วันจันทร์ที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2555

ชีวะประวัติและผลงาน : พระพิศาลศาสนกิจ (หลวงพ่อเยื้อน ขนฺติพโล)


อัตตะชีวะประวัติ
พระพิศาลศาสนกิจ (พระอาจารย์เยื้อน  ขนฺติพโล)

ชาติภูมิ
                    นาม    :   พระพิศาลศาสนกิจ (พระอาจารย์เยื้อน   ขนฺติพโล/หฤทัยถาวร)
                 เกิดเมื่อ    :   วันที่ 12  เดือนเมษายน  พุทธศักราช 2495
            สถานที่เกิด    :   บ้านระไซร์    หมู่ที่  7   ตำบลนาดี   อำเภอเมือง  จังหวัดสุรินทร์
              การศึกษา    :   ประถมศึกษาปีที่  4
          อุปสมบทเมื่อ    :   พุทธศักราช 2515  เมื่ออายุ  20  ปี  ปัจจุบันพรรษา  37   
          พระอุปัชฌาย์    พระรัตนากรวิสุทธิ์    (หลวงปู่ดูลย์  อตุโล  อดีต จจ.สร.ธ)
  พระกรรมวาจาจารย์    :  พระครูนันทปัญญาภรณ์ (พระราชวรคุณ ที่ปรึกษา จจ.สร.ธ)
   พระอนุสาวนาจารย์   พระครูวิมลสีลพรต 

การปฏิบัติธรรมระหว่างการบวช
          เมื่อได้อุปสมบทเป็นที่เรียบร้อยแล้ว  ท่านเป็นพระใหม่ที่มีความสนใจการปฏิบัติธรรมมาก สำนักวัดบูรพารามเมื่อก่อนหลวงปู่ดูลย์แต่งตั้งให้แม่ชีท่านหนึ่งเป็นผู้สอน กัมมัฏฐาน ซึ่งเป็นผู้มีญาณสามารถล่วงรู้วิถีแห่งจิตของผู้มาฝึกได้  แม่ชีได้ทักว่าการตั้งจิตในขณะนี้ไม่ถูกต้องให้ตั้งใหม่  ท่านพระอาจารย์เยื้อนก็ได้ตั้งจิตใหม่ในแบบวิธีของท่านที่มีความถนัด  ผลปรากฏว่าจิตมีความเจริญก้าวหน้าเป็นที่น่าพอใจกว่าเพื่อนพระนวกะด้วยกัน  เมื่อ ออกพรรษาแล้วหลวงปู่ท่านได้พิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นผู้ที่มีอุปนิสัยทางธรรม ถ้าได้เรียนรู้เพิ่มเติมจากผู้รู้ก็สามารถปฏิบัติธรรมไปได้  ในยุคนั้นหลวงตา มหาบัว  ญาณสมฺปนฺโน (พระธรรมวิสุทธิมงคล อดีตเจ้าอาวาสวัดป่าบ้านตาด) เป็นพระมหาเถระที่ใครๆ   ก็รู้ถึงกิตติศัพท์ด้านคุณธรรมชั้นสูงและด้านข้อวัตรปฏิบัติตามแบบฉบับที่ ปรมาจารย์ด้านกัมมัฏฐานอย่างหลวงปู่มั่นได้ทิ้งไว้ให้  หลวงปู่ดูลย์ได้ทำหนังสือขอฝากตัวท่านให้ไปอยู่ปฏิบัติธรรมกับหลวงตามหาบัว ที่วัดป่าบ้านตาด จังหวัดอุดรธานี ซึ่งเป็นสำนักปฏิบัติที่มีความเคร่งครัดในพระธรรมวินัยและข้อวัตรปฏิบัติที่ หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต นำพาปฏิบัติมา ซึ่งหลวงปู่ดูลย์พูดกับท่านว่า ไม่ได้ให้ไปเอาธรรมะน่ะเพราะอาจารย์มหารู้อย่างไรท่านก็รู้อย่างนั้นเหมือนกัน แต่ให้ไปเอาข้อวัตรปฏิบัติที่หลวงปู่มั่นได้ทิ้งไว้ให้ โดยหลวงปู่มอบหมายให้พระครูนันทปัญญาภรณ์ (ปัจจุบันเป็นพระราชวรคุณ เจ้าคณะจังหวัดสุรินทร์ฝ่ายธรรมยุต)  นำไปมอบส่งที่วัดป่าบ้านตาด และท่านพระอาจารย์อยู่ปฏิบัติธรรมที่วัดป่าบ้านตาดจนถึง ปี พ.ศ. 2519


เหตุการณ์ไม่สงบตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา
          ผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ (ผกค.) ในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์มีจำนวนมาก  เนื่องจากในระหว่างนั้นประเทศราชอาณาจักรกัมพูชากำลังมีสงครามภายในประเทศ ที่เขมรแดงยึดครอง  ประชาชนชาวกัมพูชาต่างอพยพเข้ามาในเขตแดนไทยเพื่อขอพักพิง   โดยเฉพาะภาคอีสานเกือบทั้งหมดได้รวมเป็นสหพันธมิตรรัฐอินโดจีน   ได้ยึดพื้นที่ทางภาคอีสานทั้ง 16 จังหวัดเป็นจุดยุทธศาสตร์  ทางชายแดนไทย-กัมพูชาจังหวัดสุรินทร์    เขมรแดงและคอมมิวนิสต์ได้บุกรุกเผาบ้านเรือนราษฎรไทยตามแนวชายแดน   และถูกโจมตีด้วยยุทโธปกรณ์อย่างหนัก    ชาวบ้านในหมู่บ้านตามแนวชายแดนต่างทิ้งบ้านเรือน    เมื่อเหตุการณ์ทวีความรุนแรงขึ้น  จากปัญหาความไม่สงบตามแนวชายแดนจำเป็นที่ทางกองทัพเข้ามาดูแล    ป้องกันประเทศ ซึ่งกองทัพมีแนวคิดที่จะใช้ยุทธศาสตร์การศาสนานำการเมือง    โดยได้ขอกำลังพระภิกษุสงฆ์จากวัดบวรนิเวศวิหาร พ.ศ. 2518



ยุทธศาสตร์ศาสนธรรมนำการทหาร
          พัน เอกพิเศษธนาธาร  สุทธิธรรม รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ฝ่าย กอ.รมน.  มีแนวคิดว่า พระสงฆ์เป็นบุคลกรที่สำคัญในการต่อสู้กับคอมมิวนิสต์   และเสริมสร้างความสงบให้เกิดขึ้นตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา   ด้านจังหวัดสุรินทร์    จึงเข้าเฝ้ากราบนมัสการขอพระสงฆ์จากสมเด็จพระญาณสังวรสมเด็จพระสังฆราชสังฆ ปรินายก   เพื่อเป็นการให้กำลังใจแก่เหล่าทหารที่กำลังปฏิบัติหน้าที่ในสนามรบ   เนื่องจากพระสงฆ์ที่มีคุณสมบัติดังกล่าวหาได้ยากยิ่งพระองค์ท่านจึงมีพระรับ สั่งให้ไปกราบนมัสการหลวงปู่ดูลย์  อตุโล แห่งวัดบูรพาราม  จังหวัดสุรินทร์   เมื่อพันเอกพิเศษ ธนาธาร   เข้ากราบนมัสการหลวงปู่ดูลย์รายงานถึงที่บ้านเมืองกำลังเกิดวิกฤติราษฎรตาม แนวชายแดนได้รับความเดือดร้อน และมีความเสี่ยงเป็นเสี่ยงตาย  หลวงปู่นึกได้ว่าเคยส่งพระไปอบรมข้อวัตรที่          วัดป่าบ้านตาด  จังหวัดอุดรธานี   ท่านจึงให้ พันเอกพิเศษธนาธารกับหลวงตายุทธไปรับพระอาจารย์เยี้อน  ขนฺติพโล โดยกำชับว่าหลวงปู่ดูลย์ต้องการพบด่วน  ท่านพระอาจารย์เยื้อนได้เข้าไปกราบลาท่านหลวงตามหาบัวและเรียนให้ท่านทราบ ถึงกิจธุระที่ต้องกลับสุรินทร์ในครั้งนี้
          เมื่อ มาถึงสุรินทร์หลวงปู่ดูลย์กล่าวว่าการอบรมข้อวัตรปฏิบัติคงเพียงพอแล้ว ให้กลับมาช่วยงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาในจังหวัดสุรินทร์  มีทหารจากกองทัพภาคที่ 2 ให้การสนับสนุนในการสร้างวัด และอยู่พรรษาที่เนิน 424 ช่องพริก (อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้วัดเขาศาลา) ท่านได้เรียนหลวงปู่ว่าผมปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานมาน้อย  และมีพรรษายังไม่มาก  ไม่เพียงพอที่จะรับภารกิจนี้ได้ แต่องค์หลวงปู่ท่านยังยืนกรานให้กลับมาช่วยงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาที่จังหวัด สุรินทร์ และหลวงปู่ได้ทำหนังสือถึงหลวงตามหาบัวให้ส่งพระอาจารย์เยื้อนกลับมาปฏิบัติ ศาสนกิจที่สุรินทร์

