วันอาทิตย์ที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2555

แนวคิดการพัฒนาแบบยั่งยืน : การแก้ปัญหาการว่างงาน ในสังคมชนบท จังหวัดสุรินทร์

แนวคิดการพัฒนาแบบยั่งยืน : การแก้ปัญหาการว่างงาน
ในสังคมชนบท จังหวัดสุรินทร์

โดย..พระมหาเฉลิมเกียรติ แก้วหอม
ศศ.ม. (ยุทธศาสตร์การพัฒนา)  มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์


บทนำ
            ในปัจจุบันอำนาจการบริหารรัฐได้กระจายอำนาจลงสู่ภาคประชาชน คือท้องถิ่น โดยรัฐมุ่งให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ ถ่วงดุลอำนาจรัฐ ซึ่งแตกต่างจากอำนาจการบริหารเมื่อก่อนที่มีการรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ส่วนกลาง ในยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงระบบโลกาภิวัตน์มีส่วนทำให้ประเทศต่างๆ โดยเฉพาะประเทศที่กำลังพัฒนามุ่งให้ความสำคัญกับการพัฒนา เศรษฐกิจ และสังคม เพราะถือเป็นปัจจัยพื้นฐานที่มนุษย์ต้องพึ่งพาอาศัยในการดำรงชีพ
           ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยเป็นภาคที่ประชาชนส่วนใหญ่มีความยากจน มีพื้นที่ทางการเกษตรที่แห้งแล้งที่สุด ระบบชลประทานมีการจัดการที่ยังไม่ดีพอ ด้านการศึกษาประชาชนมีวุฒิทางการศึกษาที่แตกต่างกันถ้าเปรียบเทียบกับภาค อื่นๆ อยู่ในขั้นต่ำ (ดร.จอร์น โมเดล, ดร.อภิชาติ จำรัสฤทธิ์รงค์ และดร.นิพนธ์ เทพวัลย์. ผู้แปล นภาภรณ์ หะอานนท์. 2530 : 13) ใน ช่วงฤดูเก็บเกี่ยวประชาชนที่มีอาชีพเกษตรมีรายได้เป็นก้อน หลังจากเก็บเกี่ยวเสร็จก็ว่างงานว่างจากรายได้หนุ่มสาวในชุมชนเดินทางเข้า เมืองหลวง หรือจังหวัดใกล้เคียงหาอาชีพเสริมเพิ่มรายได้ เพื่อรอฤดูทำนา ปล่อยให้คนแก่ เด็ก อยู่บ้าน จังหวัดสุรินทร์เป็นจังหวัดหนึ่งที่ประชาชนโดยรวมมีอาชีพทำไร่ ทำนา กำลังประสบปัญหาการว่างงาน ไม่มีรายได้ในช่วงหลังการเก็บเกี่ยว ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบหลายอย่างตามมา เช่น หนี้นอกระบบ เด็กไม่ได้รับการศึกษา วัยรุ่นยกพวกตีกัน กินเหล้า การหย่าร้าง

ความหมายการพัฒนาแบบยั่งยืน
            การพัฒนาแบบยั่งยืน (Sustainable development) คำว่า Sustainable มีรากศัพท์มาจากภาษาฝรั่งเศส คือ Soutenir ซึ่ง แปลว่าช่วยเหลือหรือสนับสนุน ต่อมานำมาใช้ในความหมายของความสามารถในการช่วยเหลือสนับสนุน รักษา และความสามารถในการรักษาไว้ได้ ส่วนคำว่าการพัฒนา (Development) นั้น Herman E.Daly ได้ให้คำจำกัดความว่า การเจริญเติบโต (Growth) ซึ่งหมายถึงการขยายตัวในมิติทางกายภาพ (Physical Dimension) หมายถึง การเปลี่ยนแปลงเชิงคุณภาพของระบบ (วัลลภ ทองอ่อน. อ้างใน (Qualitative Change ) Herman E. Daly 1991:33)
