วันอาทิตย์ที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2555

สรุปสาระสำคัญหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง


สรุปสาระสำคัญ
หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

พระบรมราโชวาทเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียง
เปรียบเสมือนเสาเข็ม
เศรษฐกิจ พอเพียงเป็นเสมือนรากฐานของชีวิต รากฐานความมั่นคงของแผ่นดิน เปรียบเสมือนเสาเข็มที่ถูกตอกรองรับบ้านเรือนตัวอาคารไว้นั่นเองสิ่งก่อ สร้างจะมั่นคงได้ก็อยู่ที่เสาเข็ม แต่คนส่วนมากมองไม่เห็นเสาเข็ม และลืมเสาเข็มเสียด้วยซ้ำไป
ต้องทำแบบคนจน
ต้อง ทำแบบคนจน เราไม่เป็นประเทศร่ำรวย เรามีพอสมควร พออยู่ได้ แต่ไม่เป็นประเทศที่ก้าวหน้าอย่างมาก เราไม่อยากจะเป็นประเทศก้าวหน้าอย่างมาก เพราะถ้าเราเป็นประเทศก้าวหน้าอย่างมาก ก็จะมีแต่ถอยหลัง ประเทศเหล่านั้นที่เป็นประเทศที่มีอุตสาหกรรมก้าวหน้า จะมีแต่ถอยหลัง และถอยหลังอย่างน่ากลัว แต่ถ้าเริ่มการบริหารที่เรียกว่า แบบคนจน แบบที่ไม่ติดกับตำรามากเกินไปทำอย่างมีสามัคคีนี่แหละ คือเมตตากัน ก็จะอยู่ได้ตลอดไป
พึ่งตนเอง (Self-sufficiency)
“Self-sufficiency” นั้น หมายความว่า ผลิตอะไรมีพอที่จะใช้ไม่ต้องไปขอซื้อคนอื่น อยู่ได้ด้วยตนเอง(พึ่งตนเอง)...บางคนแปลจากภาษาฝรั่งว่า ให้ยืนบนขาตัวเอง คำว่า ยืนบนขาตัวเองนี่ มีคนบางคนพูดว่าชอบกล ใครจะมายืนบนขาคนอื่นมายืนบนขาเรา เราก็โกรธ แต่ตัวเองยืนบนขาตัวเองก็ต้องเสียหลักหกล้มหรือล้มลงอันนี้ก็เป็นความคิดที่ อาจจะเฟื่องไปหน่อย แต่ว่าเป็นความที่เขาเรียกว่ายืนบนขาของตัวเอง(ซึ่งแปลว่า พึ่งตนเอง) หมายความว่าสองขาของเรานี่ยืนบนพื้น ให้อยู่ได้ไม่หกล้ม ไม่ต้องไปขอยืมขาของคนอื่นมาใช้สำหรับยืน          

