วันจันทร์ที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2555

ชีวะประวัติและผลงาน : พระพิศาลศาสนกิจ (หลวงพ่อเยื้อน ขนฺติพโล)


อัตตะชีวะประวัติ
พระพิศาลศาสนกิจ (พระอาจารย์เยื้อน  ขนฺติพโล)

ชาติภูมิ
                    นาม    :   พระพิศาลศาสนกิจ (พระอาจารย์เยื้อน   ขนฺติพโล/หฤทัยถาวร)
                 เกิดเมื่อ    :   วันที่ 12  เดือนเมษายน  พุทธศักราช 2495
            สถานที่เกิด    :   บ้านระไซร์    หมู่ที่  7   ตำบลนาดี   อำเภอเมือง  จังหวัดสุรินทร์
              การศึกษา    :   ประถมศึกษาปีที่  4
          อุปสมบทเมื่อ    :   พุทธศักราช 2515  เมื่ออายุ  20  ปี  ปัจจุบันพรรษา  37   
          พระอุปัชฌาย์    พระรัตนากรวิสุทธิ์    (หลวงปู่ดูลย์  อตุโล  อดีต จจ.สร.ธ)
  พระกรรมวาจาจารย์    :  พระครูนันทปัญญาภรณ์ (พระราชวรคุณ ที่ปรึกษา จจ.สร.ธ)
   พระอนุสาวนาจารย์   พระครูวิมลสีลพรต 

การปฏิบัติธรรมระหว่างการบวช
          เมื่อได้อุปสมบทเป็นที่เรียบร้อยแล้ว  ท่านเป็นพระใหม่ที่มีความสนใจการปฏิบัติธรรมมาก สำนักวัดบูรพารามเมื่อก่อนหลวงปู่ดูลย์แต่งตั้งให้แม่ชีท่านหนึ่งเป็นผู้สอน กัมมัฏฐาน ซึ่งเป็นผู้มีญาณสามารถล่วงรู้วิถีแห่งจิตของผู้มาฝึกได้  แม่ชีได้ทักว่าการตั้งจิตในขณะนี้ไม่ถูกต้องให้ตั้งใหม่  ท่านพระอาจารย์เยื้อนก็ได้ตั้งจิตใหม่ในแบบวิธีของท่านที่มีความถนัด  ผลปรากฏว่าจิตมีความเจริญก้าวหน้าเป็นที่น่าพอใจกว่าเพื่อนพระนวกะด้วยกัน  เมื่อ ออกพรรษาแล้วหลวงปู่ท่านได้พิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นผู้ที่มีอุปนิสัยทางธรรม ถ้าได้เรียนรู้เพิ่มเติมจากผู้รู้ก็สามารถปฏิบัติธรรมไปได้  ในยุคนั้นหลวงตา มหาบัว  ญาณสมฺปนฺโน (พระธรรมวิสุทธิมงคล อดีตเจ้าอาวาสวัดป่าบ้านตาด) เป็นพระมหาเถระที่ใครๆ   ก็รู้ถึงกิตติศัพท์ด้านคุณธรรมชั้นสูงและด้านข้อวัตรปฏิบัติตามแบบฉบับที่ ปรมาจารย์ด้านกัมมัฏฐานอย่างหลวงปู่มั่นได้ทิ้งไว้ให้  หลวงปู่ดูลย์ได้ทำหนังสือขอฝากตัวท่านให้ไปอยู่ปฏิบัติธรรมกับหลวงตามหาบัว ที่วัดป่าบ้านตาด จังหวัดอุดรธานี ซึ่งเป็นสำนักปฏิบัติที่มีความเคร่งครัดในพระธรรมวินัยและข้อวัตรปฏิบัติที่ หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต นำพาปฏิบัติมา ซึ่งหลวงปู่ดูลย์พูดกับท่านว่า ไม่ได้ให้ไปเอาธรรมะน่ะเพราะอาจารย์มหารู้อย่างไรท่านก็รู้อย่างนั้นเหมือนกัน แต่ให้ไปเอาข้อวัตรปฏิบัติที่หลวงปู่มั่นได้ทิ้งไว้ให้ โดยหลวงปู่มอบหมายให้พระครูนันทปัญญาภรณ์ (ปัจจุบันเป็นพระราชวรคุณ เจ้าคณะจังหวัดสุรินทร์ฝ่ายธรรมยุต)  นำไปมอบส่งที่วัดป่าบ้านตาด และท่านพระอาจารย์อยู่ปฏิบัติธรรมที่วัดป่าบ้านตาดจนถึง ปี พ.ศ. 2519


