วันอาทิตย์ที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2555

สรุปสารสำคัญแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 (2555-2559)

 บทนำ
           "การจะพัฒนาคนต้องพัฒนาที่จิตใจ" วลีดังกล่าวนี้เรามักคุ้นหูกันมากที่สุด นั่นก็หมายถึงว่า จิตใจ ถือเป็นแก่นสำคัญในงานด้านการพัฒนา  จะ พัฒนาเจริญรุ่งเรืองมากแต่ถ้าจิตใจไม่มีพัฒนาการตามไปด้วยก็ไม่เกิดผล (เสื่อมทราม) การจะพัฒนาประเทศก็เช่นเดียวกัน จะมุ่งความเจริญเติบโตด้านใดด้านหนึ่งไม่ได้  จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องให้ความสำคัญรอบด้าน (หลายมิติ) และการจะให้ฝ่ายปฏิบัติสามารถนำแผนไปสู่การปฏิบัติได้อย่างเกิดผล  ก็ ต้องมีการร่างแผนพัฒนาขึ้น ในอดีตเรียกแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ เมื่อการพัฒนามุ่งเน้นเฉพาะระบบเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว เพียงเพื่อต้องการหนีออกจากคำว่า “ประเทศด้อยพัฒนา, ประเทศกำลังพัฒนา, ประเทศที่สาม” กลับพบว่าผู้คนในประเทศยิ่งจนลงเรื่อยๆ ปัญหาด้านสังคมกลับทวีความรุนแรงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ฝ่ายบริหารต้องมีการทบทวนบทบาทตนเองใหม่  เพิ่ม คำว่าสังคมเข้าไปด้วย ทำให้ได้คำใหม่ซึ่งฟังดูดีขึ้นคือ “แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ” ปัจจุบันกำลังเริ่มใช้แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๑๑ (พ.ศ. ๒๕๕๕-๒๕๕๙) ช่วงภาวะเศรษฐกิจฟองสบู่ (พ.ศ.๒๕๔๐) ประเทศไทยประสบกับภาวะวิกฤตเศรษฐกิจตกต่ำ นอกจากนั้นประสบกับความไม่สมดุลที่เกิดจากการพัฒนาประเทศขาดความยั่งยืน เนื่องจากมุ่งการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว ขณะที่ด้านสังคมได้ประสบกับภาวะปัญหาต่างๆ และทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมีความเสื่อมโทรมลง  จึงมีการน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้  ซึ่งถือเป็นปรัชญาที่ชี้นำยุทธศาสตร์และนโยบายการพัฒนาประเทศที่มุ่งสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน  และมั่นคงทุกภาคส่วน
             แผน พัฒนาฯ ฉบับที่ ๑๑ (พ.ศ. ๒๕๕๕-๒๕๕๙) ก็ยังคงไว้ซึ่งหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเหมือนเดิมภายใต้หลัก “คนคือศูนย์กลางการพัฒนา” โดยใช้หลักเศรษฐกิจเป็นเครื่องมือในการพัฒนาคน (มนุษย์) ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นนั่นเอง  ซึ่งกระบวนการเรียนการสอนวิชา ทฤษฎีการพัฒนาประเทศอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่บรรยายโดย อ.ดร.วิเศษ  ชินวงศ์ ได้ฝึกให้นักศึกษามีทักษะด้านการคิดวิเคราะห์  และสังเคราะห์ จากแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๑๑ ว่ามีสาระสำคัญอย่างไรตามประเด็นที่ได้กำหนดไว้ให้   ซึ่งสามารถนำเสนอตามประเด็นต่างๆ ได้ดังนี้
 การเปลี่ยนแปลงระดับโลกและภายในประเทศไทย
             การประเมินสถานการณ์ด้านต่างๆ ที่ประเทศกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้  ซึ่งอาจจะเรียกว่าเป็นวิธีการหา SWOT Analysis ก็ไม่ผิด  เพื่อหาแนวทางว่าประเทศไทยมีจุดแข็ง-อ่อนอย่างไรบ้าง จากการประเมินสถานการณ์พบว่า