          เศรษฐกิจพอเพียง เป็น ปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบัน (ร.๙)  ทรงชี้แนวทางการดำรงอยู่และปฏิบัติตนของประชาชนในทุกระดับ  ให้ดำเนินไปในทางสายกลางโดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อให้ก้าวทันต่อยุค โลกาภิวัตน์   ทั้งนี้จะต้องอาศัยความรู้และความระมัดระวังอย่างยิ่งในการนำวิชาต่างๆ มาใช้   ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ที่ทรงพระกรุณาปรับปรุงแก้ไขพระราชทานข้างต้น เป็นที่มาของนิยาม  3 ห่วง 2 เงื่อนไข  ที่คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาตินำมาใช้ในการรณรงค์  และเผยแพร่ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงผ่านช่องทางต่างๆอยู่ในปัจจุบัน  ซึ่งประกอบ ด้วยความ พอประมาณ มีเหตุผล มีภูมิคุ้มกัน บนเงื่อนไข  ความรู้ และ คุณธรรม
        เศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวคิดที่ยึดหลักทางสายกลาง  เป็นปรัชญาในการดำรงชีวิตให้มีความสุข ที่จำเป็นต้องใช้ทั้ง ความรู้ ความเข้าใจ (รอบรู้ รอบคอบ ระมัดระวัง)ผนวกกับ คุณธรรม (ซื่อสัตย์ สุจริต ขยัน อดทน แบ่งปัน)ในการดำเนินชีวิต  เศรษฐกิจพอเพียงไม่ใช่เพียงการประหยัด  แต่เป็นการดำเนินชีวิตอย่างชาญฉลาด และสามารถอยู่ได้ แม้ในสถานการณ์ที่มีการแข่งขัน และการไหลบ่าของกระแสโลกาภิวัตน์  นำสู่ความสมดุล มั่นคง และยั่งยืนของชีวิต เศรษฐกิจ และสังคม
ความหมายของหลัก ๓ ห่วง
          ความพอเพียง คือ ความพอประมาณ ความมีเหตุมีผล มีระบบภูมิคุ้มกันที่ดีต่อผลกระทบของการเปลี่ยนแปลง หากขาดองค์ประกอบใดก็ไม่เป็นความพอเพียงที่สมบูรณ์
          ความพอประมาณ คือ ความพอดี กล่าวอย่างง่ายๆว่าเป็นการยืนได้โดยลำแข้งของตนเอง โดยมีการกระทำไม่มากเกินไป ไม่น้อยเกินไปในมิติต่างๆ เช่น การบริโภค การผลิตอยู่ในระดับสมดุล การใช้จ่าย การออมอยู่ในระดับที่ไม่สร้างความเดือดร้อนให้กับตนเอง พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง
          ความ มีเหตุมีผล หมายความว่า การตัดสินใจเกี่ยวกับระดับความพอประมาณ ในมิติต่างๆ จะต้องเป็นไปอย่างมีเหตุมีผล ต้องเป็นการมองระยะยาว คำนึงถึงความเสี่ยง มีการพิจารณาจากเหตุปัจจัยและข้อมูลที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนคำนึงถึงผลที่คาดว่าจะเกิด
ความหมายของหลักเงื่อนไข
           ความรอบรู้ คือ มีความรู้เกี่ยวกับวิชาการต่างๆ อย่างรอบด้าน ในเรื่องต่างๆที่เกี่ยวข้อง เพื่อใช้เป็นประโยชน์พื้นฐานเพื่อนำไปใช้ในการปฏิบัติอย่างพอเพียง การมีความรอบรู้ย่อมทำให้มีการตัดสินใจที่ถูกต้อง
            ความรอบคอบ คือ มีการวางแผน โดยสามารถที่จะนำความรู้และหลักวิชาต่างๆ มาพิจารณาเชื่อมโยงสัมพันธ์กัน
        ความ ระมัดระวัง คือ ความมีสติ ตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้ ในการนำแผนปฏิบัติที่ตั้งอยู่บนหลักวิชาต่างๆ เหล่านั้นไปใช้ในทางปฏิบัติ โดยเป็นการระมัดระวังให้รู้เท่าทันเหตุการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปด้วย
 การนำไปใช้ 
       กรอบแนวคิดและทิศทางการพัฒนาระบบเศรษฐกิจมหภาคของไทย  ได้อิงหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง  ซึ่งบรรลุอยู่ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ  ฉบับที่ ๑๐ (พ.ศ. ๒๕๕๐-๒๕๕๔) เพื่อมุ่งสู่การพัฒนาที่สมดุล ยั่งยืน และมีภูมิคุ้มกัน เพื่อความอยู่ดีมีสุข  มุ่งสู่สังคมที่มีความสุขอย่างยั่งยืน  หรือที่เรียกว่า สังคมสีเขียว (Green Society) ด้วยหลักการดังกล่าว  แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๑๐ นี้ จะไม่เน้นเรื่องตัวเลขการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ  แต่ยังคงให้ความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจแบบทวิลักษณ์  หรือระบบเศรษฐกิจที่มีความแตกต่างกันระหว่างเศรษฐกิจชุมชนเมืองและชนบท
     จากหลักการแนวคิดที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานแนวทางตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนี้  องค์การสหประชาชาติ (UN) โดยนายโคฟี อันนัน ในฐานะเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ ได้เชิดชูเกียรติโดยการทูลเกล้าฯถวายรางวัล The Human Development Lifetime Achievement Award แก่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อ 26 พฤษภาคม 2549 และได้มีปาฐกถาถึงปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงว่าเป็นปรัชญาที่สามารถเริ่มได้จาก การสร้างภูมิคุ้มกันในตนเอง สู่หมู่บ้าน และสู่เศรษฐกิจในวงกว้างขึ้น  ถือเป็นปรัชญาที่มีประโยชน์สังคมโลก  โดยองค์การสหประชาชาติได้สนับสนุนให้ประเทศสมาชิก 166 ประเทศยึดเป็นแนวทางสู่การพัฒนาประเทศแบบยั่งยืนด้วย
สรุป
          หลัก ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง  สำหรับในสังคมไทยแล้วถือว่าเป็นแนวคิดทฤษฎีใหม่ที่ชวนผู้คนในสังคมกลับมามอง ดูตัวเอง  รู้จักประเมินสถานการณ์ของตนว่าตอนนี้มีฐานะความเป็นอยู่ในระดับใด  สภาพแวดล้อมที่เราอาศัยอยู่เป็นแบบไหน  และเราควรต้องปฏิบัติตัวเช่นไรเพื่อให้สอดคล้อง  มีความเหมาะสมได้ นั่นคือหลักความพอเพียง  แต่ในทัศนะของผู้เรียนขอเสนอเพิ่มเติมว่า  หลักความพอเพียงนี้ไม่แตกต่างจากหลัก ความสันโดษ คือการสร้างใจของตนเองให้รู้สึกรัก  พอใจ  ยินดี กับของๆ ตนที่มีอยู่  ซึ่งพุทธองค์ทรงแนะนำพร่ำสอนเหล่าพุทธบริษัทให้มีหลักความสันโดษ  สอนแม้กระทั้งถึงการครองชีวิตคู่ ให้สันโดษในคู่ครอง  ถ้าอยากมากทุกข์มาก  ไม่อยากไม่ทุกข์  ความพอเพียงก็เช่นเดียวกัน  ถ้ายังอยากรวยจนเกินเหตุจะไม่มีทางเข้าใจหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงได้เลย

ขอเจริญพร


บรรยายโดย...พระมหาเฉลิมเกียรติ  แก้วหอม. น.ธ.เอก, ป.ธ.๓,
พธ.บ. (การเมืองการปกครอง), ศศ.ม. (ยุทธศาสตร์การพัฒนา)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น