สร้างวัดที่เนิน  424  ช่องพริก
          ใน ปี พ.ศ. 2519  ได้สร้างวัดที่เนิน 424  ซึ่งอยู่ใกล้เขตชายแดนไทย-กัมพูชา มีระยะทางจากเขตชายแดนประมาณ 1 กิโลเมตร  ถือเป็นจุดที่มีความเสี่ยงภัยมาก ท่านพระอาจารย์กล่าวว่าเมื่อนึกถึงชาติ  ศาสนา  พระมหากษัตริย์ ที่ไรทำให้ไม่ย่อท้อ  การอยู่ตรงนี้เป็นการมาอยู่เพื่อเป็นกำลังใจให้กับชาวบ้านตามแนวชายแดน  ปฏิบัติหน้าที่ได้ 5-6 เดือน ก็เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบขึ้น  ด้วยความเข้าใจผิดของพวกคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยที่เข้าใจว่า ท่านเป็นพระที่ทหารนิมนต์เข้ามาอยู่  และเป็นสายสืบพิเศษที่ทหารส่งมาหาข่าว  ทำให้ยิ่งมีภัยทั้งภายใน-นอกประเทศที่รุ่นแรงขึ้น  มีการเผาวัด  ใช้จรวดอาร์พีจียิงใส่พระพุทธรูปจนเสียหาย  พระอาจารย์เยื้อนต้องหนีภัยสู้รบจนเทียบไม่มีที่จะอยู่ (ท่านเคยเล่าว่าโดนจับไปปล่อยที่แม่น้ำโขงแล้วให้ว่ายข้ามไปฝั่งประเทศลาว ถ้าว่ายกลับจะยิงทิ้ง หลังจากที่รอดชีวิตกลับมาได้ติดต่อให้พระอาจารย์เคล็ม  ปิยธมฺโม ไปรับ)  และได้มาจำพรรษาที่วัดบูรพาราม  จังหวัดสุรินทร์อีกครั้ง

สร้างวัดป่ากัมมัฏฐานแห่งแรกในอำเภอสนม
          ปี พ.ศ. 2520  พันโทอุดม  ฝ่าย กอ. รมน.  มากราบนมัสการหลวงปู่ดูลย์เพื่อขอพระสงฆ์ไปอยู่ที่อำเภอสนม  หลวงปู่ก็ได้ส่งท่านพระอาจารย์เยื้อนไป  โดยได้ไปพักอาศัยอยู่ในป่าช้าเพื่อปฏิบัติธรรม ในช่วงระหว่างที่ท่านอยู่ปฏิบัติธรรมที่ป่าช้าอยู่นั้น มีเหตุการณ์ไม่คาดคิดเกิดขึ้น  คือมีกลุ่มชาวบ้านเดินขบวนขับไล่ออกจากพื้นที่  โดยมีการปลุกระดมว่าท่านเป็นพระคอมมิวนิสต์  เพื่อสร้างความเข้าใจผิดให้เกิดขึ้นในหมู่ชาวบ้าน  บางคนด่าว่าด้วยถ้อยคำที่หยาบโลน  มีการทำร้ายร่างกายด้วยวิธีขว้างปาอิฐใส่ศีรษะ ถือเป็นขบวนการที่รุนแรงจนผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ต้องเดินทางเข้าไปดู ในที่เกิดเหตุ  และได้นิมนต์ให้ท่านอยู่ต่อไป   ในช่วงที่มีการเดินขบวนขับไล่นั้นพันโทอุดมได้เข้าไปร่วมกับกลุ่มชาวบ้านที่ ต่อต้านด้วยจึงได้รู้ว่าใครเป็นแกนนำในการปลุกระดม ซึ่งในที่สุดทางการก็สามารถจับได้ภายใน 5 เดือน
          จาก เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นท่านพระอาจารย์ได้เล่าถวายหลวงปู่ดูลย์ และหลวงตามหาบัวตลอด  และท่านหลวงตาได้พูดว่าคนดีจะอยู่ไม่ได้หรือที่อำเภอสนม  และท่านก็เข้าใจเจตนาของท่านหลวงตาทันที  ต่อมาก็มีโยมตระกูลบุญญลักษม์ได้ซื้อที่ถวายสร้างวัดแห่งใหม่ซึ่งก็อยู่ ใกล้ๆ กับป่าช้านั้นแหล่ะ  ท่านได้สร้างเสนาสนะ  ศาลาประยุกต์เป็นโบสถ์พร้อม และได้พัฒนาขึ้นเรื่อยๆ  มีการขึ้นทะเบียนเป็นวัดอย่างถูกต้องว่า วัดบ้านโดน  ชาวบ้านก็มีความเข้าใจและศรัทธาในตัวท่านเป็นอย่างมาก   ท่านพระอาจารย์เยื้อนอยู่ที่วัดแห่งนี้จนถึง  ปี พ.ศ. 2531 จึงได้ย้ายไปประจำอยู่ที่วัดเขาศาลาอตุลฐานะจาโร ตำบลจรัส อำเภอบัวเชด จังหวัดสุรินทร์    ปัจจุบันพระครูสุทธิปัญญาภรณ์  เป็นเจ้าอาวาส   และได้เปลี่ยนชื่อวัดจากวัดบ้านโดน  เป็นวัดป่าอตุโลบุญญลักษม์


เริ่มสร้างวัดเขาศาลาอตุลฐานะจาโร
          ใน ปี พ.ศ. 2532  พระอาจารย์เยื้อน ได้เข้าพบพันเอกอนันต์  นอบไทย  รองผู้บัญชาการกองกำลังสุรนารี  จังหวัดสุรินทร์  ได้ปรึกษาหารือเกี่ยวกับพื้นที่เขาศาลา  ตำบลจรัส  อำเภอบัวเชด  ทางคณะสงฆ์จะขอเป็นสถานที่ปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน  ผลจากการเข้าหารือทางกองทัพไม่ขัดข้องพร้อมให้การสนับสนุนสร้างเป็นวัดที่ ถูกต้องตามกฎหมาย และได้ประสานกับพลเอกเชษฐา  ฐานะจาโร  ผู้บัญชาการกองกำลังสุรนารีเกี่ยวกับเรื่องนี้  และท่านก็เห็นด้วย พร้อมกับมีคำสั่งให้ทหารช่าง ช พัน 6 ทำถนนขึ้นเขาศาลา และได้ดำเนินการขอสร้างวัดในเนื้อที่ 15 ไร่ จากกรมป่าไม้  พันเอกสนั่น  มะเริงสิทธิ์  ได้จัดทำโครงการส่งเสริมพระพุทธศาสนา  อนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้และสิ่งแวดล้อมด้วยรอบบนเขาศาลา  โดยทำหนังสือถึงกรมป่าไม้เพื่อขอใช้พื้นที่บริเวณเขาศาลาจัดตั้งเป็นพุทธ อุทยาน  เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษาสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ จำนวน 10,865 ไร่   และได้ประสานกรมศาสนาเพื่อขออนุมัติจัดตั้งพุทธอุทยานอย่างถาวรเพื่อเป็น ตัวอย่างในการอนุรักษ์ป่าและสิ่งแวดล้อม  โดยการสนับสนุนจากกองทัพภาคที่ 2   และกองกำลังสุรนารี  จังหวัดสุรินทร์  การมา อยู่ที่เขาศาลาของท่านพระอาจารย์เยื้อนซึ่งถือว่าเป็นผู้บุกเบิกร่วมกับกอง กำลังสุรนารี   ได้ดำเนินการเกี่ยวกับการอนุรักษ์มาตลอด  สิ่งหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าท่านเป็นนักอนุรักษ์จริง ๆ  คือ เวลาจะพัฒนาวัดทำความสะอาด ท่านจะห้ามพระเณรเสมอว่าถ้าไม่จำเป็นห้ามตัดต้นไม้เด็ดขาด แม้ต้นไม้ที่ตายท่านก็ไม่นำมาทำเป็นฟืน  เสนาสนะท่านก็ไม่ใช้ไม้ท่านให้เหตุผลว่าถ้าใช้ไม้ก็เท่ากับเราเบียดเบียน ธรรมชาติถึงปูนซีเมนต์จะแพงหน่อยก็ไม่เป็นไร
          จากการมีบทบาทด้านการอนุรักษ์ที่ทุมเท่ออกมาจากจิตวิญญาณของท่าน ทำให้ชาวบ้านที่มีอาชีพตัดไม้ไปขายได้รับความเดือดร้อน สอนหนึ่งมาจากเจ้าหน้าที่ในท้องถิ่นที่ว่าจ้าง ออกมาเดินขบวนต่อต้านขับไล่ท่านออกจากวัดเขาศาลา  ในช่วง ประมาณปี พ.ศ. 2538  เป็นช่วงที่มีปัญหาเกิดขึ้นหลายอย่าง   ชาวบ้านไม่เห็นด้วย   แต่สุดท้ายก็จบลงด้วยดี ซึ่งท่านพระอาจารย์ให้เหตุผลว่าธรรมะไปที่ไหนที่ตรงนั้นต้องเย็น