             ๑.๑   การเปลี่ยนแปลงในระดับโลกพบว่า
                     จากปัญหาวิกฤตด้านเศรษฐกิจและการเงินส่งผลให้หลายประเทศ หรือกลุ่มประเทศต่างๆ มีการปรับเปลี่ยนการบริหารจัดการด้านการค้า  การลงทุน  การเงิน  สิ่ง แวดล้อม และด้านสังคม ทั้งนี้ เพราะว่าปัจจัยเหล่านี้มีผลสืบเนื่องถึงกันอย่างเห็นได้ชัด ทุกฝ่ายจึงให้ความสำคัญด้านหลักธรรมาภิบาล คือความโปร่งใส  การแก้ปัญหาโลกร้อน  ให้การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา และสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศ  กลุ่ม ประเทศอุตสาหกรรมมีการปรับตัวเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจโลกแบบศูนย์กลางการผลิตที่ ใหญ่เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กลุ่มประเทศของตน และจากการคาดการณ์มีการมองว่าในอนาคตกลุ่มชนชั้นกลางของแต่ละประเทศจะเพิ่ม จำนวนปริมาณมากขึ้น  ก็เมื่อเป็นเช่นนี้ก็จะมีกำลังในการซื้อขายมากขึ้น  เห็น ได้จากในปัจจุบันมีการรวมกลุ่มทำสัญญาเสรีการค้าในหลายประเทศ ซึ่งสถานการณ์เช่นนี้นับว่าเป็นผลกระทบอย่างมากสำหรับประเทศที่กำลังพัฒนา  เพราะจำเป็นต้องมีการเร่งพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และระบบการพัฒนาต่างๆ ภายในประเทศอย่างเร่งด่วน
             ในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๑๑ นี้ ประชากรผู้สูงอายุในโลกจะเพิ่มปริมาณขึ้นอีก ๘๑.๙ ล้านคน  ส่งผลต่อภาคธุรกิจคือการสร้างงานต้องใช้ทักษะ  ความชำนาญ ควบคู่กับเทคโนโลยี ขณะเดียวกันประเทศที่มีผู้สูงอายุมากก็จะเพิ่มรายจ่ายเป็นจำนวนมาก  และที่สำคัญในสังคมจะมีความหลายหลายทางวัฒนธรรม  สภาพภูมิอากาศโลกมีความแปรปรวน ในช่วง ๓๐ ปีที่ผ่านมา อุณหภูมิโลกเฉลี่ยสูงขึ้น ๐.๒ องศาเซลเซียสต่อศตวรรษ  จากสภาพอากาศที่มีความแปรปรวนได้ก่อให้เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติบ่อยครั้งและทวีความรุนแรง อาทิ แผ่นดินไหว  ดินถล่ม  ภูเขาไฟระเบิด  อุทกภัย  วาตภัย  ภัยแล้ง  ไฟป่า  ระบบนิเวศในหลายพื้นที่ของโลกอ่อนแอ  บาง พื้นที่มีโรคระบาดมีแมลงศัตรูพืชสร้างความเสียหายแก่ผลผลิตทางการเกษตรและ ธัญญาหารของโลก รวมทั้งกระทบต่อภาคสังคม คือปัญหาความยากจน  การอพยพย้ายถิ่น และการแย่งชิงทรัพยากร  ปัจจุบัน กำลังการผลิตทางการเกษตรลดลงไม่เพียงพอต่อความต้องการ หรือไม่ก็มีราคาที่สูงเกินไปซึ่งสืบเนื่องมาจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางภูมิ อากาศโลก เมื่อปัญหาทั้งหมดทั้งมวลที่กล่าวมาทวีความรุนแรงขึ้น  มนุษย์ ก็เริ่มมองหาวิธีการที่จะมาแก้ไข สิ่งที่ช่วยได้มากที่สุดในขณะนี้คือการพัฒนาเทคโนโลยี ในปัจจุบันมีการนำเอาเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในชีวิตประจำวันมาก ซึ่งทั้งหมดนี้ก็ยังไม่สามารถตอบโจทย์หรือสนองความต้องการได้ทั้งหมด  เพราะมันยังมีทั้งคุณและโทษ ที่สำคัญยิ่งมีการพัฒนาระบบสารสนเทศได้มากแค่ไหน  ปัญหาการจารกรรมข้อมูลข่าวสารก็ย้อมมีมากขึ้นตามไปด้วย  ในหลายประเทศมีปัญหาการก่อการร้ายในรูปแบบต่างๆ และมีความสลับซับซ้อนเพิ่มขีดความสามารถในระดับชาติ  มีการช่วยเหลือจากประเทศต่างๆ ซึ่งส่งผลกระทบต่อความมั่งคงของประเทศ  ประเทศ ต่างๆ ต้องเร่งควบคุมปัจจัยที่หนุนการก่อการร้าย ต้องทั้งต้องมีการสร้างความร่วมมือในเวทีระหว่างประเทศเพื่อปกป้องผล ประโยชน์ของชาติจากภัยเหล่านี้
