วันอาทิตย์ที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2555

การอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ตามแนววิถีพุทธ : พุทธอุทยานวัดเขาศาลาอตุลฐานะจาโร อำเภอบัวเชด จังหวัดสุรินทร์

ความนำ
            ทรัพยากร ป่าไม้มีความสำคัญต่อระบบนิเวศวิทยาที่ต้องมีการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันจะ ขาดระบบใดระบบหนึ่งไปก็คงไม่ได้ ดังพระราชเสาวนีย์ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระ ชนมพรรษา 12 สิงหาคม วันที่ 11 สิงหาคม 2551 ณ ศาลาดุสิดาลัย พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต ตอนหนึ่งว่า “…ปัญหาต่อไปของโลก ของชาวโลก ซึ่งข้าพเจ้าคิดว่าเป็นปัญหาใหญ่ที่จะตามมา ประมาณอีก 15 ปี น้ำจืดที่พวกเรารับประทานกันนี้จะเป็นของที่หายากบ้านเรานี้ไม่มีแหล่งน้ำ ใหญ่ๆ มีแต่ป่า นี่ถ้าเผื่อคนไทยไม่ทราบว่าป่าไม้คืออะไร ป่าไม้ก็คือที่สะสมน้ำไว้ใต้ดินนี้เอง ที่ฤดูฝนแทนที่น้ำฝนจะไหลหลากลงไปที่ทะเล ถ้ามีป่า ป่าเหล่านั้น ต้นไม้ใหญ่ๆ เหล่านั้นจะดูดน้ำไว้ใต้ดินของเขา ใต้ต้นของเขา ไว้เป็นจำนวนมากแล้วก็ออกมาเป็นลำธารน้อยใหญ่ เพราะฉะนั้นทำไมเราไม่รู้จักเก็บป่าไม้ไม่ใช่ว่าใครอยากตัดอะไรไปค้าขายก็ ตัดไปตามเรื่องตามราว ผลสุดท้ายผู้ที่ได้รับทุกข์ ทุกข์ร้อนก็คือประชาชนชาวไทย เมืองไทยทุกสิ่งทุกอย่างเวลานี้ต้องพึ่งป่าไม้…” (พระราชเสาวนีย์. 2551 : สิงหาคม 22) จากการสำรวจทรัพยากรป่าไม้ของประเทศไทยด้วยดาวเทียม พ.ศ. 2547 พบว่าประเทศไทยมีพื้นที่ป่า 513,115.02 ตารางกิโลเมตร แยกเป็นพื้นที่ภาคเหนือ จำนวน 169.644.29 ตารางกิโลเมตร พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 168,854.40 ตารางกิโลเมตร พื้นที่ภาคตะวันออก 36,502.50 ตารางกิโลเมตร พื้นที่ภาคกลาง 67,398.70 ตารางกิโลเมตร พื้นที่ภาคใต้ 70,715.19 ตารางกิโลเมตร (กรมป่าไม้. 2551: มกราคม 27)
            ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา (2543-2547) ภาค ตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างได้แก่ กลุ่มจังหวัดนครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี มีพื้นที่ป่าเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะพื้นที่ป่าทางตอนใต้ของสุรินทร์แนวชายแดนไทย-กัมพูชา บริเวณเทือกเขาพนมดงรัก ซึ่งนอกจากจะเป็นเขตพื้นที่ดูแลของกรมป่าไม้แล้ว ยังเป็นแนวเขตในการปกป้องดูแลของกองกำลังสุรนารี ส่วนแยกที่ 2 กรอ.มน. ถือเป็นพื้นที่ป่าไม้ที่ยังคงความอุดมสมบูรณ์ด้วยพันธุ์ไม้ พืชสมุนไพร สัตว์ป่านานาชนิด
            พื้นที่ ป่าในเขตอำเภอบัวเชด จังหวัดสุรินทร์ เป็นพื้นที่ที่พระสงฆ์มีบทบาทสำคัญในการน้อมนำหลักพุทธธรรมมาใช้กับวิธีการ ดำเนินกิจกรรมด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ ใช้หลักธรรมในการสร้างความสมานฉันท์สร้างความเข้าใจอันดีให้เกิดขึ้นในชุมชน คือพุทธอุทยานวัดเขาศาลาอตุลฐานะจาโร โดยพระพิศาลศาสนกิจ (หลวงพ่อเยื้อน ขนฺติพโล) เจ้าสำนักผู้มีบทบาทสำคัญในการสร้างพลัง คือ วัด ชุมชน ป่าไม้ ให้สามารถอยู่อาศัยซึ่งกันและกันได้สมดุล
            จาก ปัญหาการบุกรุกป่าจับจองเพื่อการเกษตร การลักลอบตัดต้นไม้ การจับสัตว์ป่าและปัญหาไฟไหม้ป่า ในเขตพื้นที่ป่าพุทธอุทยานวัดเขาศาลาอตุลฐานะจาโรได้รับผลกระทบโดยตรง พระสงฆ์ต้องใช้ความพยายาม และขอความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐในการปกป้องพื้นป่า จากบทบาทดังกล่าวชุมชนมีทัศนะคติต่อพระสงฆ์ว่า พระป่าไม้การ ดำเนินการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ของพระสงฆ์ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ โดยเฉพาะกองกำลังสุรนารี กรมป่าไม้ กรมการศาสนา และสำนักพระพุทธศาสนาจังหวัด ทำให้ประชาชนมีความเข้าใจบทบาทของพระสงฆ์ในการดำเนินกิกรรมด้านการอนุรักษ์ ทรัพยากรป่าไม้มากขึ้นในระดับหนึ่ง
            บท ความนี้ต้องการนำเสนอบทบาทของพระสงฆ์ในพุทธอุทยานวัดเขาศาลาอตุลฐานะจาโรใน เชิงการอนุรักษ์ เพื่อเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของการพัฒนาที่ยั่งยืน ตามนโยบายการพัฒนาประเทศในปัจจุบัน

ความเข้าใจเกี่ยวกับการอนุรักษ์
            การอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ตามแนววิถีพุทธ เพื่อความเข้าใจในประเด็นดังกล่าวนี้ ผู้เขียนศึกษาเอกสารซึ่งสามารถสรุปความหมายได้ ดังนี้
            การอนุรักษ์ ตามพจนานุกรมฉบับเฉลิมพระเกียรติ พ.ศ. 2530 หมายถึง รักษาให้คงเดิม
            การ อนุรักษ์ตามความหมายวิทยาศาสตร์ หมายถึง การรู้จักใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างเหมาะสม ด้วยวิธีการสงวน หรือเก็บรักษาทรัพยากรที่หายากเอาไว้ รวมทั้งป้องกันมิให้ทรัพยากรเกิดการสูญเสียในการใช้ทรัพยากรเหล่านั้น (เกษม จันทร์แก้ว. 2530 : 98)
            วิถี พุทธ หมายถึงการนำหลักธรรมในทางพุทธศาสนามาปรับใช้ในการดำเนินการอนุรักษ์ ทรัพยากรป่าไม้ ซึ่งพระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต) กล่าวว่า หลักธรรมทางพุทธศาสนาเน้นเรื่องการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน คือความรู้สึกดีต่อกันระหว่างมนุษย์ พืช สัตว์ ทั้งหลาย มีความกตัญญูรู้คุณต่อกันและกัน ดังพุทธสุภาษิตตอนหนึ่งว่า บุคคลนั่งหรือนอนใต้ร่มเงาของต้นไม้ใด ไม่พึงหักก้านกิ่งใบของต้นไม้นั้น และต้องเข้าใจกฎไตรลักษณะคือกฎธรรมชาติที่สอนให้รู้การเปลี่ยนแปลง การยุติปัญหา และการจัดการสิ่งแวดล้อมบนพื้นฐานความเป็นจริงทางธรรมชาติ (กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม. 2544 : 20)
            ดัง นั้น อาจสรุปได้ว่า การอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ตามแนววิถีพุทธ หมายถึง การปฏิบัติหน้าที่ของพระสงฆ์ในการรักษา คุ้มครอง ป้องกัน และใช้ประโยชน์ทรัพยากรป่าไม้ เพื่อการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน มีความกตัญญูรู้คุณต่อธรรมชาติ คือ มนุษย์ สัตว์ พืชพันธุ์ภายใต้ระบบนิเวศวิทยาที่ยั่งยืน

พระพุทธศาสนากับทรัพยากรธรรมชาติ