เหตุการณ์ไม่สงบตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา
          ผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ (ผกค.) ในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์มีจำนวนมาก  เนื่องจากในระหว่างนั้นประเทศราชอาณาจักรกัมพูชากำลังมีสงครามภายในประเทศ ที่เขมรแดงยึดครอง  ประชาชนชาวกัมพูชาต่างอพยพเข้ามาในเขตแดนไทยเพื่อขอพักพิง   โดยเฉพาะภาคอีสานเกือบทั้งหมดได้รวมเป็นสหพันธมิตรรัฐอินโดจีน   ได้ยึดพื้นที่ทางภาคอีสานทั้ง 16 จังหวัดเป็นจุดยุทธศาสตร์  ทางชายแดนไทย-กัมพูชาจังหวัดสุรินทร์    เขมรแดงและคอมมิวนิสต์ได้บุกรุกเผาบ้านเรือนราษฎรไทยตามแนวชายแดน   และถูกโจมตีด้วยยุทโธปกรณ์อย่างหนัก    ชาวบ้านในหมู่บ้านตามแนวชายแดนต่างทิ้งบ้านเรือน    เมื่อเหตุการณ์ทวีความรุนแรงขึ้น  จากปัญหาความไม่สงบตามแนวชายแดนจำเป็นที่ทางกองทัพเข้ามาดูแล    ป้องกันประเทศ ซึ่งกองทัพมีแนวคิดที่จะใช้ยุทธศาสตร์การศาสนานำการเมือง    โดยได้ขอกำลังพระภิกษุสงฆ์จากวัดบวรนิเวศวิหาร พ.ศ. 2518



ยุทธศาสตร์ศาสนธรรมนำการทหาร
          พัน เอกพิเศษธนาธาร  สุทธิธรรม รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ฝ่าย กอ.รมน.  มีแนวคิดว่า พระสงฆ์เป็นบุคลกรที่สำคัญในการต่อสู้กับคอมมิวนิสต์   และเสริมสร้างความสงบให้เกิดขึ้นตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา   ด้านจังหวัดสุรินทร์    จึงเข้าเฝ้ากราบนมัสการขอพระสงฆ์จากสมเด็จพระญาณสังวรสมเด็จพระสังฆราชสังฆ ปรินายก   เพื่อเป็นการให้กำลังใจแก่เหล่าทหารที่กำลังปฏิบัติหน้าที่ในสนามรบ   เนื่องจากพระสงฆ์ที่มีคุณสมบัติดังกล่าวหาได้ยากยิ่งพระองค์ท่านจึงมีพระรับ สั่งให้ไปกราบนมัสการหลวงปู่ดูลย์  อตุโล แห่งวัดบูรพาราม  จังหวัดสุรินทร์   เมื่อพันเอกพิเศษ ธนาธาร   เข้ากราบนมัสการหลวงปู่ดูลย์รายงานถึงที่บ้านเมืองกำลังเกิดวิกฤติราษฎรตาม แนวชายแดนได้รับความเดือดร้อน และมีความเสี่ยงเป็นเสี่ยงตาย  หลวงปู่นึกได้ว่าเคยส่งพระไปอบรมข้อวัตรที่          วัดป่าบ้านตาด  จังหวัดอุดรธานี   ท่านจึงให้ พันเอกพิเศษธนาธารกับหลวงตายุทธไปรับพระอาจารย์เยี้อน  ขนฺติพโล โดยกำชับว่าหลวงปู่ดูลย์ต้องการพบด่วน  ท่านพระอาจารย์เยื้อนได้เข้าไปกราบลาท่านหลวงตามหาบัวและเรียนให้ท่านทราบ ถึงกิจธุระที่ต้องกลับสุรินทร์ในครั้งนี้
          เมื่อ มาถึงสุรินทร์หลวงปู่ดูลย์กล่าวว่าการอบรมข้อวัตรปฏิบัติคงเพียงพอแล้ว ให้กลับมาช่วยงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาในจังหวัดสุรินทร์  มีทหารจากกองทัพภาคที่ 2 ให้การสนับสนุนในการสร้างวัด และอยู่พรรษาที่เนิน 424 ช่องพริก (อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้วัดเขาศาลา) ท่านได้เรียนหลวงปู่ว่าผมปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานมาน้อย  และมีพรรษายังไม่มาก  ไม่เพียงพอที่จะรับภารกิจนี้ได้ แต่องค์หลวงปู่ท่านยังยืนกรานให้กลับมาช่วยงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาที่จังหวัด สุรินทร์ และหลวงปู่ได้ทำหนังสือถึงหลวงตามหาบัวให้ส่งพระอาจารย์เยื้อนกลับมาปฏิบัติ ศาสนกิจที่สุรินทร์