            ดังนั้น การพัฒนาแบบยั่งยืน (Sustainable development) หมายถึงการเปลี่ยนแปลงที่ก่อให้เกิดการสนับสนุน ส่งเสริม อย่างต่อเนื่อง และส่งผลต่อชุมชนมากที่สุด

ชุมชนท้องถิ่นกับนโยบายด้านการพัฒนา
            นโยบาย การพัฒนาท้องถิ่นของภาครัฐส่วนใหญ่อยู่ในรูปการจัดตั้ง จัดให้ เช่นโครงการมอบกล้ายาง มอบโค-กระบือ โครงการสร้างถนน คสล. ฯลฯ หรือแม้แต่โครงการหมู่บ้านละหนึ่งล้าน ไม่ได้สำรวจความต้องการของประชาชนในท้องถิ่นก่อนว่าต้องการอะไร มีพระบรมราโชวาทส่งเสริมการปฏิบัติงานตอนหนึ่งว่า (2550 : 32) “นอก จากอาศัยความรู้ความสามารถที่ได้ศึกษามาแล้ว ต้องมีความรอบรู้ เข้าใจอันกระจ่างและเพียงพอใจข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสภาวะแวดล้อม และสถานการณ์เกี่ยวกับงานที่จะทำทั้งหมด รวมทั้งระบบชีวิตของคนไทยอันได้แก่ ความเป็นอยู่ ความต้องการ วัฒนธรรม และความรู้สึกสำนึกคิดโดยเบ็ดเสร็จจึงจะทำงานให้บรรลุเป้าหมายได้การ ที่ภาครัฐจัดสรรโครงการเช่นนี้ให้ถือเป็นการดีสำหรับบางชุมชนที่รู้จักการ บริหารจัดการให้เป็นประโยชน์ เช่น ชุมชนเมือง แต่สำหรับชุมชนที่ประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่ทันต่อการรับรู้ข่าวสาร มีระดับการศึกษาไม่เท่าเทียมกัน ไม่สามารถบริหารให้เกิดเป็นรูปธรรมได้ เข้าทำนองว่าประชาชนคอยแบมือรับการช่วยเหลืออย่างเดียวส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะมีค่านิยมว่า การมีน้ำประปาไหล ไฟฟ้าสว่าง ถนนดี คือการพัฒนา
             จากนโยบาย การบริหารในระดับท้องถิ่นในจังหวัดสุรินทร์มีประเด็นยุทธศาสตร์ด้านเกษตร อินทรีย์ ที่มุ่งเพิ่มศักยภาพการผลิต การแปรรูป และการตลาด (ใฉน เฉิดฉาย. ม.ป.ป : 54) เป็นยุทธศาสตร์ที่ชี้ชวนให้มีความ รู้สึกว่าภาคการเกษตรของจังหวัดมีศักยภาพมาก แต่ในสภาวการณ์ที่เป็นจริงกลับตรงกันข้ามเกษตรกรประสบปัญหาการว่างงานหลัง ฤดูการเก็บเกี่ยว และที่เป็นปัญหาน่ากลัวสำหรับนักพัฒนาชุมชนเกษตรกรมีความคิดว่า ไม่รู้จะทำอะไรบาง ชุมชนได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐให้การช่วยเหลือส่งเสริมอาชีพให้เกษตรกรมี รายได้เสริม เช่นที่บ้านชำปะโต อำเภอบัวเชด ชาวบ้านทำเฟอร์นิเจอร์จากรากไม้ ซึ่งจากหมู่บ้านเล็กๆ อาศัยการหาของป่ามาขาย หนุ่มสาวเดินทางเข้ากรุงเทพฯ ปัจจุบันนี้ทุกภาคส่วนทั้งในอำเภอ และจังหวัดต่างก็รู้จักสินค้า OTOP หมู่บ้านชำปะโต ทำให้ชาวบ้านมีรายได้พออยู่พอกินเศรษฐกิจครอบครัวดีขึ้น