            พระ พุทธศาสนา เป็นศาสนาที่ให้ความสำคัญกับเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม มีหลักธรรมในทางพุทธศาสนาที่ย้ำในเรื่องระบบของการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน และนอกจากพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันแล้วสิ่งที่สำคัญคือความรู้สึกที่ดีงาม ต่อกันระหว่างมนุษย์ต่อมนุษย์ และมนุษย์ต่อพืชและสัตว์ทั้งหลาย ความดีงามอย่างหนึ่งได้แก่คุณธรรมที่เรียกว่า ความกตัญญูความ กตัญญูนี้ไม่ใช่มีเฉพาะต่อมนุษย์ด้วยกันเท่านั้น แต่ให้มีทั้งต่อพืชต่อสัตว์ทั้งหลายด้วย ดังมีพระบาลีพุทธศาสนาสุภาษิตบทหนึ่งที่ย้ำ และสอนให้ผู้คนรู้จักบุญคุณแม้แต่คุณประโยชน์ของพืชมีใจความแปลความเป็นภาษา ไทยว่า บุคคลนั่งหรือนอนในร่มเงาของต้นไม้ใด ไม่พึงหักก้านกิ่งใบของต้นไม้นั้นผู้ประทุษร้ายมิตรเป็นคนทรามเป็นคติที่แสดงความรู้สึกที่ดีต่อกันให้ระลึกเสมอว่าต้นไม้นี้เราได้อาศัยร่มเงาเป็นประโยชน์มีค่ามีร่มเงาที่คนอื่นจะได้อาศัยต่อไป
            นอก จากความรู้สึกที่เห็นคุณของกันและกัน หรือระลึกในคุณค่าของกันและกันแล้ว พระพุทธศาสนายังสอนให้มองพืชและสัตว์ทั้งหลายด้วยเมตตาจิต ความเมตตานี้เองถือเป็นความรู้สึกที่สำคัญในทางพระพุทธศาสนาโดยการมองทุก สิ่งทุกอย่างว่าเป็นสรรพสัตว์ผู้อยู่ร่วมโลก และต้องมีความเข้าใจหลักความเป็นจริงทางธรรมชาติตามกฎแห่งไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ซึ่งถือเป็นสภาวธรรมของธรรมชาติที่ทำให้มนุษย์มีทัศนคติที่ถูกต้องในการ พัฒนาตนเอง
            คติ ในทางพระพุทธศาสนาอีกอย่างหนึ่ง คือให้มองธรรมชาติเป็นสภาพแวดล้อมที่งดงามน่ารื่นรมย์ ซึ่งถือเป็นปัจจัยที่สนับสนุนให้มนุษย์อยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างมีความสุข เพราะธรรมชาติถือเป็นองค์ประกอบในการฝึกฝนพัฒนาตนเองของมนุษย์ หมายความว่าพระพุทธศาสนามองธรรมชาติเป็นอุปกรณ์ในการศึกษาเรียนรู้ตนเอง คือการจะพัฒนาคนให้มีจิตใจที่เจริญงอกงาม เป็นคนที่มีคุณธรรม จำเป็นต้องอาศัยธรรมชาติในการฝึก เมื่อใดที่มีสภาพแวดล้อมที่สงัดปราศจากเสียงรบกวนและมีกิจกรรมที่วุ่นวาย ท่านเรียกว่า กายวิเวก เมื่อใดที่จิตใจรู้สึกมีความสงบ มีความอิ่มใจ มีความสดชื่น มีแนวโน้มไปในทางที่ดี ก็จะทำให้เกิด จิตวิเวก เมื่อจิตไม่มีอารมณ์ที่วุ่นวายในเข้ามารบกวน มีสมาธิ ก็อยู่ในสภาพที่พร้อมจะฝึกฝนพัฒนายิ่งๆ ขึ้นไปอีก คือเอาจิตที่พร้อมแก่การงานทั้งหลายไปใช้งานด้านการพิจารณาให้เกิดปัญญา เกิดความรู้เห็นตามสภาวะที่เป็นจริงเรียกว่า อุปธิวิเวก (พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต). 2543 : 20-23)
            นิวัติ เรืองพานิช. (2542 : 38) ให้ความหมายคำว่า ทรัพยากรธรรมชาติ (Natural resources) หมาย ถึง สิ่งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติมีประโยชน์สามารถสนองความต้องการของมนุษย์ได้ หรือมนุษย์สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ เช่น บรรยากาศ ดิน น้ำ ป่า สัตว์ป่า แร่ธาตุต่างๆ
            แนวคิดการจัดการสิ่งแวดล้อมในมุมมองของพระพุทธศาสนาที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของกฎธรรมชาติ สามารถสรุปได้ ดังนี้