สร้างวัดที่เนิน  424  ช่องพริก
          ใน ปี พ.ศ. 2519  ได้สร้างวัดที่เนิน 424  ซึ่งอยู่ใกล้เขตชายแดนไทย-กัมพูชา มีระยะทางจากเขตชายแดนประมาณ 1 กิโลเมตร  ถือเป็นจุดที่มีความเสี่ยงภัยมาก ท่านพระอาจารย์กล่าวว่าเมื่อนึกถึงชาติ  ศาสนา  พระมหากษัตริย์ ที่ไรทำให้ไม่ย่อท้อ  การอยู่ตรงนี้เป็นการมาอยู่เพื่อเป็นกำลังใจให้กับชาวบ้านตามแนวชายแดน  ปฏิบัติหน้าที่ได้ 5-6 เดือน ก็เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบขึ้น  ด้วยความเข้าใจผิดของพวกคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยที่เข้าใจว่า ท่านเป็นพระที่ทหารนิมนต์เข้ามาอยู่  และเป็นสายสืบพิเศษที่ทหารส่งมาหาข่าว  ทำให้ยิ่งมีภัยทั้งภายใน-นอกประเทศที่รุ่นแรงขึ้น  มีการเผาวัด  ใช้จรวดอาร์พีจียิงใส่พระพุทธรูปจนเสียหาย  พระอาจารย์เยื้อนต้องหนีภัยสู้รบจนเทียบไม่มีที่จะอยู่ (ท่านเคยเล่าว่าโดนจับไปปล่อยที่แม่น้ำโขงแล้วให้ว่ายข้ามไปฝั่งประเทศลาว ถ้าว่ายกลับจะยิงทิ้ง หลังจากที่รอดชีวิตกลับมาได้ติดต่อให้พระอาจารย์เคล็ม  ปิยธมฺโม ไปรับ)  และได้มาจำพรรษาที่วัดบูรพาราม  จังหวัดสุรินทร์อีกครั้ง

