู่นี่แหละ  มีที่มีนาทำกินแต่ดั้นเจ้าของ ขี้เกียจ หรือศึกษามามากวิเคราะห์ไปก่อนสถานการณ์เป็นจริงว่า เศรษฐกิจระยะนี้ไม่ดีกำลังการแข่งขันน้อย คิดก่อน แบบนี้ก็แย่ การพัฒนาวิริยินทรีย์ให้มีความเข้มแข็งนั้น คือการเพียรพยายามลด ละ เลิก ความประพฤติที่ไม่ดี ไม่ว่าจะ เป็นทางกาย ทางวาจา และทางใจ ถ้าลด ละ เลิก ได้ไม่ขาดทีเดียวก็ต้องพยายามข่ม พยายามควบคุม ไม่ให้มันเกิดขึ้น เต็มที่ ความดีที่เคยบำเพ็ญอยู่แล้ว ก็พยายามเพิ่มให้มากยิ่งๆ ขึ้นไป เช่นว่าบาตรไม่เคยใส่  วัดไม่ค่อยได้เข้า พระไม่ ค่อยไหว้ แม้การเสียสละใดที่สังคมเขากระทำกัน ก็ไม่ค่อยได้ทำ แต่ถ้ามีวิริยะเป็นกำลังแล้วมันจะตรงกันข้ามทันที ศีลธรรมข้อไหนที่รักษาได้ไม่ค่อยได้เต็มที่  ก็พยายามให้ได้เต็มที่  เมื่อก่อนนั่งสมาธิได้วันละเพียงช้างกระดิกหูงูแลบลิ้น ก็เพิ่มเป็น ๑๕-๓๐ นาที หรือถ้ามีเวลาไม่ได้มีธุระอะไรก็นั่งให้ได้เป็นชั่วโมง ทำไมผลจะไม่เกิด อย่าลืมว่าศรัทธานำ หน้านะ มิใช่เอาหน้านำ  ถ้าศรัทธานำแล้วถึงจะปวดเมื่อยก็ยิ้มได้ ภูมิใจกับการปฏิบัติของตน เพียรทุกวันจะไม่ไร้สติ

            สตินทรีย์ คือ ความระลึกได้ ในสติปัฏฐาน หมายถึง หมวดธรรมที่มีสติเป็นที่ตั้ง แล้วอะไรเป็นที่ตั้งของสติ เบื้องต้นท่านทั้งหลายต้องเข้าใจก่อนว่า สติคือการระลึกได้ แต่ไม่ได้ให้ไประลึกอดีตที่ผ่านมาแล้วนะ ถ้าเราระลึกอดีตก็ เท่ากับว่าเราอยู่กับอดีต ซึ่งผิดหลักการ  พุทธองค์สอนให้เราอยู่กับปัจจุบัน โฟกัสเข้ามาอีกก็คือปัจจุบันที่อยู่ในตัวเรา ดังนั้น ที่ตั้งของสติก็คือ ๑. กาย เรียกว่ากายานุปัสสนา คือการตามรู้ว่าขณะนี้เดี๋ยวนี้กายเราทำอะไร เป็นการจำกัด ความรู้ทั้งหมดไว้ที่การเคลื่อนไหวของกายเพียงจุดเดียว ๒. เวทนานุปัสสนา คือการตามระลึกรู้ความรู้สึกที่เกิดขึ้น ทั้ง สุข ทุกข์ และเฉยๆ แม้การระลึกรู้ลมเข้าออกก็จัดเป็นเวทนาอย่างหนึ่ง คือผัสสารมณ์ที่ลมกระทบผิวเกิดความรู้สึกขึ้น ๓. จิตตานุปัสสนา คือการตามรู้ความนึกคิด เพียงความนึกคิดเดียว หรือเหมือนพี่เลี้ยงคือคอยตามรู้เฉยๆ ไม่ช่วยปรุง แต่ง ไม่เสริม ไม่บังคับ สักแต่ว่ารู้ แหละ ๔. ธัมมานุปัสสนา