เศรษฐกิจชุมชนคือรากแก้วในสังคม
            ฉัตรทิพย์ นาถสุภา. (2548 : 35) ได้ ให้ความหมายเศรษฐกิจชุมชน คือการเข้าใจความต้องการของชุมชน ให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการกำหนดแผนงานโดยตัวของเขาเอง พัฒนาความสามารถอยู่รอดด้วยตนเอง เพราะครอบครัวถือเป็นหน่วยการผลิตที่มีสมาชิกในครอบครัวเป็นแรงงานที่สำคัญ ซึ่งอยู่โดยธรรมชาติ จากคำกล่าวดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า คนในครอบครัวหนึ่งๆ เป็นเครื่องจักรที่ช่วยขับเคลื่อนระบบในชุมชนให้มีความก้าวหน้าได้ดี ซึ่งมีความสอดคล้องกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงที่มุ่งให้คนใน ระดับรากหญ้า ชุมชน จังหวัด ประเทศ และโลก ดำเนินชีวิตอย่างพอเพียง โดยมีหลักการว่า 1.) ต้องมีความพอประมาณ หมายถึง ความพอดี ไม่มากไม่น้อยเกินไป ไม่เบียดเบียนใคร 2.) ความมีเหตุผล หมายถึง การตัดสินใจเกี่ยวกับระดับความพอเพียงต้องมีเหตุผล และ 3.) การ สร้างภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว หมายถึง การเตรียมตัวให้พร้อมรับผลกระทบ และการเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆ โดยคำนึงถึงความเป็นไปได้ ซึ่งทำให้ประชาชนมีความรู้มีคุณธรรมสามารถนำไปสู่การพัฒนาชุมชนให้มีความ สมดุล มั่นคง และยั่งยืน (เอกสารประกอบการประชุมผู้บริหาร และท้องถิ่นจังหวัด. 2550 : 13-14)

ทฤษฎีและกลยุทธการพัฒนาสังคมชนบท
            การพัฒนาชุมชนแบบยั่งยืนในชนบทจังหวัดสุรินทร์ เป็นไปตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 (2550-2554) โดย มุ่งพัฒนาคนภายในชาติมีความเป็นอยู่ที่ดี มีความสุข ยึดหลักความพอเพียง กรอบแนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืนมั่นคงในที่นี้นั้นมุ่งเน้นการพัฒนาคนในชุมชน ให้มีศักยภาพ ให้มีความพร้อม เช่นว่าจากคนที่ไม่รู้ ไม่เป็น ไม่มีอาชีพก็ให้มีความรู้ มีอาชีพ สามารถดำรงตนอยู่ได้ในสังคมนั้นๆ จึงจะทำให้ระบบการพัฒนาในชุมชนมีการขับเคลื่อนไปได้ตามหลักแนวคิดทฤษฎีต่างๆ สำหรับแนวคิดทฤษฎีที่นำมาอ้างอิงในการเสนอแนวคิดการพัฒนาในครั้งนี้ คือทฤษฎีการพัฒนาสังคมและการแพร่กระจาย คือการพัฒนาต้องอาศัยปัจจัย 6 ประการ คือ ทรัพยากรธรรมชาติ มนุษย์ องค์การสังคม ภาวะผู้นำ การติดต่อโลกภายนอก และการฝึกอบรม สำหรับการฝึกอบรมนั้นยิ่งมีมากแค่ไหนยิ่งเป็นการดี (สัญญา สัญญาวิวัฒน์. 