พระนักพัฒนาเขตชายแดนไทย-กัมพูชา
          พระอาจารย์เยื้อน หรือในปัจจุบันท่านได้เลื่อนสมณะศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ พระพิศาลศาสนกิจ  นอกจากจะเป็นพระนักอนุรักษ์ป่าไม้ที่ใคร ๆ  ต่างก็ทึ่งในความสามารถที่ท่านทำได้สำเร็จ สามารถดูแลป่าในเนื้อที่หมื่นกว่าไร่ได้อย่างสมบูรณ์แล้ว  ท่านยังเป็นพระนักพัฒนารูปหนึ่งในจังหวัดที่ควรศึกษาในด้านการพัฒนาคน คือพระเณรนั้น ท่านได้ดำเนินการจัดโครงการบรรพชาอุปสมบทเฉลิมพระเกียรติขึ้นทุกปี เริ่มตั้งแต่ปี 2535 - ปัจจุบัน  แม้ผู้วิจัยเองก็กำเนิดมาจากโครงการนี้เช่นกัน  ท่านมีมุมมองว่า การพัฒนาคนที่ยั่งยืนที่สุดคือการให้การศึกษาแก่เด็ก เยาวชน  ถ้าสามารถเรียนสำเร็จโอกาสทางสังคมมีมากขึ้น  อาชีพ  รายได้ ก็เพิ่มขึ้น  พระเณรในสำนักของท่านได้ส่งไปเรียนยังสำนักเรียนต่างๆ ในภาคกลาง มีทั้งระดับมัธยม  อุดมศึกษา และที่ไปเรียนต่อที่ต่างประเทศก็มี ทั้งในระดับปริญญาตรี  โท  เอก  มีเกือบ 50 รูป ทั้งหมด และทุกรูปล้วนมาจากโครงการนี้ที่เป็นลูกชาวบ้านที่ไม่มีทุนทรัพย์จะเรียนต่อ และท่านยังมองไปข้างหน้าอีกว่าถ้าลูกศิษย์จบออกมาอยู่เฉย ๆ ไม่ได้เราต้องหาที่รองรับไว้ให้ นั่น คือการสร้างสถาบันการศึกษาทางคณะสงฆ์ขึ้นในชุมชน (ปัจจุบันโครงการนี้เริ่มมีความชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ) การให้ทุนการศึกษาแก่นักเรียนภายนอกตามโรงเรียนต่าง ๆ  การช่วยเหลือด้วยอุปกรณ์ทางการศึกษาท่านก็ได้ทำมาเป็นประจำทุกปี  การเสริมรายให้ชาวบ้านในชุมชนได้ทำ เช่น การทำเฟอร์นิเจอร์ จนได้ตั้งเป็นสินค้า OTOP ประจำตำบล  การสร้างโรงสีเกษตรอินทรีย์ชุมชนบัวเชดขึ้นในวัด

         
ผลงานช่วยกองทัพไทย
          -    การมอบตัวของชาวเขมรเนื่องจากพระอาจารย์เยื้อนสามารถพูดภาษาเขมรได้ ถือเป็นการได้เปรียบที่สื่อสารกับชาวเขมรในบริเวณนั้น ทำให้เกิดความเข้าใจกันง่ายขึ้น  คือ
          -    เขมรที่บุกรุกเข้ามาในเขตแดนยอมมอบตัวครั้งแรก จำนวน 5  คน
          -    เขมรที่บุกรุกเข้ามาในเขตแดนยอมมอบตัวครั้งที่ 2 จำนวน 10  คน
          -    เขมรที่บุกรุกเข้ามาในเขตแดนยอมมอบตัวครั้งที่ 3 จำนวน 3 ครอบครัว
          -    ผลจากการสู้รบทำให้ไม่มีการสูญเสียกำลังพลของทหารฝ่ายไทย
          -    ให้กำลังใจแก่เหล่าทหารที่ปฏิบัติหน้าที่ในสนามรบ  มีความเข้มแข็ง ร่วมรักษาอธิปไตยของชาติไว้
          -    ประสานกับชาวบ้านในหมู่บ้านต่าง ๆ ให้เกิดความเข้าใจอันดีกับทหาร และให้ความร่วมมือในการป้องกันประเทศ

รางวัลเกียรติคุณ
           พ.ศ. 2539    ได้รับแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์
           พ.ศ. 2543    ได้รับการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมเลื่อนสมณะศักดิ์  เป็นพระครูสัญญาบัตรที่ดำรงตำแหน่งพระสังฆาธิการ   ผู้บริหารการคณะสงฆ์จากเจ้าคณะตำบลชั้นโท  เป็นเจ้าคณะตำบลชั้นเอก
           พ.ศ. 2547    มหาวิทยาลัยราชภัฎสุรินทร์   ถวายปริญญาวิทยาศาสตร์บัณฑิตกิตติมศักดิ์   โปรแกรมวิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม
           พ.ศ. 2549    ได้รับการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมเลื่อนสมณะศักดิ์ เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ พระพิศาลศาสนกิจ
           พ.ศ. 2549    ได้รับพระราชทานเสาเสมาธรรมจักร ด้านรักษาสิ่งแวดล้อม  จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี
           พ.ศ. 2549    ได้รับประธานพระบรมสารีริกธาตุ จากสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก
           พ.ศ. 2550    ได้รับพระราชทานเสมาธรรมจักร ผู้ทำคุณประโยชน์ด้านการเผยแผ่พระพุทธศาสนา  จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี
           พ.ศ. 2555    ได้รับแต่งตั้งเป็นรักษาการเจ้าคณะจังหวัดสุรินทร์ธรรมยุต เพราะเจ้าคณะจังหวัดรูปก่อนเกษียณอายุ 80 ปี และได้รับพระบัญชาแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะจังหวัดสุรินทร์ ธรรมยุต
           พ.ศ. 2555    ได้รับถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ในหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต  สาขาวิชายุทธศาสตร์การพัฒนาภูมิภาค กลุ่มเกษตรและสิ่งแวดล้อม (ด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้)



วันอาทิตย์ที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2555

สรุปสารสำคัญแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 (2555-2559)