             ๑.๒    ความเปลี่ยนแปลงภายในประเทศ  การ เปลี่ยนแปลงภายในประเทศมีอยู่ ๔ หลักใหญ่ๆ คือ การเปลี่ยนแปลงสภาวะด้านเศรษฐกิจ ประเทศไทยมีอัตราการขยายตัวและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจอยู่ในเกณฑ์ดี ภาคอุตสาหกรรมมีบทบาทในการผลิตสูง ภาคการเกษตรเป็นแหล่งสร้างรายได้หลักของประชาชนและเป็นฐานการสร้างมูลค่า เพิ่ม  ด้านสังคมนั้น ประเทศไทยมีก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น วัยเด็กและวัยแรงงานลดลง ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรเสื่อมโทรมส่งผลซ้ำเติมให้ปัญหาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รุนแรง ด้านการบริหารจัดการพัฒนาประเทศ ปัจจุบันประชาชนมีความตื่นตัวทางการเมืองสูงขึ้น (อาจมาจากการสร้างแส) แต่ปัญหาความขัดแย้งยังคงอยู่ ส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจและการดำรงชีพของประชาชน ภาครัฐมีประสิทธิภาพแต่ก็ยังไม่สามารถป้องกันการทุจริตคอร์รัปชั่น ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญของไทยและการพัฒนาประเทศ
ความเสี่ยงของสังคมไทย
             ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่า  ประเทศ ไทยถ้าจะพัฒนาประเทศก้าวเข้าสู่เวทีโลก หรือแม้ที่กำลังเป็นกระแสอยู่ในขณะนี้ คือประชาคมอาเซียน ซึ่งมีประเทศสมาชิกในกลุ่มอุษาคเณย์เข้าร่วม จำเป็นอย่างยิ่งที่ประเทศไทยต้องมีการประเมินสถานการณ์ของตนเอง ซึ่งจากประเด็นดังกล่าวนี้ ประเทศไทยต้องเผชิญ คือพร้อมที่เผชิญกับการเปลี่ยนแปลงอย่างมีประสิทธิภาพ คือ
             ๑. การบริหารภาครัฐที่อ่อนแอไม่สามารถขับเคลื่อนการบริหารได้อย่างเต็มขีดความ สามารถ และอำนาจรัฐถูกใช้เพื่อผลประโยชน์ของคนบางกลุ่ม ประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายสาธารณะน้อย
             ๒.  โครง สร้างทางเศรษฐกิจไม่สามารถรองรับการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน ตราบใดที่ระบบเศรษฐกิจของไทยยังคงพึ่งพากลไกเศรษฐกิจโลก หรือการนำเข้าจากต่างประเทศมากเท่าไหร่  ระบบเศรษฐกิจภายในประเทศก็ยิ่งมีความผันผวนอยู่เสมอ  ประชาชนของประเทศส่วนใหญ่ยังคงอยู่ในระดับฐานราก
             ๓. โครงสร้างประชากรที่มีวัยสูงอายุเพิ่มขึ้น ขณะที่ประชากรวัยเด็กและวัยแรงงานลดลง ปี พ.ศ. ๒๕๖๘ คาดการณ์ว่าประเทศไทยจะกลายเป็นประเทศสังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์  การ แข่งขันเพื่อแย่งชิงกำลังแรงงานจะเกิดขึ้น ในปัจจุบันงานก่อสร้างตาม ๓ จังหวัดชายแดนอีสานตอนล่าง เริ่มมีกลุ่มแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาขายแรงงานกันมากขึ้น
             ๔. ค่านิยมที่ดีงานเสื่อมถอยและประเพณีดั้งเดิมถูกบิดเบือน เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงภายใต้กระแสโลกาภิวัฒน์  ส่งผลให้สังคมไทยเป็นสังคมวัตถุนิยม (คนที่พูดประเด็นนี้กลับเป็นผู้นำกระแสโลกาภิวัตน์เสียเอง  แต่ผู้ที่เขาอยู่กับประเพณีนิยม ความเป็นท้องถิ่น กลับมองว่าล้าสมัย อนุรักษ์นิยม หัวโบราณ)