สร้างวัดป่ากัมมัฏฐานแห่งแรกในอำเภอสนม
          ปี พ.ศ. 2520  พันโทอุดม  ฝ่าย กอ. รมน.  มากราบนมัสการหลวงปู่ดูลย์เพื่อขอพระสงฆ์ไปอยู่ที่อำเภอสนม  หลวงปู่ก็ได้ส่งท่านพระอาจารย์เยื้อนไป  โดยได้ไปพักอาศัยอยู่ในป่าช้าเพื่อปฏิบัติธรรม ในช่วงระหว่างที่ท่านอยู่ปฏิบัติธรรมที่ป่าช้าอยู่นั้น มีเหตุการณ์ไม่คาดคิดเกิดขึ้น  คือมีกลุ่มชาวบ้านเดินขบวนขับไล่ออกจากพื้นที่  โดยมีการปลุกระดมว่าท่านเป็นพระคอมมิวนิสต์  เพื่อสร้างความเข้าใจผิดให้เกิดขึ้นในหมู่ชาวบ้าน  บางคนด่าว่าด้วยถ้อยคำที่หยาบโลน  มีการทำร้ายร่างกายด้วยวิธีขว้างปาอิฐใส่ศีรษะ ถือเป็นขบวนการที่รุนแรงจนผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ต้องเดินทางเข้าไปดู ในที่เกิดเหตุ  และได้นิมนต์ให้ท่านอยู่ต่อไป   ในช่วงที่มีการเดินขบวนขับไล่นั้นพันโทอุดมได้เข้าไปร่วมกับกลุ่มชาวบ้านที่ ต่อต้านด้วยจึงได้รู้ว่าใครเป็นแกนนำในการปลุกระดม ซึ่งในที่สุดทางการก็สามารถจับได้ภายใน 5 เดือน
          จาก เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นท่านพระอาจารย์ได้เล่าถวายหลวงปู่ดูลย์ และหลวงตามหาบัวตลอด  และท่านหลวงตาได้พูดว่าคนดีจะอยู่ไม่ได้หรือที่อำเภอสนม  และท่านก็เข้าใจเจตนาของท่านหลวงตาทันที  ต่อมาก็มีโยมตระกูลบุญญลักษม์ได้ซื้อที่ถวายสร้างวัดแห่งใหม่ซึ่งก็อยู่ ใกล้ๆ กับป่าช้านั้นแหล่ะ  ท่านได้สร้างเสนาสนะ  ศาลาประยุกต์เป็นโบสถ์พร้อม และได้พัฒนาขึ้นเรื่อยๆ  มีการขึ้นทะเบียนเป็นวัดอย่างถูกต้องว่า วัดบ้านโดน  ชาวบ้านก็มีความเข้าใจและศรัทธาในตัวท่านเป็นอย่างมาก   ท่านพระอาจารย์เยื้อนอยู่ที่วัดแห่งนี้จนถึง  ปี พ.ศ. 2531 จึงได้ย้ายไปประจำอยู่ที่วัดเขาศาลาอตุลฐานะจาโร ตำบลจรัส อำเภอบัวเชด จังหวัดสุรินทร์    ปัจจุบันพระครูสุทธิปัญญาภรณ์  เป็นเจ้าอาวาส   และได้เปลี่ยนชื่อวัดจากวัดบ้านโดน  เป็นวัดป่าอตุโลบุญญลักษม์