คือการกำหนดรู้สภาวะธรรมที่เกิดขึ้น ไม่ใช่ความคิด แต่ เป็นความรู้สึก เช่น ชอบไม่ชอบ ดีใจ ร่าเริง ที่ผ่านเข้ามาในใจ ซึ่งมีความละเอียดในระดับหนึ่งถ้าเทียบกับข้ออื่นในขั้น ต้นนี้ แยกให้ออกระหว่างเวทนากับธรรม ถ้าเราพิจารณาดูดีๆ แล้วจะพบว่าธรรมทั้งสี่ข้อนี้มีความเชื่อมโยงกัน ส่งผลถึง กัน ที่กล่าวมาถ้าบ้างท่านบอกว่ามันละเอียดเกินไป ยังไม่ถึงขั้นที่ต้องละเอียดขนาดนั้น ขอแบบทั่วๆ ไป แบบทั่วๆ ไป ก็คือต้อง ระลึกถึงคุณงามความดีของตนให้มาก  ระลึกถึงศีล ระลึกถึงทุกข์ในชีวิตที่ผ่านมา หรือในอนาคตที่จะเกิดกับ ตน  เป็นวิธีการฝึกระบบความคิดของตนให้มีขั้นตอน  ไม่คิดสะแปะสะปะ คิดเพียงเรื่องเดียวอย่างลึกซึ้ง

            สมาธินทรีย์ คือ ความตั้งมั่น ในญาณ สืบเนื่องจากสตินทรีย์ เมื่อได้จัดระบบความคิดของตนให้คิดเพียงเรื่อง เดียว เมื่อตั้งอารมณ์ให้อยู่นิ่งๆ นานๆ ก็เกิดความตั้งมั่น  ส่วนมากพวกเรายังไม่ถึงขั้นนี้ ติดอยู่แค่การฝึกสติเฉยๆ รวม ความคิดให้สั้นคิดเรื่องเดียวยังไม่ได้  บางทีพุท-โธปากก็ว่าไป  บริกรรมไม่หยุด แต่สติไม่รู้อยู่ตรงไหน สมาธิท่านเปรียบ เสมือนเสาเข็มที่ตอกลงไป ยิ่งลึกขนาดไหนยิ่งดี ความมั่นคงก็ยิ่งแน่นหนา เรามีเสาเข็มคือสติแต่หาที่จะตอกคือที่ตั้ง ไม่ได้  เหนื่อยนะสำหรับการปฏิบัติธรรม  ครูบาอาจารย์ที่ท่านผ่านเวทีมาแล้วมักพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า การปฏิบัติ ธรรมเป็นงานที่หนักหน่วงมาก หนักกว่างานภายนอกที่ต้องใช้กำลังแรงกาย  อันหลังนี้เหนื่อยพักผ่อนก็หายได้ แต่การ ปฏิบัติธรรมเมื่อใดที่เราขึ้นเวที  เราไม่รู้เลยว่าจะหมดยกตอนไหน คู่ต่อสู้ของเราเป็นใคร เรียกว่าไปตายเอาดาบหน้า ดีที่มีพุทธเจ้า เหล่าพระอริยสาวกสงฆ์ท่านทำให้เป็นตัวอย่าง ดังนั้นการพัฒนาสมาธินทรีย์ของตนให้กล้าหาญนั้น ต้อง พยายามตั้งใจให้ดีเวลาจะทำหน้าที่อะไร อย่าเป็นคนจับจด ทำให้สำเร็จเป็นอย่างๆ ไป มีวิธีสังเกตดูว่าตนเป็นคนจับจด หรือเปล่า  คือให้เริ่มสังเกตจากกิจกรรมแรกที่เราเริ่มทำ พอทำๆ ไป เห็นอันนั้นอันนี้ ใจมันก็จะให้ไปทำทั้งๆ ที่ในมือ ก็ยังทำกิจกรรมแรกอยู่นะ ถ้าเป็นแบบนี้ต้องเปลี่ยนวิธีการใหม่  ทำอะไรให้ทำไปจนเสร็จแล้วจึงคิดทำอย่างอื่นต่อไป วิธีเหล่านี้ คือกลยุทธ์ในการพัฒนาให้ตนมีสมาธิที่แก่กล้าโดยเริ่มจากกิจกรรมเล็กๆ ในชีวิตประจำวันของเรานั่นเอง