 บทนำ
           "การจะพัฒนาคนต้องพัฒนาที่จิตใจ" วลีดังกล่าวนี้เรามักคุ้นหูกันมากที่สุด นั่นก็หมายถึงว่า จิตใจ ถือเป็นแก่นสำคัญในงานด้านการพัฒนา  จะ พัฒนาเจริญรุ่งเรืองมากแต่ถ้าจิตใจไม่มีพัฒนาการตามไปด้วยก็ไม่เกิดผล (เสื่อมทราม) การจะพัฒนาประเทศก็เช่นเดียวกัน จะมุ่งความเจริญเติบโตด้านใดด้านหนึ่งไม่ได้  จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องให้ความสำคัญรอบด้าน (หลายมิติ) และการจะให้ฝ่ายปฏิบัติสามารถนำแผนไปสู่การปฏิบัติได้อย่างเกิดผล  ก็ ต้องมีการร่างแผนพัฒนาขึ้น ในอดีตเรียกแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ เมื่อการพัฒนามุ่งเน้นเฉพาะระบบเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว เพียงเพื่อต้องการหนีออกจากคำว่า “ประเทศด้อยพัฒนา, ประเทศกำลังพัฒนา, ประเทศที่สาม” กลับพบว่าผู้คนในประเทศยิ่งจนลงเรื่อยๆ ปัญหาด้านสังคมกลับทวีความรุนแรงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ฝ่ายบริหารต้องมีการทบทวนบทบาทตนเองใหม่  เพิ่ม คำว่าสังคมเข้าไปด้วย ทำให้ได้คำใหม่ซึ่งฟังดูดีขึ้นคือ “แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ” ปัจจุบันกำลังเริ่มใช้แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๑๑ (พ.ศ. ๒๕๕๕-๒๕๕๙) ช่วงภาวะเศรษฐกิจฟองสบู่ (พ.ศ.๒๕๔๐) ประเทศไทยประสบกับภาวะวิกฤตเศรษฐกิจตกต่ำ นอกจากนั้นประสบกับความไม่สมดุลที่เกิดจากการพัฒนาประเทศขาดความยั่งยืน เนื่องจากมุ่งการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว ขณะที่ด้านสังคมได้ประสบกับภาวะปัญหาต่างๆ และทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมีความเสื่อมโทรมลง  จึงมีการน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้  ซึ่งถือเป็นปรัชญาที่ชี้นำยุทธศาสตร์และนโยบายการพัฒนาประเทศที่มุ่งสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน  และมั่นคงทุกภาคส่วน
             แผน พัฒนาฯ ฉบับที่ ๑๑ (พ.ศ. ๒๕๕๕-๒๕๕๙) ก็ยังคงไว้ซึ่งหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเหมือนเดิมภายใต้หลัก “คนคือศูนย์กลางการพัฒนา” โดยใช้หลักเศรษฐกิจเป็นเครื่องมือในการพัฒนาคน (มนุษย์) ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นนั่นเอง  ซึ่งกระบวนการเรียนการสอนวิชา ทฤษฎีการพัฒนาประเทศอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่บรรยายโดย อ.ดร.วิเศษ  ชินวงศ์ ได้ฝึกให้นักศึกษามีทักษะด้านการคิดวิเคราะห์  และสังเคราะห์ จากแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๑๑ ว่ามีสาระสำคัญอย่างไรตามประเด็นที่ได้กำหนดไว้ให้   ซึ่งสามารถนำเสนอตามประเด็นต่างๆ ได้ดังนี้
 การเปลี่ยนแปลงระดับโลกและภายในประเทศไทย
             การประเมินสถานการณ์ด้านต่างๆ ที่ประเทศกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้  ซึ่งอาจจะเรียกว่าเป็นวิธีการหา SWOT Analysis ก็ไม่ผิด  เพื่อหาแนวทางว่าประเทศไทยมีจุดแข็ง-อ่อนอย่างไรบ้าง จากการประเมินสถานการณ์พบว่า
             ๑.๑   การเปลี่ยนแปลงในระดับโลกพบว่า
                     จากปัญหาวิกฤตด้านเศรษฐกิจและการเงินส่งผลให้หลายประเทศ หรือกลุ่มประเทศต่างๆ มีการปรับเปลี่ยนการบริหารจัดการด้านการค้า  การลงทุน  การเงิน  สิ่ง แวดล้อม และด้านสังคม ทั้งนี้ เพราะว่าปัจจัยเหล่านี้มีผลสืบเนื่องถึงกันอย่างเห็นได้ชัด ทุกฝ่ายจึงให้ความสำคัญด้านหลักธรรมาภิบาล คือความโปร่งใส  การแก้ปัญหาโลกร้อน  ให้การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา และสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศ  กลุ่ม ประเทศอุตสาหกรรมมีการปรับตัวเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจโลกแบบศูนย์กลางการผลิตที่ ใหญ่เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กลุ่มประเทศของตน และจากการคาดการณ์มีการมองว่าในอนาคตกลุ่มชนชั้นกลางของแต่ละประเทศจะเพิ่ม จำนวนปริมาณมากขึ้น  ก็เมื่อเป็นเช่นนี้ก็จะมีกำลังในการซื้อขายมากขึ้น  เห็น ได้จากในปัจจุบันมีการรวมกลุ่มทำสัญญาเสรีการค้าในหลายประเทศ ซึ่งสถานการณ์เช่นนี้นับว่าเป็นผลกระทบอย่างมากสำหรับประเทศที่กำลังพัฒนา  เพราะจำเป็นต้องมีการเร่งพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และระบบการพัฒนาต่างๆ ภายในประเทศอย่างเร่งด่วน
             ในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๑๑ นี้ ประชากรผู้สูงอายุในโลกจะเพิ่มปริมาณขึ้นอีก ๘๑.๙ ล้านคน  ส่งผลต่อภาคธุรกิจคือการสร้างงานต้องใช้ทักษะ  ความชำนาญ ควบคู่กับเทคโนโลยี ขณะเดียวกันประเทศที่มีผู้สูงอายุมากก็จะเพิ่มรายจ่ายเป็นจำนวนมาก  และที่สำคัญในสังคมจะมีความหลายหลายทางวัฒนธรรม  สภาพภูมิอากาศโลกมีความแปรปรวน ในช่วง ๓๐ ปีที่ผ่านมา อุณหภูมิโลกเฉลี่ยสูงขึ้น ๐.๒ องศาเซลเซียสต่อศตวรรษ  จากสภาพอากาศที่มีความแปรปรวนได้ก่อให้เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติบ่อยครั้งและทวีความรุนแรง อาทิ แผ่นดินไหว  ดินถล่ม  ภูเขาไฟระเบิด  อุทกภัย  วาตภัย  ภัยแล้ง  ไฟป่า  ระบบนิเวศในหลายพื้นที่ของโลกอ่อนแอ  บาง พื้นที่มีโรคระบาดมีแมลงศัตรูพืชสร้างความเสียหายแก่ผลผลิตทางการเกษตรและ ธัญญาหารของโลก รวมทั้งกระทบต่อภาคสังคม คือปัญหาความยากจน  การอพยพย้ายถิ่น และการแย่งชิงทรัพยากร  ปัจจุบัน กำลังการผลิตทางการเกษตรลดลงไม่เพียงพอต่อความต้องการ หรือไม่ก็มีราคาที่สูงเกินไปซึ่งสืบเนื่องมาจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางภูมิ อากาศโลก เมื่อปัญหาทั้งหมดทั้งมวลที่กล่าวมาทวีความรุนแรงขึ้น  มนุษย์ ก็เริ่มมองหาวิธีการที่จะมาแก้ไข สิ่งที่ช่วยได้มากที่สุดในขณะนี้คือการพัฒนาเทคโนโลยี ในปัจจุบันมีการนำเอาเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในชีวิตประจำวันมาก ซึ่งทั้งหมดนี้ก็ยังไม่สามารถตอบโจทย์หรือสนองความต้องการได้ทั้งหมด  เพราะมันยังมีทั้งคุณและโทษ ที่สำคัญยิ่งมีการพัฒนาระบบสารสนเทศได้มากแค่ไหน  ปัญหาการจารกรรมข้อมูลข่าวสารก็ย้อมมีมากขึ้นตามไปด้วย  ในหลายประเทศมีปัญหาการก่อการร้ายในรูปแบบต่างๆ และมีความสลับซับซ้อนเพิ่มขีดความสามารถในระดับชาติ  มีการช่วยเหลือจากประเทศต่างๆ ซึ่งส่งผลกระทบต่อความมั่งคงของประเทศ  ประเทศ ต่างๆ ต้องเร่งควบคุมปัจจัยที่หนุนการก่อการร้าย ต้องทั้งต้องมีการสร้างความร่วมมือในเวทีระหว่างประเทศเพื่อปกป้องผล ประโยชน์ของชาติจากภัยเหล่านี้
             ๑.๒    ความเปลี่ยนแปลงภายในประเทศ  การ เปลี่ยนแปลงภายในประเทศมีอยู่ ๔ หลักใหญ่ๆ คือ การเปลี่ยนแปลงสภาวะด้านเศรษฐกิจ ประเทศไทยมีอัตราการขยายตัวและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจอยู่ในเกณฑ์ดี ภาคอุตสาหกรรมมีบทบาทในการผลิตสูง ภาคการเกษตรเป็นแหล่งสร้างรายได้หลักของประชาชนและเป็นฐานการสร้างมูลค่า เพิ่ม  ด้านสังคมนั้น ประเทศไทยมีก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น วัยเด็กและวัยแรงงานลดลง ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรเสื่อมโทรมส่งผลซ้ำเติมให้ปัญหาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รุนแรง ด้านการบริหารจัดการพัฒนาประเทศ ปัจจุบันประชาชนมีความตื่นตัวทางการเมืองสูงขึ้น (อาจมาจากการสร้างแส) แต่ปัญหาความขัดแย้งยังคงอยู่ ส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจและการดำรงชีพของประชาชน ภาครัฐมีประสิทธิภาพแต่ก็ยังไม่สามารถป้องกันการทุจริตคอร์รัปชั่น ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญของไทยและการพัฒนาประเทศ
ความเสี่ยงของสังคมไทย
             ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่า  ประเทศ ไทยถ้าจะพัฒนาประเทศก้าวเข้าสู่เวทีโลก หรือแม้ที่กำลังเป็นกระแสอยู่ในขณะนี้ คือประชาคมอาเซียน ซึ่งมีประเทศสมาชิกในกลุ่มอุษาคเณย์เข้าร่วม จำเป็นอย่างยิ่งที่ประเทศไทยต้องมีการประเมินสถานการณ์ของตนเอง ซึ่งจากประเด็นดังกล่าวนี้ ประเทศไทยต้องเผชิญ คือพร้อมที่เผชิญกับการเปลี่ยนแปลงอย่างมีประสิทธิภาพ คือ
             ๑. การบริหารภาครัฐที่อ่อนแอไม่สามารถขับเคลื่อนการบริหารได้อย่างเต็มขีดความ สามารถ และอำนาจรัฐถูกใช้เพื่อผลประโยชน์ของคนบางกลุ่ม ประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายสาธารณะน้อย
             ๒.  โครง สร้างทางเศรษฐกิจไม่สามารถรองรับการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน ตราบใดที่ระบบเศรษฐกิจของไทยยังคงพึ่งพากลไกเศรษฐกิจโลก หรือการนำเข้าจากต่างประเทศมากเท่าไหร่  ระบบเศรษฐกิจภายในประเทศก็ยิ่งมีความผันผวนอยู่เสมอ  ประชาชนของประเทศส่วนใหญ่ยังคงอยู่ในระดับฐานราก
             ๓. โครงสร้างประชากรที่มีวัยสูงอายุเพิ่มขึ้น ขณะที่ประชากรวัยเด็กและวัยแรงงานลดลง ปี พ.ศ. ๒๕๖๘ คาดการณ์ว่าประเทศไทยจะกลายเป็นประเทศสังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์  การ แข่งขันเพื่อแย่งชิงกำลังแรงงานจะเกิดขึ้น ในปัจจุบันงานก่อสร้างตาม ๓ จังหวัดชายแดนอีสานตอนล่าง เริ่มมีกลุ่มแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาขายแรงงานกันมากขึ้น
             ๔. ค่านิยมที่ดีงานเสื่อมถอยและประเพณีดั้งเดิมถูกบิดเบือน เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงภายใต้กระแสโลกาภิวัฒน์  ส่งผลให้สังคมไทยเป็นสังคมวัตถุนิยม (คนที่พูดประเด็นนี้กลับเป็นผู้นำกระแสโลกาภิวัตน์เสียเอง  แต่ผู้ที่เขาอยู่กับประเพณีนิยม ความเป็นท้องถิ่น กลับมองว่าล้าสมัย อนุรักษ์นิยม หัวโบราณ)
             ๕. ฐานทรัพยากรธรรมชาติและสภาพแวดล้อมของประเทศมีแนวโน้มเสื่อมโทรมรุนแรง เนื่องจากปัจจัยความจำเป็นพื้นฐานของคนในสังคม ผนวกกับปัญหาภัยธรรมชาติ และความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ แต่ก็ไม่ร้ายแรงเท่าการสร้างชุมชนในเขตบริเวณที่เป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติ คนรากฐานก็ต้องการที่ทำกิน เพื่อทำการเกษตร  ส่วนคนชั้นกลางขึ้นไปต้องการสร้างระบบเศรษฐกิจการท่องเที่ยว บ้านเช่า โรงแรม ทำทุกวิถีทางเพื่อให้สามารถเข้าถึงพื้นที่ให้ได้
             ๖. ประเทศไทยยังคงมีความเสี่ยงด้านความมั่นคง ความเสี่ยงด้านนี้ถือเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ยากจะแก้ไข  แต่ก็ไม่เกินความสามารถถ้าทุกฝ่ายช่วยกัน เพื่อผลประโยชน์ของชาติอย่างแท้จริง
             ซึ่งจากปัญหาความเสี่ยงที่ประเทศกำลังประสบอยู่และจะประสบในอนาคตเมื่อประเทศก้าวเข้าสู่เวทีโลก  ดังนั้นประเทศต้องสร้างภูมิคุ้มกันให้ตนเอง  ซึ่งในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๑๑ นี้ กำหนดไว้ ๕ ประเด็นด้วยกันคือ
             ๑. ประเทศไทยจะต้องมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็น ประมุขของประเทศชาติเท่านั้น ซึ่งสถาบันที่คอยเชื่อมโยงทักทอเส้นใยให้คนในชาติมีความกลมเกลียวกัน
             ๒. การพัฒนาประเทศจำเป็นต้องให้อยู่บนฐานความรู้และเทคโนโลยีที่ทันสมัย สิ่งเหล่านี้จะปฏิเสธเลยทีเดียวไม่ได้ แต่ทำอย่างไรจึงจะสามารถปรับประสานให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมในท้องถิ่นของตน ให้ได้
             ๓. สังคมไทยมีค่านิยมและวัฒนธรรมที่ดีงาม อัตลักษณ์ความเป็นไทยดีอยู่แล้ว แต่ตัวแปรที่สำคัญที่สามารถส่งผลให้คนในสังคมมีการเปลี่ยนแปลงได้ นั่นคือศาสนา ศาสนาที่คนไทยรู้จักและคุ้นเคยมากที่สุด คือพระพุทธศาสนา
             ๔. ภาคการเกษตรเป็นฐานรากได้หลักและความมั่นคงด้านอาหารของประเทศ แหล่งพลังงานที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทยคือ ภาคการเกษตร เป็นแหล่งสร้างรายได้อย่างยั่งยืนให้กับคนในสังคมได้เป็นอย่างดี
             ๕. ชุมชนท้องถิ่นเป็นกลไกที่มีความสามารถในการบริหารจัดการ มีส่วนร่วมในการพัฒนาคุณภาพชีวิตและเชื่อมโยงกันเป็นสังคมสวัสดิการ ในท้องถิ่นมีทุกอย่าง แต่แนะนำให้ทุกคนรู้จักนำมาใช้ ให้เหมาะสม
ทิศทางการพัฒนาประเทศ
             การ พัฒนาประเทศไทยระยะแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๑๑ ตระหนักถึงสถานการณ์และความเสี่ยงซึ่งเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงในระดับโลก และภายในประเทศ โดยเฉพาะด้านความผันผวนทางเศรษฐกิจ พลังงาน และภูมิอากาศ ภายใต้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยให้ความสำคัญด้านการพัฒนาระบบเศรษฐกิจภาคการเกษตร พร้อมก้าวสู่ประชาคมอาเซียนในปี ๒๕๕๘  ที่มีความพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน
             ดัง นั้น กล่าวได้ว่าทิศทางการพัฒนาประเทศในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๑๑ คือการสร้างภูมิคุ้มกันในมิติต่าง ๆ เพื่อให้การพัฒนาประเทศมีความสมดุลและยั่งยืน โดยมีการนำทุนด้านต่างๆ ที่ประเทศมีอยู่มาใช้ประโยชน์อย่างบูรณาการและเกื้อกูลกัน พร้อมทั้งเสริมสร้างให้แข็งแกร่งเพื่อเป็นรากฐานการพัฒนาประเทศ คือพัฒนาคนและสังคมไทยสู่สังคมคุณภาพ       
วิสัยทัศน์  พันธกิจ  วัตถุประสงค์และเป้าหมายการพัฒนาประเทศ
             “คน ไทยภาคภูมิใจในความเป็นไทย มีมิตรไมตรีบนวิถีชีวิตแห่งความพอเพียง ยึดมั่นในวัฒนธรรมประชาธิปไตย และหลักธรรมาภิบาล การบริการสาธารณะขั้นพื้นฐานที่ทั่วถึง มีคุณภาพ สังคมมีความปลอดภัยและมั่นคง อยู่ในสภาวะแวดล้อมที่ดี เกื้อกูลและเอื้ออาทรซึ่งกันและกัน ระบบการผลิตเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมีความมั่นคงด้านอาหารและพลังงาน อยู่บนฐานทางเศรษฐกิจที่พึ่งตนเองและแข่งขันได้ในเวทีโลก สามารถอยู่ในประชาคมภูมิภาคและโลกได้อย่างมีศักดิ์ศรี” นี่คือกรอบทิศทางการพัฒนาประเทศระยะกลางที่มุ่งสู่วิสัยทัศน์ระยะยาวของแผน พัฒนาฯ ฉบับที่ ๑๑
             วิสัยทัศน์
             “สังคมอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข  ด้วยความเสมอภาค เป็นธรรม และมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลง”
             พันธกิจ
             ๑. สร้างสังคมเป็นธรรมและเป็นสังคมที่มีคุณภาพ  ทุกคนมีความมั่งคงในชีวิต  ได้รับการคุ้มครองทางสังคมที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม มีโอกาสเข้าถึงทรัพยากรและกระบวนการยุติธรรมอย่างเสมอภาค   ทุกภาคส่วนได้รับการเสริมพลังให้สามารถมีส่วนร่วมในกระบวนการพัฒนา  ภายใต้ระบบบริหารจัดการภาครัฐที่โปร่งใส เป็นธรรม
             ๒. พัฒนาคุณภาพคนไทยให้มีคุณธรรม เรียนรู้ตลอดชีวิต มีทักษะและการดำรงชีวิตอย่างเหมาะสมในแต่ละช่วงวัย  สถาบันทางสังคมและชุมชนท้องถิ่นมีความเข้มแข็ง  สามารถปรับตัวรู้เท่าทันกับกาดรเปลี่ยนแปลง
             ๓. พัฒนาฐานการผลิตและบริการให้เข้มแข็งและมีคุณภาพบนฐานความรู้ ความคิดสร้างสรรค์ และภูมิปัญญา  สร้างความมั่นคงด้านอาหารและพลังงาน ปรับโครงสร้างการผลิตและการบริโภคให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม  พร้อมสร้างความเชื่อมโยงกับประเทศในภูมิภาคเพื่อความมั่งคงทางเศรษฐกิจและสังคม
             ๔. สร้างความมั่งคงของฐานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สนับสนุนการมีส่วนร่วมของชุมชน รวมทั้งสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อรองรับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และภัยพิบัติทางธรรมชาติ
             วัตถุประสงค์
             ๑. เพื่อเสริมสร้างสังคมที่เป็นธรรมและเป็นสังคมสันติสุข
             ๒. เพื่อพัฒนาคนไทยทุกกลุ่มวัยอย่างเป็นองค์รวมทั้งทางกาย ใจ สิตปัญญา อารมณ์ คุณธรรม จริยธรรม และสถาบันทางสังคมมีบทบาทหลักในการพัฒนาคนให้มีคุณภาพ
             ๓. เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างมีเสถียรภาพ  คุณภาพ และยั่งยืน  มีความเชื่อมโยงเครือข่ายการผลิตสินค้าและบริการบนฐานปัญญา  นวัตกรรม  และความคิดสร้างสรรค์ในภูมิภาคอาเซียน  มีความมั่นคงทางอาหารและพลังงาน การผลิตและการบริโภคเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นำไปสู่การเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ
             ๔. เพื่ออบริหารจัดการทรัพยากรธรรมและสิ่งแวดล้อมให้เพียงพอต่อการรักษาสมดุลของระบบนิเวศ และเป็นฐานที่มั่นคงของการพัฒนาประเทศ
             เป้าหมาย
             ๑. ความอยู่เย็นเป็นสุขและความสงบสุขของสังคมไทยเพิ่มขึ้น  ความเหลื่อมล้ำในสังคมลดลง  สัดส่วนผู้อยู่ใต้เส้นความยากจนลดลง  และดัชนีภาพลักษณ์การคอร์รัปชั่นไม่ต่ำกว่า ๕.๐ คะแนน
             ๒. คนไทยมีการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง มีสุขภาวะดีขึ้น มีคุณธรรม จริยธรรม และสถาบันทางสังคมมีความเข้มแข็งมากขึ้น
             ๓. เศรษฐกิจเติบโตในอัตราที่เหมาะสมตามศักยภาพของประเทศ  ให้ ความสำคัญกับการเพิ่มผลิตภาพรวมไม่ต่ำกว่าร้อยละ ๓.๐ ต่อปี เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประเทศเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ ของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ให้มีไม่ต่ำกว่าร้อยละ ๔๐.๐
             ๔. คุณภาพสิ่งแวดล้อมอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน เพิ่มประสิทธิภาพการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมทั้งเพิ่มพื้นที่ป่าไม้เพื่อรักษาสมดุลของระบบนิเวศ
ยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ
             ยุทธศาสตร์ การพัฒนาประเทศในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๑๑ นี้มุ่งสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อป้องกันปัจจัยเสี่ยง และเสริมรากฐานของประเทศด้านต่างๆ ให้เข้มแข็งควบคู่กับการพัฒนาคนและสังคมให้มีคุณภาพเข้าถึงทรัพยากรและได้ รับประโยชน์จากแผนพัฒนาฯ ฉบับนี้อย่างเป็นธรรม อันจะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป ซึ่งมียุทธศาสตร์การพัฒนาทั้งหมด ๖ ยุทธศาสตร์ และมีกลยุทธ์ย่อยไปอีก ดังนี้
             ๑.    ยุทธศาสตร์สร้างความเป็นธรรมในสังคม ซึ่งให้ความสำคัญกับประเด็นเหล่านี้คือ
                   ๑.๑  การ สร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคมให้ทุกคนในสังคมไทยควบคู่กับการเสริม สร้างขีดความสามารถในการจัดการความเสี่ยงและสร้างโอกาสในชีวิตให้แก่ตนเอง
                   ๑.๒  การจัดบริการทางสังคมให้ทุกคนตามสิทธิขั้นพื้นฐาน  เน้นการสร้างภูมิคุ้มกันระดับปัจเจก  และสร้างการมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจในการพัฒนาประเทศ
                   ๑.๓  การ เสริมสร้างพลังให้ทุกภาคส่วนสามารถเพิ่มทางเลือกการใช้ชีวิตในสังคมและมี ส่วนร่วมในเชิงเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองได้อย่างมีคุณค่าและศักดิ์ศรี
                   ๑.๔  การสานสร้างความสัมพันธ์ของคนในสังคมให้มีคุณค่าร่วมและตระหนักถึงผลประโยชน์ของสังคม  และเสริมสร้างการบริหารราชการแผ่นดินที่มีประสิทธิภาพ
             ๒.    ยุทธศาสตร์การพัฒนาคนสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างยั่งยืน โดยให้ความสำคัญกับประเด็นเหล่านี้ คือ
                   ๒.๑  การปรับโครงสร้างและการกระจายตัวประชากรให้เหมาะสม
                   ๒.๒  การพัฒนาคุณภาพคนไทยให้มีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลง
                   ๒.๓  การส่งเสริมการลดปัจจัยเสี่ยงด้านสุขภาพอย่างเป็นองค์รวม
                   ๒.๔  การส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต
                   ๒.๕  การเสริมสร้างความเข้มแข็งของสถาบันทางสังคม
             ๓.    ยุทธศาสตร์ความเข้มแข็งภาคเกษตร ความมั่นคงของอาหารและพลังงาน โดยให้ความสำคัญกับประเด็นเหล่านี้ คือ
                   ๓.๑  การพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติที่เป็นฐานการผลิตภาคเกษตรให้เข้มแข็งและยั่งยืน
                   ๓.๒  การเพิ่มประสิทธิภาพและศักยภาพการผลิตภาคเกษตร
                   ๓.๓  การสร้างมูลค่าเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรตลอดห่วงโซ่การผลิต
                   ๓.๔  การสร้างความมั่นคงในอาชีพและรายได้ให้แก่เกษตรกร
                   ๓.๕  การสร้างความมั่นคงด้านอาหารและพัฒนาพลังงานชีวภาพในระดับครัวเรือนและชุมชน
                   ๓.๖  การสร้างความมันคงด้านพลังงานชีวภาพเพื่อสนับสนุนการพัฒนาประเทศและความเข้มแข็งภาคเกษตร
                   ๓.๗  การปรับระบบบริหารจัดการภาครัฐเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงด้านอาหารและพลังงาน
             ๔.    ยุทธศาสตร์การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจสู่การเติบโตอย่างมีคุณภาพและยั่งยืน โดยให้ความสำคัญกับประเด็นเหล่านี้ คือ
                   ๔.๑  การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่มีคุณภาพและยั่งยืน
                   ๔.๒  การพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี  วิจัย  และนวัตกรรม
                   ๔.๓  การพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันที่มีประสิทธิภาพ เท่าเทียม และเป็นธรรม
                   ๔.๔  การบริหารจัดการเศรษฐกิจส่วนรวมอย่างมีเสถียรภาพ
             ๕.    ยุทธศาสตร์การสร้างความเชื่อมโยงกับประเทศในภูมิภาคเพื่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม โดยให้ความสำคัญกับประเด็นเหล่านี้ คือ
                   ๕.๑  การพัฒนาความเชื่อมโยงด้านการขนส่งและระบบโลจิสติกส์ภายใต้กรอบความร่วมมือในอนุภูมิภาคต่างๆ
                   ๕.๒  การพัฒนาฐานลงทุนโดยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันระดับอนุภูมิภาค
                   ๕.๓  การสร้างความพร้อมในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน
                   ๕.๔  การ เข้าร่วมเป็นภาคีความร่วมมือระหว่างประเทศและภูมิภาคภายใต้บทบาทที่สร้าง สรรค์ เป็นทางเลือกในการดำเนินนโยบายระหว่างประเทศในเวทีโลก
                   ๕.๕  การสร้างความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจในภูมิภาคด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์การเคลื่อนย้ายแรงงาน และการส่งเสริมแรงงานไทยในต่างประเทศ
                   ๕.๖  การมีส่วนร่วมอย่างสำคัญในการสร้างสังคมนานาชาติที่มีคุณภาพชีวิต  ป้องกันภัยจากการก่อการร้ายและอาชญากรรม  ยาเสพติด ภัยพิบัติ  และการแพร่ระบาดของโรคภัย
                   ๕.๗  การเสริมสร้างความร่วมมือที่ดีระหว่างประเทศในการสนับสนุนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมีจริยธรรมและไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม  พร้อมทั้งเปิดรับความร่วมมือกับองค์กรระหว่างประเทศที่ไม่แสวงหากำไร
                   ๕.๘  การเร่งรัดการใช้ประโยชน์จากข้อตกลงการค้าเสรีที่มีผลบังคับใช้แล้ว
                   ๕.๙  การส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นฐานการลงทุน  และการประกอบธุรกิจในเอเชีย รวมทั้งเป็นฐานความร่วมมือในการพัฒนาภูมิภาค
                 ๕.๑๐  การปรับปรุงและเสริมสร้างความเข้มแข็งของภาคีการพัฒนาภายในประเทศตั้งแต่ระดับชุมชนท้องถิ่น
             ๖.    ยุทธศาสตร์ การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน โดยให้ความสำคัญกับประเด็นเหล่านี้ คือโดยให้ความสำคัญกับประเด็นเหล่านี้ คือ
                   ๖.๑  การอนุรักษ์ ฟื้นฟู และสร้างความมั่นคงของฐานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
                   ๖.๒  การปรับกระบวนทัศน์การพัฒนาและขับเคลื่อนประเทศเพื่อเตรียมพร้อมไปสู่การเป็นเศรษฐกิจและสังคมคาร์บอนต่ำและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
                   ๖.๓  การยกระดับขีดความสามารถในการรองรับและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อให้สังคมมีภูมิคุ้มกัน
                   ๖.๔  การเตรียมความพร้อมรองรับการภัยพิบัติทางธรรมชาติ
                   ๖.๕  การสร้างภูมิคุ้มกันด้านการค้าจากเงื่อนไขด้านสิ่งแวดล้อมและวิกฤตจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
                   ๖.๖  การเพิ่มบทบาทประเทศไทยในเวทีประชาคมโลกที่เกี่ยวข้องกับกรอบความตกลงและพันธกรณีด้านสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศ
                   ๖.๗  การควบคุมและลดมลพิษ
                   ๖.๘  การพัฒนาระบบการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้มีประสิทธิภาพ โปร่งใสและเป็นธรรมอย่างบูรณาการ
            