เริ่มสร้างวัดเขาศาลาอตุลฐานะจาโร
          ใน ปี พ.ศ. 2532  พระอาจารย์เยื้อน ได้เข้าพบพันเอกอนันต์  นอบไทย  รองผู้บัญชาการกองกำลังสุรนารี  จังหวัดสุรินทร์  ได้ปรึกษาหารือเกี่ยวกับพื้นที่เขาศาลา  ตำบลจรัส  อำเภอบัวเชด  ทางคณะสงฆ์จะขอเป็นสถานที่ปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน  ผลจากการเข้าหารือทางกองทัพไม่ขัดข้องพร้อมให้การสนับสนุนสร้างเป็นวัดที่ ถูกต้องตามกฎหมาย และได้ประสานกับพลเอกเชษฐา  ฐานะจาโร  ผู้บัญชาการกองกำลังสุรนารีเกี่ยวกับเรื่องนี้  และท่านก็เห็นด้วย พร้อมกับมีคำสั่งให้ทหารช่าง ช พัน 6 ทำถนนขึ้นเขาศาลา และได้ดำเนินการขอสร้างวัดในเนื้อที่ 15 ไร่ จากกรมป่าไม้  พันเอกสนั่น  มะเริงสิทธิ์  ได้จัดทำโครงการส่งเสริมพระพุทธศาสนา  อนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้และสิ่งแวดล้อมด้วยรอบบนเขาศาลา  โดยทำหนังสือถึงกรมป่าไม้เพื่อขอใช้พื้นที่บริเวณเขาศาลาจัดตั้งเป็นพุทธ อุทยาน  เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษาสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ จำนวน 10,865 ไร่   และได้ประสานกรมศาสนาเพื่อขออนุมัติจัดตั้งพุทธอุทยานอย่างถาวรเพื่อเป็น ตัวอย่างในการอนุรักษ์ป่าและสิ่งแวดล้อม  โดยการสนับสนุนจากกองทัพภาคที่ 2   และกองกำลังสุรนารี  จังหวัดสุรินทร์  การมา อยู่ที่เขาศาลาของท่านพระอาจารย์เยื้อนซึ่งถือว่าเป็นผู้บุกเบิกร่วมกับกอง กำลังสุรนารี   ได้ดำเนินการเกี่ยวกับการอนุรักษ์มาตลอด  สิ่งหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าท่านเป็นนักอนุรักษ์จริง ๆ  คือ เวลาจะพัฒนาวัดทำความสะอาด ท่านจะห้ามพระเณรเสมอว่าถ้าไม่จำเป็นห้ามตัดต้นไม้เด็ดขาด แม้ต้นไม้ที่ตายท่านก็ไม่นำมาทำเป็นฟืน  เสนาสนะท่านก็ไม่ใช้ไม้ท่านให้เหตุผลว่าถ้าใช้ไม้ก็เท่ากับเราเบียดเบียน ธรรมชาติถึงปูนซีเมนต์จะแพงหน่อยก็ไม่เป็นไร
          จากการมีบทบาทด้านการอนุรักษ์ที่ทุมเท่ออกมาจากจิตวิญญาณของท่าน ทำให้ชาวบ้านที่มีอาชีพตัดไม้ไปขายได้รับความเดือดร้อน สอนหนึ่งมาจากเจ้าหน้าที่ในท้องถิ่นที่ว่าจ้าง ออกมาเดินขบวนต่อต้านขับไล่ท่านออกจากวัดเขาศาลา  ในช่วง ประมาณปี พ.ศ. 2538  เป็นช่วงที่มีปัญหาเกิดขึ้นหลายอย่าง   ชาวบ้านไม่เห็นด้วย   แต่สุดท้ายก็จบลงด้วยดี ซึ่งท่านพระอาจารย์ให้เหตุผลว่าธรรมะไปที่ไหนที่ตรงนั้นต้องเย็น


พระนักพัฒนาเขตชายแดนไทย-กัมพูชา
          พระอาจารย์เยื้อน หรือในปัจจุบันท่านได้เลื่อนสมณะศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ พระพิศาลศาสนกิจ  นอกจากจะเป็นพระนักอนุรักษ์ป่าไม้ที่ใคร ๆ  ต่างก็ทึ่งในความสามารถที่ท่านทำได้สำเร็จ สามารถดูแลป่าในเนื้อที่หมื่นกว่าไร่ได้อย่างสมบูรณ์แล้ว  ท่านยังเป็นพระนักพัฒนารูปหนึ่งในจังหวัดที่ควรศึกษาในด้านการพัฒนาคน คือพระเณรนั้น ท่านได้ดำเนินการจัดโครงการบรรพชาอุปสมบทเฉลิมพระเกียรติขึ้นทุกปี เริ่มตั้งแต่ปี 2535 - ปัจจุบัน  แม้ผู้วิจัยเองก็กำเนิดมาจากโครงการนี้เช่นกัน  ท่านมีมุมมองว่า การพัฒนาคนที่ยั่งยืนที่สุดคือการให้การศึกษาแก่เด็ก เยาวชน  ถ้าสามารถเรียนสำเร็จโอกาสทางสังคมมีมากขึ้น  อาชีพ  รายได้ ก็เพิ่มขึ้น  พระเณรในสำนักของท่านได้ส่งไปเรียนยังสำนักเรียนต่างๆ ในภาคกลาง มีทั้งระดับมัธยม  อุดมศึกษา และที่ไปเรียนต่อที่ต่างประเทศก็มี ทั้งในระดับปริญญาตรี  โท  เอก  มีเกือบ 50 รูป ทั้งหมด และทุกรูปล้วนมาจากโครงการนี้ที่เป็นลูกชาวบ้านที่ไม่มีทุนทรัพย์จะเรียนต่อ และท่านยังมองไปข้างหน้าอีกว่าถ้าลูกศิษย์จบออกมาอยู่เฉย ๆ ไม่ได้เราต้องหาที่รองรับไว้ให้ นั่น คือการสร้างสถาบันการศึกษาทางคณะสงฆ์ขึ้นในชุมชน (ปัจจุบันโครงการนี้เริ่มมีความชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ) การให้ทุนการศึกษาแก่นักเรียนภายนอกตามโรงเรียนต่าง ๆ  การช่วยเหลือด้วยอุปกรณ์ทางการศึกษาท่านก็ได้ทำมาเป็นประจำทุกปี  การเสริมรายให้ชาวบ้านในชุมชนได้ทำ เช่น การทำเฟอร์นิเจอร์ จนได้ตั้งเป็นสินค้า OTOP ประจำตำบล  การสร้างโรงสีเกษตรอินทรีย์ชุมชนบัวเชดขึ้นในวัด