2550 : 14) จากปัญหาการว่างงานของผู้ คนในชุมชนถ้าเราเอาหลักทฤษฎีการแพร่กระจายไปจับวิเคราะห์จะเห็นว่า ชุมชนเกือบทุกชุมชนขาดภาวะผู้นำ ขาดการติดต่อกับโลกภายนอก ขาดการฝึกอบรมเสริมศักยภาพ ในการพัฒนาระดับประเทศในหลวงถือว่าเป็นผู้ที่มีวุฒิภาวะความเป็นผู้สูง พระองค์ทรงเสียสละเพื่อปวงชนชาวไทยมาก ในชุมชนหนึ่งๆ ด้านผู้นำ เป็นสิ่งที่สำคัญต้องมีผู้ที่กล้าคิด กล้าทำ ให้เป็นแบบอย่างชุมชนจึงมีความเข้มแข็ง ด้านการติดต่อกับโลกภายนอก เมื่อ 10 ปี เป็นอย่างไร ณ วันนี้ก็เป็นอย่างนั้น เราต้องยอมรับว่าชาวชนบทนั้นมีการเป็นอยู่เหมือนคนหลังเขา คือไม่ทันเหตุการณ์บ้านเมืองเท่าที่ควร ถึงได้รับก็ได้รับแบบไม่ได้ใช้องค์ความรู้ที่มีอยู่ ทำนองว่าเป็นผู้บริโภคสื่อฝ่ายเดียว ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนามาก ชุมชนที่มีการพัฒนาก้าวหน้าก็เนื่องจากมีการติดต่อภายนอก เป็นการเปิดโลกแห่งการเรียนรู้ รู้จักวิธีการหาตลาด หาพ่อค้าคนกลางรับซื้อผลผลิตที่ผลิตได้ก็ขายได้ ทำให้มีรายได้พออยู่พอกินในครอบครัวตนเอง ด้านการฝึกอบรม ชุมชนชนบทเกือบทุกชุมชนการฝึกอบรม ส่งเสริมอาชีพ ไม่สอดคล้องกับความต้องการของชาวบ้านในชุมชน ส่วนใหญ่เป็นการฝึกอบรม กลุ่ม อสม. กลุ่มแม่บ้าน การทำปุ๋ยหมักชีวภาพ จริงอยู่คือกระบวนการเหล่านี้มีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์จังหวัด และกลุ่มจังหวัดอีสานตอนใต้ แต่การฝึกวิชาชีพให้ชุมชนได้นำไปใช้ให้เกิดผลในการเลี้ยงครอบครัวตัวเองใน ช่วงฤดูว่างงานนั้นไม่มี กลุ่มแม่บ้านที่จัดตั้งขึ้นมาก็ค่อนข้างมีศักยภาพน้อย (ยก เว้นบางชุมชนที่มีกลุ่มแม่บ้านมีอาชีพเป็นของกลุ่ม) เช่นการขอความร่วมมือกับศูนย์ฝึกฝีมือแรงงานในจังหวัดเป็นวิทยากรให้ความรู้ หรือหลักสูตรระยะสั้นของวิทยาลัยสารพัดช่าง เป็นต้น
            ทฤษฎี การยอมรับสิ่งใหม่ แนวคิดนี้เป็นสิ่งนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงขึ้นในสังคม เพราะมีความสัมพันธ์กับบุคลิกภาพ ความรู้ ความเข้าใจ ทัศนคติ ค่านิยมของคนในสังคมที่แตกต่างกัน (ประวัติ สมเป็น. 2550 : 21) บ่อเกิดแห่งนวัตกรรมใหม่ที่จะนำไปสู่การยอมคือ 1.) การค้นพบ (Discover) การค้นพบพืชผลทางเกษตรสมัยใหม่ๆ ทำให้ชาวบ้านได้เปลี่ยนอาชีพ ช่วยให้มีรายได้ดีกว่าเดิม 2.) การประดิษฐ์คิดค้น (Invention) การ คิดค้นสิ่งใหม่ที่มีประโยชน์ต่อชุมชนทำให้ชุมชนหันมาใช้กันมากขึ้น เช่นเมื่อก่อนการทำนาใช้ควายลากคันไถ แต่ทุกวันนี้ใช้รถไถนาเดินตามซึ่งช่วยประหยัดแรงและใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง 3.) การแพร่กระจาย (Diffusion) การ ได้รับข่าวสารการพัฒนาจากท้องถิ่นอื่นๆ ที่มีอาชีพในลักษณะเดียวกันมีรายได้ดีกว่า หรือการเรียนรู้เทคนิควิธีการใหม่ๆ เพื่อนำมาปรับใช้ในอาชีพของตนเอง