ประเด็นที่ต้องการพัฒนาสู่การจัดทำวิทยานิพนธ์ (Dissertation)
          จาก การศึกษาสรุปสาระการเรียนรู้จากแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๑๑ ผู้เรียนมีประเด็นที่สนใจในการนำไปพัฒนาสู่การจัดทำดุษฎีนิพนธ์ต่อไปใน ประเด็น  การเมืองภาคประชาชน   โดยนำหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาเข้ามาปรับใช้   ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ด้านการสร้างความเชื่อมโยงกับประเทศในภูมิภาคเพื่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม   ที่ให้ความสำคัญกับการเข้าร่วมเป็นภาคีความร่วมมือระหว่างประเทศและภูมิภาคภายใต้บทบาทที่สร้างสรรค์  เป็นทางเลือกในการดำเนินนโยบายระหว่างประเทศในเวทีโลก
          ประเด็นที่สนใจ คือ รูปแบบวิถีประชาธิปไตยตามหลักอปริหานิยธรรม ของผู้บริหารสถานศึกษาและบุคลากรทางการศึกษาในโรงเรียนกลุ่มชาติพันธุ์ไทย-เขมร



 พระมหาเฉลิมเกียรติ  แก้วหอม. พธ.ธ.(การเมืองการปกครอง), ศศ.ม. (ยุทธศาสตร์การพัฒนา)   

สรุปสาระสำคัญหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง


สรุปสาระสำคัญ
หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

พระบรมราโชวาทเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียง
เปรียบเสมือนเสาเข็ม
เศรษฐกิจ พอเพียงเป็นเสมือนรากฐานของชีวิต รากฐานความมั่นคงของแผ่นดิน เปรียบเสมือนเสาเข็มที่ถูกตอกรองรับบ้านเรือนตัวอาคารไว้นั่นเองสิ่งก่อ สร้างจะมั่นคงได้ก็อยู่ที่เสาเข็ม แต่คนส่วนมากมองไม่เห็นเสาเข็ม และลืมเสาเข็มเสียด้วยซ้ำไป
ต้องทำแบบคนจน
ต้อง ทำแบบคนจน เราไม่เป็นประเทศร่ำรวย เรามีพอสมควร พออยู่ได้ แต่ไม่เป็นประเทศที่ก้าวหน้าอย่างมาก เราไม่อยากจะเป็นประเทศก้าวหน้าอย่างมาก เพราะถ้าเราเป็นประเทศก้าวหน้าอย่างมาก ก็จะมีแต่ถอยหลัง ประเทศเหล่านั้นที่เป็นประเทศที่มีอุตสาหกรรมก้าวหน้า จะมีแต่ถอยหลัง และถอยหลังอย่างน่ากลัว แต่ถ้าเริ่มการบริหารที่เรียกว่า แบบคนจน แบบที่ไม่ติดกับตำรามากเกินไปทำอย่างมีสามัคคีนี่แหละ คือเมตตากัน ก็จะอยู่ได้ตลอดไป
พึ่งตนเอง (Self-sufficiency)
“Self-sufficiency” นั้น หมายความว่า ผลิตอะไรมีพอที่จะใช้ไม่ต้องไปขอซื้อคนอื่น อยู่ได้ด้วยตนเอง(พึ่งตนเอง)...บางคนแปลจากภาษาฝรั่งว่า ให้ยืนบนขาตัวเอง คำว่า ยืนบนขาตัวเองนี่ มีคนบางคนพูดว่าชอบกล ใครจะมายืนบนขาคนอื่นมายืนบนขาเรา เราก็โกรธ แต่ตัวเองยืนบนขาตัวเองก็ต้องเสียหลักหกล้มหรือล้มลงอันนี้ก็เป็นความคิดที่ อาจจะเฟื่องไปหน่อย แต่ว่าเป็นความที่เขาเรียกว่ายืนบนขาของตัวเอง(ซึ่งแปลว่า พึ่งตนเอง) หมายความว่าสองขาของเรานี่ยืนบนพื้น ให้อยู่ได้ไม่หกล้ม ไม่ต้องไปขอยืมขาของคนอื่นมาใช้สำหรับยืน          