             ๕. ฐานทรัพยากรธรรมชาติและสภาพแวดล้อมของประเทศมีแนวโน้มเสื่อมโทรมรุนแรง เนื่องจากปัจจัยความจำเป็นพื้นฐานของคนในสังคม ผนวกกับปัญหาภัยธรรมชาติ และความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ แต่ก็ไม่ร้ายแรงเท่าการสร้างชุมชนในเขตบริเวณที่เป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติ คนรากฐานก็ต้องการที่ทำกิน เพื่อทำการเกษตร  ส่วนคนชั้นกลางขึ้นไปต้องการสร้างระบบเศรษฐกิจการท่องเที่ยว บ้านเช่า โรงแรม ทำทุกวิถีทางเพื่อให้สามารถเข้าถึงพื้นที่ให้ได้
             ๖. ประเทศไทยยังคงมีความเสี่ยงด้านความมั่นคง ความเสี่ยงด้านนี้ถือเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ยากจะแก้ไข  แต่ก็ไม่เกินความสามารถถ้าทุกฝ่ายช่วยกัน เพื่อผลประโยชน์ของชาติอย่างแท้จริง
             ซึ่งจากปัญหาความเสี่ยงที่ประเทศกำลังประสบอยู่และจะประสบในอนาคตเมื่อประเทศก้าวเข้าสู่เวทีโลก  ดังนั้นประเทศต้องสร้างภูมิคุ้มกันให้ตนเอง  ซึ่งในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๑๑ นี้ กำหนดไว้ ๕ ประเด็นด้วยกันคือ
             ๑. ประเทศไทยจะต้องมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็น ประมุขของประเทศชาติเท่านั้น ซึ่งสถาบันที่คอยเชื่อมโยงทักทอเส้นใยให้คนในชาติมีความกลมเกลียวกัน
             ๒. การพัฒนาประเทศจำเป็นต้องให้อยู่บนฐานความรู้และเทคโนโลยีที่ทันสมัย สิ่งเหล่านี้จะปฏิเสธเลยทีเดียวไม่ได้ แต่ทำอย่างไรจึงจะสามารถปรับประสานให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมในท้องถิ่นของตน ให้ได้
             ๓. สังคมไทยมีค่านิยมและวัฒนธรรมที่ดีงาม อัตลักษณ์ความเป็นไทยดีอยู่แล้ว แต่ตัวแปรที่สำคัญที่สามารถส่งผลให้คนในสังคมมีการเปลี่ยนแปลงได้ นั่นคือศาสนา ศาสนาที่คนไทยรู้จักและคุ้นเคยมากที่สุด คือพระพุทธศาสนา
             ๔. ภาคการเกษตรเป็นฐานรากได้หลักและความมั่นคงด้านอาหารของประเทศ แหล่งพลังงานที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทยคือ ภาคการเกษตร เป็นแหล่งสร้างรายได้อย่างยั่งยืนให้กับคนในสังคมได้เป็นอย่างดี
             ๕. ชุมชนท้องถิ่นเป็นกลไกที่มีความสามารถในการบริหารจัดการ มีส่วนร่วมในการพัฒนาคุณภาพชีวิตและเชื่อมโยงกันเป็นสังคมสวัสดิการ ในท้องถิ่นมีทุกอย่าง แต่แนะนำให้ทุกคนรู้จักนำมาใช้ ให้เหมาะสม
ทิศทางการพัฒนาประเทศ
             การ พัฒนาประเทศไทยระยะแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๑๑ ตระหนักถึงสถานการณ์และความเสี่ยงซึ่งเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงในระดับโลก และภายในประเทศ โดยเฉพาะด้านความผันผวนทางเศรษฐกิจ พลังงาน และภูมิอากาศ ภายใต้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยให้ความสำคัญด้านการพัฒนาระบบเศรษฐกิจภาคการเกษตร พร้อมก้าวสู่ประชาคมอาเซียนในปี ๒๕๕๘  ที่มีความพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน
             ดัง นั้น กล่าวได้ว่าทิศทางการพัฒนาประเทศในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๑๑ คือการสร้างภูมิคุ้มกันในมิติต่าง ๆ เพื่อให้การพัฒนาประเทศมีความสมดุลและยั่งยืน โดยมีการนำทุนด้านต่างๆ ที่ประเทศมีอยู่มาใช้ประโยชน์อย่างบูรณาการและเกื้อกูลกัน พร้อมทั้งเสริมสร้างให้แข็งแกร่งเพื่อเป็นรากฐานการพัฒนาประเทศ คือพัฒนาคนและสังคมไทยสู่สังคมคุณภาพ       