ดัง นั้น ชุมชนทุกชุมชนต้องการ และปรารถนามากที่สุดคือ ผู้นำ เมื่อมีผู้นำคิด นำทำ ชาวบ้านก็กล้าที่จะลุกขึ้นก้าวไปข้างหน้า การติดต่อกับโลกภายนอกก็เป็นสิ่งสำคัญทำช่วยให้ชุมชนรู้จักประเมินความเป็น อยู่ของตนเองได้ว่าเจริญขึ้นหรือเสื่อมถอยลง และกล้าที่จะยอมรับสิ่งใหม่ๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้นในชุมชนของตน ผู้เขียนมีความเชื่อว่าทุกชุมชนย่อมมียอดภูมิปัญญาอยู่ทุกท้องถิ่น เพราะถ้าได้รับการฝึกอบรมให้รู้จักการใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่ชุมชนมีอยู่ อย่างถูกต้อง พวกเราก็จะได้เห็นสิ่งใหม่ๆ เกิดขึ้น หรือที่เขานิยมเรียกกันว่า นวัตกรรม ปรากฏให้เห็นอย่างแน่นอน

ยุทธศาสตร์การแก้ปัญหา
            การ ทำงานที่มีรูปแบบ มีประสิทธิภาพอย่างเหนือความคาดหมาย คือ ยุทธศาสตร์ ปัญหาการว่างงานถือเป็นปัญหาระดับชาติ สำหรับการเสนอแนวคิดในการแก้ปัญหานี้ผู้เขียนมุ่งมาที่กลุ่มชนบทในจังหวัด สุรินทร์เป็นหลัก เพราะถือเป็นชุมชนที่ผู้เขียนมีความคุ้นเคยใกล้ชิด และอยากเห็นชาวบ้านมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ ไม่ใช่มีค่านิยมตามชุมชนเมืองที่ว่า ต้องมีรถขับ บ้านใหญ่โต แต่ตื่นเช้ามาหาข้าวสารมากรอกหม้อหุงแทบจะไม่มี แบบนี้ไม่ใช่การพัฒนาแต่เป็นการเพิ่มภาระให้มากกว่า
            ความ แตกต่างระหว่างคนมีอาชีพมีรายได้ กับคนที่ว่างงาน ไม่มีรายได้นั้น มองเห็นภาพได้ชัดเจนและทำให้เกิดช่องว่างในสังคม ความเห็นแก่ตัวมีมากขึ้นเรื่อยๆ ทำไมชาวบ้านที่มีอาชีพทำนาจึงติดหนี้ทั้งในระบบและนอกระบบมาก และเป็นหนี้ที่ตกทอดมาถึงลูกหลาน ก็เพราะการขาดรายได้ ไม่มีงานทำในช่างฤดูหลังเก็บเกี่ยวเสร็จ ผลผลิตที่ได้ก็ต้องใช้เจ้าหนี้หมด กลับกลายเป็นว่าชาวนาต้องซื้อข้าวกิน
สำหรับยุทธศาสตร์การพัฒนา อาจารย์สัญญา สัญญาวิวัฒน์ (2550 : 137) เสนอไว้ แบบไร่นาสวนผสม แบบเฉพาะด้าน คือมุ่งไปเรื่องใดเรื่องหนึ่งในรูปแบบการส่งเสริม สนับสนุน และแบบครบวงจร (ปัจจัยนำเข้า กระบวนการ ผลลัพธ์) ผู้เขียนมีแนวคิดที่อาศัยหลักพุทธศาสนาที่สอนว่ามองจากภายในออกไปสู่ภายนอกในประเด็นนี้เช่นกันผู้เขียนมองในฐานะคนๆ หนึ่งที่อยู่ในชุมชนที่ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลง และการพัฒนาอย่างมีระบบ คือ ด้าน การฝึกอบรมส่งเสริมอาชีพ รัฐต้องฝึกอบรมให้ความรู้ ส่งเสริมอาชีพแก่ชุมชน เช่น กลุ่มแม่บ้าน กลุ่ม อสม. วัยรุ่นหนุ่มสาว ผู้นำครอบครัว ด้านงานฝีมือ ช่างปูน-ไม้ เย็บผ้า ขนม ของฝาก หรือการเพาะปลูกพืชระยะสั้น เพื่อชุมชนสามารถนำทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่นของตนมาใช้ให้เกิดผล มีวัดถุดิบ หาตลาด สนับสนุนให้เป็นสินค้า OTOP
                ยุทธศาสตร์ การนำคนกลับคืนถิ่น คนที่มีความรู้ ความสามารถไปอยู่ที่อื่นหมด กลับมาเฉพาะช่วงฤดูทำนา เทศกาลสำคัญๆ ปล่อยให้คนแก่อยู่กับลูกๆ หลานๆ ตัวเล็กๆ ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนา ยุทธศาสตร์นี้หลายท่านอาจมีความคิดแย้งว่า ให้อยู่บ้านแล้วจะเอาอะไรมากินหนอถ้า มองในแง่ความร่ำรวยก็ตอบได้ทันทีว่าไม่มีอะไรกิน แต่ถ้าเราพากันน้อมนำหลักความพอเพียงที่พ่อแห่งแผ่นดินได้ประทานไว้ให้เราจะ มีคำตอบอยู่ในใจ และมีความรักในท้องถิ่นของตัวเอง ผู้เขียนมีทัศนะว่าครอบครัวที่มั่นคงอยู่พร้อมหน้ากัน ช่วยกันประกอบอาชีพในชุมชนของตนตามกำลัง เพราะโดยส่วนใหญ่ชาวบ้านล้วนมีที่ทำกินของตนเองอยู่แล้ว เมื่อทำได้เช่นนี้ครอบครัวนั้นมักมีความสุข มั่นคง สร้างรากฐานของตนเองได้ ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดเศรษฐกิจชุมชนของอาจารย์ฉัตรทิพย์ นาถสุภา
                ยุทธศาสตร์ การศึกษาพัฒนาคน ในชุมชนปัจจุบันนี้ปัญหาเด็กวัยรุ่นตีกันถือเป็นปัญหาเรื้อรังที่ต้องใช้ วัคซีนชนิดพิเศษฉีดป้องกัน ผู้เขียนเห็นว่าเด็กวัยรุ่นเหล่านี้คือกำลังของชุมชนในวันข้างหน้า ฉะนั้นถ้ากำลังของชุมชนอ่อนแอไม่มีศักยภาพ ก็ทำให้ชุมชนไม่ได้รับการพัฒนา เกือบทุกหมู่บ้านเด็กวัยรุ่นชายไม่นิยมเรียนหนังสือ อย่างมากจบแค่ ป. 6 นิยม ความรุนแรง พกพามีด ปืน ระเบิด บางครอบครัวพ่อแม่หมดเนื้อหมดตัวไม่มีอะไรเลย ก็เพราะลูกชายก่อเรื่องทะเลาะวิวาทฟันแทงกัน ต้องขึ้นโรงขึ้นศาล ดังนั้นการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืนได้ผู้คนในชุมชนต้องมีการศึกษา มีการเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา อย่างน้อยจบจากศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน มัธยมศึกษาปีที่ 6 หรือปริญญาตรี ปัญหาเด็กวัยรุ่นก็จะหมดไป พ่อแม่ต้องปลูกฝังให้ลูกๆ ของตนรักการเรียนให้มากๆ  นี้ คือประเด็นยุทธศาสตร์ที่จะนำพาให้ชุมชนมีการเปลี่ยนแปลง