            ปัญญินทรีย์ คือ ความเข้าใจ ในอริยะสัจ ตามความหมายที่เราเข้าใจกันก็คือ “ความรอบรู้” รู้ในกองสังขาร อันนี้ตามสภาพความเป็นจริง ภายใต้กฏเกณฑ์ของไตรลักษณ์ คือมีสภาพเกิดขึ้นแล้วไม่แน่นอนไม่นานก็ต้องแตก สลายไป  มีสภาพเกิดขึ้นแล้วไม่ตั้งอยู่นานก็ต้องแปรสภาพเป็นอย่างอื่น และสุดท้ายทุกอย่างไม่มีตัวตน สรุปให้ชัดกว่า นี้ก็คือ วัตถุทุกอย่างบนโลกใบนี้ แม้แต่โลกเองก็ตาม เป็นสักแต่ว่าธาตุ ดิน น้ำ ลม ไฟ เท่านั้น ที่มาประชุมพร้อมกัน ก่อเกิดเป็นวัตถุชิ้นหนึ่งขึ้นมา  ความรู้รอบแบบนี้เป็นปัญญาขั้นละเอียดแล้ว ซึ่งมิใช่การมองโดยผ่านตัวอักษร แต่เป็น การเห็นจากปัญญาคือการฝึกฝนจนเชี่ยวชาญแล้ว ในระดับปุถุชนคนสามัญอย่างเราๆ ท่านๆ ต้องฝึกปัญญาขั้นต้นให้ ได้เสียก่อน ปัญญินทรีย์ในที่นี้ ท่านหมายเอาความเป็นใหญ่ของปัญญาในอริยสัจสี่ ที่มีความเข้าใจหลักความเป็นจริงว่า ทุกอย่างที่เกิดขึ้นมีสภาพทนได้ยาก เมื่อทนได้ยากแล้วมีสาเหตุมาจากไหน จะดับด้วยวิธีใดอย่างไร สุดท้ายก็ดำเนิน การปฏิบัติ กระบวนการคิดแบบนี้ที่ต้องพยายามฝึกฝนให้บ่อยๆ อย่ามองข้ามว่าไม่มีสาระสำคัญ  เรื่องทุกเรื่องจะมี รายละเอียดอยู่ในตัวของมัน  ฝึกคิดจากเรื่องเล็กๆ ในชีวิตประจำวัน ไตร่ตรองให้รอบคอบ จากเป็นคนไม่ค่อยคิดอะไร ก็กลับมาคิด แต่ต้องคิดในเชิงธรรมะนะ ไม่ใช่คิดฟุ้งซ่าน แบบนี้เรียกว่า จินตามยปัญญา คือความรู้เกิดจากการได้คิด วิเคราะห์ บางท่านชอบฟังคนอื่นพูด มีการบรรยายธรรมะ หรือวิชาการที่ไหนก็ตามไปดูไปฟัง หรือตามสื่อต่างๆ ที่มี การนำเสนอข่าวสารอะไรก็ติดตามตลอด จากเป็นคนอยู่ในที่สังคมแคบๆ ก็ได้เปิดโลกทัศน์กว้างขึ้น ได้เรียนรู้จากการ ฟัง เพราะอย่าลืมว่าการฟังดีกว่าการไปเรียนรู้เอาเองนะ  คือมีคนมาป้อนให้เบ็ดเสร็จ ถ้าแบบนี้ท่านเรียกว่า สุตมย ปัญญา คือมีความรู้จากการได้ยินได้ฟังมาและทำให้จำได้นานด้วย เช่นบางท่านตอนเป็นเด็กชอบฟังนิทานของคุณยาย