วิสัยทัศน์  พันธกิจ  วัตถุประสงค์และเป้าหมายการพัฒนาประเทศ
             “คน ไทยภาคภูมิใจในความเป็นไทย มีมิตรไมตรีบนวิถีชีวิตแห่งความพอเพียง ยึดมั่นในวัฒนธรรมประชาธิปไตย และหลักธรรมาภิบาล การบริการสาธารณะขั้นพื้นฐานที่ทั่วถึง มีคุณภาพ สังคมมีความปลอดภัยและมั่นคง อยู่ในสภาวะแวดล้อมที่ดี เกื้อกูลและเอื้ออาทรซึ่งกันและกัน ระบบการผลิตเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมีความมั่นคงด้านอาหารและพลังงาน อยู่บนฐานทางเศรษฐกิจที่พึ่งตนเองและแข่งขันได้ในเวทีโลก สามารถอยู่ในประชาคมภูมิภาคและโลกได้อย่างมีศักดิ์ศรี” นี่คือกรอบทิศทางการพัฒนาประเทศระยะกลางที่มุ่งสู่วิสัยทัศน์ระยะยาวของแผน พัฒนาฯ ฉบับที่ ๑๑
             วิสัยทัศน์
             “สังคมอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข  ด้วยความเสมอภาค เป็นธรรม และมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลง”
             พันธกิจ
             ๑. สร้างสังคมเป็นธรรมและเป็นสังคมที่มีคุณภาพ  ทุกคนมีความมั่งคงในชีวิต  ได้รับการคุ้มครองทางสังคมที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม มีโอกาสเข้าถึงทรัพยากรและกระบวนการยุติธรรมอย่างเสมอภาค   ทุกภาคส่วนได้รับการเสริมพลังให้สามารถมีส่วนร่วมในกระบวนการพัฒนา  ภายใต้ระบบบริหารจัดการภาครัฐที่โปร่งใส เป็นธรรม
             ๒. พัฒนาคุณภาพคนไทยให้มีคุณธรรม เรียนรู้ตลอดชีวิต มีทักษะและการดำรงชีวิตอย่างเหมาะสมในแต่ละช่วงวัย  สถาบันทางสังคมและชุมชนท้องถิ่นมีความเข้มแข็ง  สามารถปรับตัวรู้เท่าทันกับกาดรเปลี่ยนแปลง
             ๓. พัฒนาฐานการผลิตและบริการให้เข้มแข็งและมีคุณภาพบนฐานความรู้ ความคิดสร้างสรรค์ และภูมิปัญญา  สร้างความมั่นคงด้านอาหารและพลังงาน ปรับโครงสร้างการผลิตและการบริโภคให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม  พร้อมสร้างความเชื่อมโยงกับประเทศในภูมิภาคเพื่อความมั่งคงทางเศรษฐกิจและสังคม
             ๔. สร้างความมั่งคงของฐานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สนับสนุนการมีส่วนร่วมของชุมชน รวมทั้งสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อรองรับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และภัยพิบัติทางธรรมชาติ
             วัตถุประสงค์
             ๑. เพื่อเสริมสร้างสังคมที่เป็นธรรมและเป็นสังคมสันติสุข
             ๒. เพื่อพัฒนาคนไทยทุกกลุ่มวัยอย่างเป็นองค์รวมทั้งทางกาย ใจ สิตปัญญา อารมณ์ คุณธรรม จริยธรรม และสถาบันทางสังคมมีบทบาทหลักในการพัฒนาคนให้มีคุณภาพ
             ๓. เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างมีเสถียรภาพ  คุณภาพ และยั่งยืน  มีความเชื่อมโยงเครือข่ายการผลิตสินค้าและบริการบนฐานปัญญา  นวัตกรรม  และความคิดสร้างสรรค์ในภูมิภาคอาเซียน  มีความมั่นคงทางอาหารและพลังงาน การผลิตและการบริโภคเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นำไปสู่การเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ
             ๔. เพื่ออบริหารจัดการทรัพยากรธรรมและสิ่งแวดล้อมให้เพียงพอต่อการรักษาสมดุลของระบบนิเวศ และเป็นฐานที่มั่นคงของการพัฒนาประเทศ
             เป้าหมาย
             ๑. ความอยู่เย็นเป็นสุขและความสงบสุขของสังคมไทยเพิ่มขึ้น  ความเหลื่อมล้ำในสังคมลดลง  สัดส่วนผู้อยู่ใต้เส้นความยากจนลดลง  และดัชนีภาพลักษณ์การคอร์รัปชั่นไม่ต่ำกว่า ๕.๐ คะแนน
             ๒. คนไทยมีการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง มีสุขภาวะดีขึ้น มีคุณธรรม จริยธรรม และสถาบันทางสังคมมีความเข้มแข็งมากขึ้น
             ๓. เศรษฐกิจเติบโตในอัตราที่เหมาะสมตามศักยภาพของประเทศ  ให้ ความสำคัญกับการเพิ่มผลิตภาพรวมไม่ต่ำกว่าร้อยละ ๓.๐ ต่อปี เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประเทศเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ ของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ให้มีไม่ต่ำกว่าร้อยละ ๔๐.๐
             ๔. คุณภาพสิ่งแวดล้อมอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน เพิ่มประสิทธิภาพการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมทั้งเพิ่มพื้นที่ป่าไม้เพื่อรักษาสมดุลของระบบนิเวศ
ยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ
             ยุทธศาสตร์ การพัฒนาประเทศในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๑๑ นี้มุ่งสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อป้องกันปัจจัยเสี่ยง และเสริมรากฐานของประเทศด้านต่างๆ ให้เข้มแข็งควบคู่กับการพัฒนาคนและสังคมให้มีคุณภาพเข้าถึงทรัพยากรและได้ รับประโยชน์จากแผนพัฒนาฯ ฉบับนี้อย่างเป็นธรรม อันจะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป ซึ่งมียุทธศาสตร์การพัฒนาทั้งหมด ๖ ยุทธศาสตร์ และมีกลยุทธ์ย่อยไปอีก ดังนี้
             ๑.    ยุทธศาสตร์สร้างความเป็นธรรมในสังคม ซึ่งให้ความสำคัญกับประเด็นเหล่านี้คือ
                   ๑.๑  การ สร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคมให้ทุกคนในสังคมไทยควบคู่กับการเสริม สร้างขีดความสามารถในการจัดการความเสี่ยงและสร้างโอกาสในชีวิตให้แก่ตนเอง
                   ๑.๒  การจัดบริการทางสังคมให้ทุกคนตามสิทธิขั้นพื้นฐาน  เน้นการสร้างภูมิคุ้มกันระดับปัจเจก  และสร้างการมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจในการพัฒนาประเทศ
                   ๑.๓  การ เสริมสร้างพลังให้ทุกภาคส่วนสามารถเพิ่มทางเลือกการใช้ชีวิตในสังคมและมี ส่วนร่วมในเชิงเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองได้อย่างมีคุณค่าและศักดิ์ศรี
                   ๑.๔  การสานสร้างความสัมพันธ์ของคนในสังคมให้มีคุณค่าร่วมและตระหนักถึงผลประโยชน์ของสังคม  และเสริมสร้างการบริหารราชการแผ่นดินที่มีประสิทธิภาพ
             ๒.    ยุทธศาสตร์การพัฒนาคนสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างยั่งยืน โดยให้ความสำคัญกับประเด็นเหล่านี้ คือ
                   ๒.๑  การปรับโครงสร้างและการกระจายตัวประชากรให้เหมาะสม
                   ๒.๒  การพัฒนาคุณภาพคนไทยให้มีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลง
                   ๒.๓  การส่งเสริมการลดปัจจัยเสี่ยงด้านสุขภาพอย่างเป็นองค์รวม
                   ๒.๔  การส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต
                   ๒.๕  การเสริมสร้างความเข้มแข็งของสถาบันทางสังคม
             ๓.    ยุทธศาสตร์ความเข้มแข็งภาคเกษตร ความมั่นคงของอาหารและพลังงาน โดยให้ความสำคัญกับประเด็นเหล่านี้ คือ
                   ๓.๑  การพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติที่เป็นฐานการผลิตภาคเกษตรให้เข้มแข็งและยั่งยืน
                   ๓.๒  การเพิ่มประสิทธิภาพและศักยภาพการผลิตภาคเกษตร
                   ๓.๓  การสร้างมูลค่าเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรตลอดห่วงโซ่การผลิต
                   ๓.๔  การสร้างความมั่นคงในอาชีพและรายได้ให้แก่เกษตรกร
                   ๓.๕  การสร้างความมั่นคงด้านอาหารและพัฒนาพลังงานชีวภาพในระดับครัวเรือนและชุมชน
                   ๓.๖  การสร้างความมันคงด้านพลังงานชีวภาพเพื่อสนับสนุนการพัฒนาประเทศและความเข้มแข็งภาคเกษตร
                   ๓.๗  การปรับระบบบริหารจัดการภาครัฐเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงด้านอาหารและพลังงาน
             ๔.    ยุทธศาสตร์การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจสู่การเติบโตอย่างมีคุณภาพและยั่งยืน โดยให้ความสำคัญกับประเด็นเหล่านี้ คือ
                   ๔.๑  การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่มีคุณภาพและยั่งยืน
                   ๔.๒  การพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี  วิจัย  และนวัตกรรม
                   ๔.๓  การพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันที่มีประสิทธิภาพ เท่าเทียม และเป็นธรรม
                   ๔.๔  การบริหารจัดการเศรษฐกิจส่วนรวมอย่างมีเสถียรภาพ
             ๕.    ยุทธศาสตร์การสร้างความเชื่อมโยงกับประเทศในภูมิภาคเพื่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม โดยให้ความสำคัญกับประเด็นเหล่านี้ คือ
                   ๕.๑  การพัฒนาความเชื่อมโยงด้านการขนส่งและระบบโลจิสติกส์ภายใต้กรอบความร่วมมือในอนุภูมิภาคต่างๆ
                   ๕.๒  การพัฒนาฐานลงทุนโดยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันระดับอนุภูมิภาค
                   ๕.๓  การสร้างความพร้อมในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน
                   ๕.๔  การ เข้าร่วมเป็นภาคีความร่วมมือระหว่างประเทศและภูมิภาคภายใต้บทบาทที่สร้าง สรรค์ เป็นทางเลือกในการดำเนินนโยบายระหว่างประเทศในเวทีโลก
                   ๕.๕  การสร้างความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจในภูมิภาคด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์การเคลื่อนย้ายแรงงาน และการส่งเสริมแรงงานไทยในต่างประเทศ
                   ๕.๖  การมีส่วนร่วมอย่างสำคัญในการสร้างสังคมนานาชาติที่มีคุณภาพชีวิต  ป้องกันภัยจากการก่อการร้ายและอาชญากรรม  ยาเสพติด ภัยพิบัติ  และการแพร่ระบาดของโรคภัย