แต่ก่อนจะนำไปปฏิบัติชุมชนแต่ละชุมชนต้องมีการจัดตั้งคณะกรรมการดำเนินการ หรือกลุ่มที่จัดตั้งขึ้น เช่น กลุ่มแม่บ้าน กลุ่ม อสม. อพปร. ร่วมกับผู้นำชุมชนจัดทำแผนการดำเนินการในช่วงระยะเวลา 1-2 ปี หรือ 3-10 ปี ว่าจะทำอะไรให้เกิดขึ้นบ้าง มีการประสานงานติดต่อกับองค์กรภายนอกเพื่อขอความร่วมมือ ให้การสนับสนุนชุมชนของเรา และที่สำคัญต้องมีการเพิ่มทักษะความรู้ให้คนในชุมชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อรับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นในชุมชน

บทสรุป
            การ พัฒนาสังคมชนบทต้องใช้เวลา ต้องมีการติดตามประเมินผลอย่างต่อเนื่อง เพราะมีปัจจัยด้านวัฒนธรรม ค่านิยม ภูมิศาสตร์เข้ามาเกี่ยวข้อง การจะจัดทำโครงการหนึ่งหรือสองโครงการแล้วบอกว่าประสบความสำเร็จเป็นไปตาม เป้าประสงค์คงเป็นไปได้ยาก เพราะการพัฒนาแบบยั่งยืนต้องอาศัยหลักความพอเพียง พอประมาณ ให้ชาวบ้านได้เรียนรู้ ทำความเข้าใจ อาศัยความสามัคคีในชุมชนถือเป็นเครื่องมือที่สำคัญมีประสิทธิภาพสูง ภาษาชาวบ้านพูดว่า ต้องให้เขาได้พูด ได้คิด ได้ทำเอง โดยอาศัยทรัพยากรที่มีอยู่ในชุมชนให้เกิดผลที่สุด เมื่อนั่นแหละความยั่งยืนในชุมชนจึงจะเกิดขึ้นได้

บรรณานุกรม
ฉัตรทิพย์ นาถสุภา. 2548. แนวคิดเศรษฐกิจชุมชน ข้อเสนอทางทฤษฎีในบริบทต่างสังคม. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์สร้างสรรค์.
ดร. จอร์น โมเดล, ดร.อภิชาติ จำรัสฤทธิ์รงค์ และดร.นิพนธ์ เทพวัลย์. ผู้แปล นภาภรณ์ หะอานนท์. 2530. การปฏิวัติขนาดครอบครัวในประเทศไทย : การลดลงอย่างรวดเร็วของภาวะเจริญพันธ์ ในประเทศโลกที่สาม. กรุงเทพฯ             : สำนักพิมพ์รจิตา.
ประวัติ สมเป็น. 2550. เอกสารประกอบการสอนวิชาทฤษฎีและหลักการพัฒนาชุมชน. สุรินทร์ : มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์.
ปรัชญาเศษฐกิจพอเพียง.” (2550 : กันยายน). วารสารการพัฒนาท้องถิ่น. กรมส่งเสริมการปกครอง ท้องถิ่น. 2 ฉ. 1 : 13-14
วัลลภ ทองอ่อน. เอกสารประกอบการสอนเรื่องการพัฒนาแบบยั่งยืน. ภาควิชาภูมิศาสตร์ คณะ มนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎกำแพงเพชร.สื่อสารสัมฤทธิ์แนวคิดพอเพียง. (2550.) รามปริทรรศน์. 5 ฉ. 50 : 32
สัญญา สัญญาวิวัฒน์. 2550. ทฤษฎีและกลยุทธ์การพัฒนาสังคม. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย.
ใฉน เฉิดฉาย. ม.ป.ป. การจัดทำแผนพัฒนา อบต. สุรินทร์. (สำเนา)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น