         
ผลงานช่วยกองทัพไทย
          -    การมอบตัวของชาวเขมรเนื่องจากพระอาจารย์เยื้อนสามารถพูดภาษาเขมรได้ ถือเป็นการได้เปรียบที่สื่อสารกับชาวเขมรในบริเวณนั้น ทำให้เกิดความเข้าใจกันง่ายขึ้น  คือ
          -    เขมรที่บุกรุกเข้ามาในเขตแดนยอมมอบตัวครั้งแรก จำนวน 5  คน
          -    เขมรที่บุกรุกเข้ามาในเขตแดนยอมมอบตัวครั้งที่ 2 จำนวน 10  คน
          -    เขมรที่บุกรุกเข้ามาในเขตแดนยอมมอบตัวครั้งที่ 3 จำนวน 3 ครอบครัว
          -    ผลจากการสู้รบทำให้ไม่มีการสูญเสียกำลังพลของทหารฝ่ายไทย
          -    ให้กำลังใจแก่เหล่าทหารที่ปฏิบัติหน้าที่ในสนามรบ  มีความเข้มแข็ง ร่วมรักษาอธิปไตยของชาติไว้
          -    ประสานกับชาวบ้านในหมู่บ้านต่าง ๆ ให้เกิดความเข้าใจอันดีกับทหาร และให้ความร่วมมือในการป้องกันประเทศ

รางวัลเกียรติคุณ
           พ.ศ. 2539    ได้รับแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์
           พ.ศ. 2543    ได้รับการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมเลื่อนสมณะศักดิ์  เป็นพระครูสัญญาบัตรที่ดำรงตำแหน่งพระสังฆาธิการ   ผู้บริหารการคณะสงฆ์จากเจ้าคณะตำบลชั้นโท  เป็นเจ้าคณะตำบลชั้นเอก
           พ.ศ. 2547    มหาวิทยาลัยราชภัฎสุรินทร์   ถวายปริญญาวิทยาศาสตร์บัณฑิตกิตติมศักดิ์   โปรแกรมวิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม
           พ.ศ. 2549    ได้รับการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมเลื่อนสมณะศักดิ์ เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ พระพิศาลศาสนกิจ
           พ.ศ. 2549    ได้รับพระราชทานเสาเสมาธรรมจักร ด้านรักษาสิ่งแวดล้อม  จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี
           พ.ศ. 2549    ได้รับประธานพระบรมสารีริกธาตุ จากสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก
           พ.ศ. 2550    ได้รับพระราชทานเสมาธรรมจักร ผู้ทำคุณประโยชน์ด้านการเผยแผ่พระพุทธศาสนา  จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี
           พ.ศ. 2555    ได้รับแต่งตั้งเป็นรักษาการเจ้าคณะจังหวัดสุรินทร์ธรรมยุต เพราะเจ้าคณะจังหวัดรูปก่อนเกษียณอายุ 80 ปี และได้รับพระบัญชาแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะจังหวัดสุรินทร์ ธรรมยุต
           พ.ศ. 2555    ได้รับถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ในหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต  สาขาวิชายุทธศาสตร์การพัฒนาภูมิภาค กลุ่มเกษตรและสิ่งแวดล้อม (ด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้)