เล่าให้ฟัง  จวบจนอายุปูนนี้แล้วก็ยังจำเนื้อหานิทานที่คุณยายเล่าให้ฟังเมื่อ ๕๐- ๖๐ ปี ได้ไม่ลืม มนุษย์มีวิธีการเรียนรู้ ที่แตกต่างกันอยู่แล้ว จะให้เรียนเหมือนๆ กัน ได้วิชาเท่าๆ กัน คงเป็นไปไม่ได้ ที่กล่าวเช่นนี้ เพราะบางท่านไม่ชอบการ อ่าน  ไม่ชอบการฟังที่เป็นทางการ  แต่ชอบใช้กำลัง คือมีเวทีให้ศึกษาก็ลงมือเลยคนกลุ่มนี้ถ้าได้รู้แล้วรู้เลยแถมยังได้ ผลงานอีกด้วย  ใครว่าทฤษฎีนั่นดีหลักการนี้ใช้ได้  คนกลุ่มนี้ไม่สนใจ ถึงเวลาลงมือปฏิบัติเลย เรียกว่าเรียนรู้จากการ ปฏิบัติ ภาษาฝรั่งว่า Learning by doing. ภาษาพระเรียกว่า ภาวนามยปัญญา คือได้ความรู้จากการลงมือกระทำ ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ไม่ใช่สูตรสำเร็จเลยทีเดียว แต่พอเป็นแนวทางให้ท่านทั้งหลายได้นำไปปรับประยุกต์ใช้ในชีวิต ประจำวันได้  แต่ขอให้จำประโยคนี้ไว้ว่า “มีความรู้มากมายแค่ไหน ถ้าไร้ซึ่งการลงมือปฏิบัติก็ไม่เกิดผล”
            หลังจากที่ได้ทราบความหมายคำว่า “อินทรีย์” แล้วว่าหมายถึงอะไร ลำดับต่อไปจะได้นำเอาเหตุการณ์ใน อดีตมาสาธกยกมากล่าวเพิ่มเสริมความชัดเจนแห่งธรรมะบรรยายนี้ ในอดีตเมื่อพุทธองค์ตรัสรู้ธรรมใหม่ๆ หลังจาก ได้เสวยวิมุตติสุขอันเป็นอำนาจแห่งธรรม ณ บริเวณต้นพระศรีมหาโพธิบัลลังก์แล้ว ได้ทรงพิจารณาดูว่าใครหนอเป็นผู้ มีอินทรีย์แก่กล้าพอที่จะพัฒนาเป็นผู้รู้ตามเราตถาคตได้ ก็ทรงระลึกถึงอาจารย์ผู้มีพระคุณที่เคยพักร่ำเรียนด้วย คือ อาฬารดาบสกับอุทกดาบส แต่แล้วอนิจจาความไม่เที่ยงแท้แน่นอนก็ได้ทำลายท่านทั้งสองไปแล้ว  พระองค์ก็ทรงระลึก ถึงพระปัญจวัคคีย์ ซึ่งเคยดูแลอุปัฏฐากรับใช้ และเคยปฏิบัติร่วมกันมา คงเป็นผู้สามารถพัฒนาตนได้แน่นอน พระองค์ ทรงอาศัยความเมตตาที่ทั้งห้าท่านนั้นมีบุญคุณ จึงกำหนดว่าขณะนี้ทั้งห้าอยู่ที่ไหน  ด้วยความที่ทั้งห้ามีอินทรีย์ที่ได้เคย ฝึกฝนมาก่อนแล้ว เพียงได้ฟังธรรมที่ลึกซึ้งซึ่งพวกตนไม่เคยได้ฟังที่ไหนมาก่อนในลักษณะเช่นนี้ ก็ส่งผลให้โกณฑัญญะ ผู้เป็นหัวหน้าใหญ่ในกลุ่มให้ดวงตาเห็นธรรมก่อนใครเพื่อน ยังความปราบปลื้มแก่ตถาคตเป็นอย่างมาก ถึงขนาดอุทาน ออกมาว่า “อัญญาสิ วต โภ โกณฑัญโญ” สองครั้ง  ซึ่งแปลว่าโกณฑัญญะได้รู้แล้วหนอๆ จากเหตุการณ์ในอดีตนี้ได้ชี้ ให้เห็นว่า ผู้ใดที่มีความพร้อมแล้วก็ย่อมมีโอกาสที่จะได้รับการพัฒนาให้ก้าวสู่ขั้นที่สูงขึ้น จากปุถุชนก็เข้าสู่ความเป็น อริยชน และเมื่อได้รับการพัฒนาแล้วสามารถแนะนำผู้อื่นให้ปฏิบัติและรู้ตามได้ต่อไป ดังความปรากฎในพระสุตตันตะ ปิฎก เล่ม 4 มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ มหายมกวรรค จูฬโคบาลสูตรตอนหนึ่งว่า นายโคบาลชาวแคว้นมคธ ต้องการจะพาฝูงโคอันประกอบไปด้วย เหล่าโคที่เป็นพ่อฝูง เหล่าโคที่มีกำลัง เหล่าโคหนุ่มสาว และลูกโคที่ยังมี กำลังน้อยข้ามแม่น้ำคงคาในฤดูสารทสมัย นายโคบาลผู้ฉลาดมีปัญญาย่อมพิจารณาฝั่งข้างนี้ว่า บริเวณใดควรข้าม ไปยังฝั่งโน้นอันเป็นฝั่งเหนือแห่งหมู่ชนชาววิเทหรัฐ ย่อมให้เหล่าโคพ่อฝูงว่ายตัดข้ามแม่น้ำคงคาไปก่อน เหล่าโคพ่อฝูง นั้นย่อมส่งเสียงนำทางไปพร้อม ตนก็มีกำลังข้ามไปได้โดยสวัสดี จากนั้นเหล่าโคที่มีกำลังข้ามติดตามไป ฟังเสียง โคพ่อฝูงแล้วตามถึงฝั่งโน้นได้โดยสวัสดี เหล่าโคหนุ่มโคสาวย่อมข้ามตามโคที่มีกำลัง ด้วยการฟังเสียงโคที่มีกำลังนั้น นำทางไป ก็ข้ามถึงฝั่งโดยสวัสดี จากนั้นลูกโคที่มีกำลังน้อยจึงค่อยว่ายตัดกระแสน้ำข้ามฝั่งไป คอยฟังเสียงของโคพ่อฝูง โคที่มีกำลังและโคหนุ่มโคสาวทั้งหลายไปที่สุดโคทุกตัวก็ข้ามถึงฝั่งตรงข้ามได้ทุกตัว ส่วนนายโคบาลผู้ปราศจากปัญญา ไม่พิจารณาแล้วพาโคที่มีกำลังน้อยข้ามไปก่อน ก็ไม่สามารถข้ามถึงฝั่งได้ เหล่าโคพากันจมน้ำตายหมดฉันใดก็ฉันนั้น ศาสดา ผู้ฉลาดประสงค์จะนำพาสรรพสัตว์ไปสู่พระนิพพาน เป็นผู้ฉลาดในโลกนี้โลกหน้า ฉลาดในทางดำเนินของมาร ฉลาดในโลกุตรธรรมอันมิใช่วิสัยของมาร ฉลาดในธรรมคือ การเกิด แก่ เจ็บตาย ของสรรพสัตว์ ชนเหล่าใด ที่นับถือในถ้อยคำของศาสดาผู้เป็นสมณะหรือพราหมณ์นั้นว่า เป็นถ้อยคำอันตนควรฟัง ควรเชื่อ ความนับถือ ของชนเหล่านั้น จักเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุข ตลอดกาลนานฉันใด  ภิกษุผู้มีอินทรีย์แก่กล้า คือมีศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา อันอบรมมาดีแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบในอินทรีย์อันแก่กล้าและที่อ่อนด้อย ของสัตว์ทั้งหลายอย่างชัดแจ้ง ย่อมทรงสั่งสอนชนเหล่านั้นให้ได้อะระหัตตะผลก่อน ภิกษุผู้เป็นพระอรหันต์เหล่านั้น ย่อมแนะนำภิกษุอื่นให้รู้ตามได้ จากนั้นพระบรมศาสดาย่อมทรงสั่งสอนผู้มีอินทรีย์แก่กล้า พอที่จะบรรลุอนาคามิผล สกทาคามิผล  โสดาปัตติผล ตามลำดับฉันนั้น

            ดังนั้น สรุปความว่า อินทรีย์ หมายถึง ความเป็นใหญ่ที่สามารถพัฒนาจิตให้มีประสิทธิภาพในงานที่ปฏิบัติอยู่ มี ๕ อย่าง คือ ๑. สัทธินทรีย์  ๒. วิริยินทรีย์  ๓. สตินทรีย์  ๔. สมาธินทรีย์ ๕. ปัญญินทรีย์ โดยมุ่งประโยชน์สูงสุด คือการก้าวสู่ความเป็นอริยชน เฉกเช่นเดียวกับดอกโกมุทอันบานสะพรั่งยามพระอาทิตย์ทอแสง ต่างก็เป็นที่หมายปอง ของหมู่แมลงผึ้งที่ต้องการกลิ่นเกษร และผู้คนนำไปบูชาสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของตน  แต่ทุกคนหารู้ไม่ว่าดอกโกมุทอัน งดงามนี้เกิดจากโคลนตมอันต่ำสุด ฉะนั้น แล้วสาธุชนทั้งหลายเมื่อเรามีโอกาสเกิดมาเป็นมนุษย์อันสุดแสนยากนี้แล้ว จงภูมิใจเถิดว่า เราก็คนหนึ่งที่สามารถพัฒนาตนให้มีจิตใจที่สูงได้ ดังคำประพันธ์ว่า :-

                        เกิดเป็นคน ควรหวัง อย่ายั้งหยุด          ไม่สิ้นสุด ความหวัง ดั่งตั้งหมาย
                  หวังไว้เถิด หวังยั่งยืน ไม่คลืนคลาย        ปราชญ์ทั้งหลาย สมหวัง เพราะตั้งใจ.

         ในท้ายที่สุดแห่งการบรรยายธรรมนี้ ขออำนาจคุณพระศรีรัตนะตรัยและคุณงามความดีทั้งหลาย ที่สาธุชน ทั้งหลายบำเพ็ญไว้ดีแล้วในท่ามกลางสงฆ์นี้ จงมารวมกันเป็นมหันตะเดชานุภาพ สนับสนุนส่งเสริม ให้ศรัทธาญาติโยม ทั้งหลาย จงเจริญด้วยอายุ วรรณะ สุขะ พละ ปฏิภาณ ธนสารสมบัติ  ธรรมะสารสมบัติ คิดปรารถนาสิ่งใดที่ชอบ ประกอบไปด้วยธรรม ขอให้ความปรารถนาท่านเหล่านั้น จงพลันสำเร็จ จงพลันสำเร็จ จงพลันสำเร็จ ทุกประการเทอญ.

ขอเจริญพร.




[1] พระมหาเฉลิมเกียรติ  จิรวฑฺฒโน บรรยายเมื่อ วันที่ ๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๕ ณ วัดป่าโยธาประสิทธิ์ จ.สุรินทร์