                   ๕.๗  การเสริมสร้างความร่วมมือที่ดีระหว่างประเทศในการสนับสนุนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมีจริยธรรมและไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม  พร้อมทั้งเปิดรับความร่วมมือกับองค์กรระหว่างประเทศที่ไม่แสวงหากำไร
                   ๕.๘  การเร่งรัดการใช้ประโยชน์จากข้อตกลงการค้าเสรีที่มีผลบังคับใช้แล้ว
                   ๕.๙  การส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นฐานการลงทุน  และการประกอบธุรกิจในเอเชีย รวมทั้งเป็นฐานความร่วมมือในการพัฒนาภูมิภาค
                 ๕.๑๐  การปรับปรุงและเสริมสร้างความเข้มแข็งของภาคีการพัฒนาภายในประเทศตั้งแต่ระดับชุมชนท้องถิ่น
             ๖.    ยุทธศาสตร์ การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน โดยให้ความสำคัญกับประเด็นเหล่านี้ คือโดยให้ความสำคัญกับประเด็นเหล่านี้ คือ
                   ๖.๑  การอนุรักษ์ ฟื้นฟู และสร้างความมั่นคงของฐานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
                   ๖.๒  การปรับกระบวนทัศน์การพัฒนาและขับเคลื่อนประเทศเพื่อเตรียมพร้อมไปสู่การเป็นเศรษฐกิจและสังคมคาร์บอนต่ำและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
                   ๖.๓  การยกระดับขีดความสามารถในการรองรับและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อให้สังคมมีภูมิคุ้มกัน
                   ๖.๔  การเตรียมความพร้อมรองรับการภัยพิบัติทางธรรมชาติ
                   ๖.๕  การสร้างภูมิคุ้มกันด้านการค้าจากเงื่อนไขด้านสิ่งแวดล้อมและวิกฤตจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
                   ๖.๖  การเพิ่มบทบาทประเทศไทยในเวทีประชาคมโลกที่เกี่ยวข้องกับกรอบความตกลงและพันธกรณีด้านสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศ
                   ๖.๗  การควบคุมและลดมลพิษ
                   ๖.๘  การพัฒนาระบบการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้มีประสิทธิภาพ โปร่งใสและเป็นธรรมอย่างบูรณาการ
            
ประเด็นที่ต้องการพัฒนาสู่การจัดทำวิทยานิพนธ์ (Dissertation)
          จาก การศึกษาสรุปสาระการเรียนรู้จากแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๑๑ ผู้เรียนมีประเด็นที่สนใจในการนำไปพัฒนาสู่การจัดทำดุษฎีนิพนธ์ต่อไปใน ประเด็น  การเมืองภาคประชาชน   โดยนำหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาเข้ามาปรับใช้   ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ด้านการสร้างความเชื่อมโยงกับประเทศในภูมิภาคเพื่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม   ที่ให้ความสำคัญกับการเข้าร่วมเป็นภาคีความร่วมมือระหว่างประเทศและภูมิภาคภายใต้บทบาทที่สร้างสรรค์  เป็นทางเลือกในการดำเนินนโยบายระหว่างประเทศในเวทีโลก
          ประเด็นที่สนใจ คือ รูปแบบวิถีประชาธิปไตยตามหลักอปริหานิยธรรม ของผู้บริหารสถานศึกษาและบุคลากรทางการศึกษาในโรงเรียนกลุ่มชาติพันธุ์ไทย-เขมร



 พระมหาเฉลิมเกียรติ  แก้วหอม. พธ.ธ.(การเมืองการปกครอง), ศศ.ม. (ยุทธศาสตร์การพัฒนา)   

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น