          เศรษฐกิจพอเพียง เป็น ปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบัน (ร.๙)  ทรงชี้แนวทางการดำรงอยู่และปฏิบัติตนของประชาชนในทุกระดับ  ให้ดำเนินไปในทางสายกลางโดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อให้ก้าวทันต่อยุค โลกาภิวัตน์   ทั้งนี้จะต้องอาศัยความรู้และความระมัดระวังอย่างยิ่งในการนำวิชาต่างๆ มาใช้   ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ที่ทรงพระกรุณาปรับปรุงแก้ไขพระราชทานข้างต้น เป็นที่มาของนิยาม  3 ห่วง 2 เงื่อนไข  ที่คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาตินำมาใช้ในการรณรงค์  และเผยแพร่ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงผ่านช่องทางต่างๆอยู่ในปัจจุบัน  ซึ่งประกอบ ด้วยความ พอประมาณ มีเหตุผล มีภูมิคุ้มกัน บนเงื่อนไข  ความรู้ และ คุณธรรม
        เศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวคิดที่ยึดหลักทางสายกลาง  เป็นปรัชญาในการดำรงชีวิตให้มีความสุข ที่จำเป็นต้องใช้ทั้ง ความรู้ ความเข้าใจ (รอบรู้ รอบคอบ ระมัดระวัง)ผนวกกับ คุณธรรม (ซื่อสัตย์ สุจริต ขยัน อดทน แบ่งปัน)ในการดำเนินชีวิต  เศรษฐกิจพอเพียงไม่ใช่เพียงการประหยัด  แต่เป็นการดำเนินชีวิตอย่างชาญฉลาด และสามารถอยู่ได้ แม้ในสถานการณ์ที่มีการแข่งขัน และการไหลบ่าของกระแสโลกาภิวัตน์  นำสู่ความสมดุล มั่นคง และยั่งยืนของชีวิต เศรษฐกิจ และสังคม
ความหมายของหลัก ๓ ห่วง
          ความพอเพียง คือ ความพอประมาณ ความมีเหตุมีผล มีระบบภูมิคุ้มกันที่ดีต่อผลกระทบของการเปลี่ยนแปลง หากขาดองค์ประกอบใดก็ไม่เป็นความพอเพียงที่สมบูรณ์
          ความพอประมาณ คือ ความพอดี กล่าวอย่างง่ายๆว่าเป็นการยืนได้โดยลำแข้งของตนเอง โดยมีการกระทำไม่มากเกินไป ไม่น้อยเกินไปในมิติต่างๆ เช่น การบริโภค การผลิตอยู่ในระดับสมดุล การใช้จ่าย การออมอยู่ในระดับที่ไม่สร้างความเดือดร้อนให้กับตนเอง พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง
          ความ มีเหตุมีผล หมายความว่า การตัดสินใจเกี่ยวกับระดับความพอประมาณ ในมิติต่างๆ จะต้องเป็นไปอย่างมีเหตุมีผล ต้องเป็นการมองระยะยาว คำนึงถึงความเสี่ยง มีการพิจารณาจากเหตุปัจจัยและข้อมูลที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนคำนึงถึงผลที่คาดว่าจะเกิด
ความหมายของหลักเงื่อนไข
           ความรอบรู้ คือ มีความรู้เกี่ยวกับวิชาการต่างๆ อย่างรอบด้าน ในเรื่องต่างๆที่เกี่ยวข้อง เพื่อใช้เป็นประโยชน์พื้นฐานเพื่อนำไปใช้ในการปฏิบัติอย่างพอเพียง การมีความรอบรู้ย่อมทำให้มีการตัดสินใจที่ถูกต้อง
            ความรอบคอบ คือ มีการวางแผน โดยสามารถที่จะนำความรู้และหลักวิชาต่างๆ มาพิจารณาเชื่อมโยงสัมพันธ์กัน
        ความ ระมัดระวัง คือ ความมีสติ ตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้ ในการนำแผนปฏิบัติที่ตั้งอยู่บนหลักวิชาต่างๆ เหล่านั้นไปใช้ในทางปฏิบัติ โดยเป็นการระมัดระวังให้รู้เท่าทันเหตุการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปด้วย
 การนำไปใช้ 
       กรอบแนวคิดและทิศทางการพัฒนาระบบเศรษฐกิจมหภาคของไทย  ได้อิงหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง  ซึ่งบรรลุอยู่ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ  ฉบับที่ ๑๐ (พ.ศ. ๒๕๕๐-๒๕๕๔) เพื่อมุ่งสู่การพัฒนาที่สมดุล ยั่งยืน และมีภูมิคุ้มกัน เพื่อความอยู่ดีมีสุข  มุ่งสู่สังคมที่มีความสุขอย่างยั่งยืน  หรือที่เรียกว่า สังคมสีเขียว (Green Society) ด้วยหลักการดังกล่าว  แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๑๐ นี้ จะไม่เน้นเรื่องตัวเลขการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ  แต่ยังคงให้ความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจแบบทวิลักษณ์  หรือระบบเศรษฐกิจที่มีความแตกต่างกันระหว่างเศรษฐกิจชุมชนเมืองและชนบท
     จากหลักการแนวคิดที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานแนวทางตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนี้  องค์การสหประชาชาติ (UN) โดยนายโคฟี อันนัน ในฐานะเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ ได้เชิดชูเกียรติโดยการทูลเกล้าฯถวายรางวัล The Human Development Lifetime Achievement Award แก่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อ 26 พฤษภาคม 2549 และได้มีปาฐกถาถึงปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงว่าเป็นปรัชญาที่สามารถเริ่มได้จาก การสร้างภูมิคุ้มกันในตนเอง สู่หมู่บ้าน และสู่เศรษฐกิจในวงกว้างขึ้น  ถือเป็นปรัชญาที่มีประโยชน์สังคมโลก  โดยองค์การสหประชาชาติได้สนับสนุนให้ประเทศสมาชิก 166 ประเทศยึดเป็นแนวทางสู่การพัฒนาประเทศแบบยั่งยืนด้วย
สรุป
          หลัก ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง  สำหรับในสังคมไทยแล้วถือว่าเป็นแนวคิดทฤษฎีใหม่ที่ชวนผู้คนในสังคมกลับมามอง ดูตัวเอง  รู้จักประเมินสถานการณ์ของตนว่าตอนนี้มีฐานะความเป็นอยู่ในระดับใด  สภาพแวดล้อมที่เราอาศัยอยู่เป็นแบบไหน  และเราควรต้องปฏิบัติตัวเช่นไรเพื่อให้สอดคล้อง  มีความเหมาะสมได้ นั่นคือหลักความพอเพียง  แต่ในทัศนะของผู้เรียนขอเสนอเพิ่มเติมว่า  หลักความพอเพียงนี้ไม่แตกต่างจากหลัก ความสันโดษ คือการสร้างใจของตนเองให้รู้สึกรัก  พอใจ  ยินดี กับของๆ ตนที่มีอยู่  ซึ่งพุทธองค์ทรงแนะนำพร่ำสอนเหล่าพุทธบริษัทให้มีหลักความสันโดษ  สอนแม้กระทั้งถึงการครองชีวิตคู่ ให้สันโดษในคู่ครอง  ถ้าอยากมากทุกข์มาก  ไม่อยากไม่ทุกข์  ความพอเพียงก็เช่นเดียวกัน  ถ้ายังอยากรวยจนเกินเหตุจะไม่มีทางเข้าใจหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงได้เลย

ขอเจริญพร


บรรยายโดย...พระมหาเฉลิมเกียรติ  แก้วหอม. น.ธ.เอก, ป.ธ.๓,
พธ.บ. (การเมืองการปกครอง), ศศ.ม. (ยุทธศาสตร์การพัฒนา)