            1. การกำหนดแนวทางในการจัดการสิ่งแวดล้อม โดยมีความตระหนักในเรื่องของความเปลี่ยนแปลง
            2. มนุษย์ต้องเข้าใจการเปลี่ยนแปลงเพื่อการยุติปัญหาในการจัดการสิ่งแวดล้อม
            3. แนว คิดในการจัดการสิ่งแวดล้อมตามหลักของความเป็นจริง ทำให้มนุษย์มีทัศนคติที่ถูกต้องว่าทุกอย่างมีความเกี่ยวข้องต้องพึ่งพาอาศัย ซึ่งกันและกัน มนุษย์เป็นปัจจัยหนึ่งที่มีอิทธิพลต่อสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ด้วย ดังนั้น การจัดการสิ่งแวดล้อมที่ดีมนุษย์ต้องมีการบริหารจัดการตัวเองเสียก่อน
            4. แนว คิดการจัดการสิ่งแวดล้อมตามหลักพุทธศาสนาบนแนวทางของความเป็นจริง ต้องรู้ระบบนิเวศที่เกี่ยวข้องกับธรรมชาติที่เรียกว่า อุตุนิยม ได้แก่ ความจริงเกี่ยวกับสสารสิ่งแวดล้อมทางชีวภาพเรียกว่า พืชนิยาม ได้แก่ความหลากหลายทางชีวภาพ พันธุกรรมซึ่งเป็นองค์ประกอบที่เป็นธรรมชาติที่เกี่ยวกับพฤติกรรม เป็นตัวเชื่อมโยงระหว่างมนุษย์กับสิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิต เป็นกลไกที่เชื่อมโยงทุกสรรพสิ่งเข้าด้วยกัน ซึ่งทางพุทธศาสนาเรียกว่า ธรรมนิยามหมายถึงสภาวะสิ่งทั้งมวลมีความเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กันตามกระบวนการแห่งเหตุและผลเสมอ
ตาม หลักธรรมทางพระพุทธศาสนาที่กล่าวถึงหลักธรรมชาติว่ามีความเกี่ยวเนื่อง สัมพันธ์กันอย่างไรตามที่กล่าวมาข้างต้นนั้น แท้ที่จริงแล้วพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่มองทุกอย่างทั้งที่เกิดขึ้นแล้ว และกำลังจะเกิด หรือยังไม่เกิด ว่าเป็นสภาวะที่มีเกิดมีดับตามกาลเวลา จำเป็นที่มนุษย์ พืช สัตว์ ต้องมีการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน และหลักคำสอนต่างๆ ของศาสนาก็มีการสอดแทรกเรื่องธรรมชาติไว้ เช่น เรื่องธรรมนิยาม ที่กล่าวถึงทุกสิ่งมีการเป็นไปตามเหตุและผล แม้แต่การปฏิบัติธรรมตามคำสั่งสอนถ้าปรารถนามุ่งให้เกิดความวิเวกก็ต้องพึ่ง พาอาศัยความเป็นธรรมชาติ

พระสงฆ์กับป่าไม้
            ป่า วัด และพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนาถือว่ามีความสัมพันธ์กันมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล ซึ่งวัดแรกในพุทธศาสนาคือวัดเวฬุวนาราม (มาจากคำว่า เวฬุ แปลว่า ไม้ไผ่ + วน แปลว่า ป่า +อาราม แปลว่า สถานที่รื่นรมย์) มีพระเจ้าพิมพิสารแห่งแคว้นมคธถวายแก่พระพุทธเจ้า นอกจากนั้นมีวัดป่าเกิดขึ้นหลายแห่ง เช่น เชตวนาราม บุพพาราม นิโครธาราม และอัมพวนาราม ซึ่งเป็นเหตุบอกให้พวกเราทราบว่า ป่ากับพุทธศาสนามีความเกี่ยวข้องกัน วัดในพุทธศาสนาล้วนมีความสัมพันธ์กับป่าหรือต้นไม้อย่างมาก วัดส่วนใหญ่ไม่ว่าจะอยู่ในชุมชน หรือชนบทห่างไกลจะมีต้นไม้ใหญ่ๆ มีความร่มรื่นเหมาะแก่การปฏิบัติธรรมตามหลักพุทธศาสนา ซึ่งมีหลักการถือธุดงค์ที่มุ่งให้พระภิกษุสงฆ์อยู่โคนต้นไม้เป็นวัตรในการ ประพฤติปฏิบัติธรรมชำระกิเลสภายในใจ ดังนั้น พระสงฆ์กับป่าไม้จึงถือเป็นสิ่งคู่กัน ไม่สามารถแยกจากกันได้ตามคติความเชื่อที่ถือปฏิบัติสืบทอดกันมา
            ประเทศ ไทยมีศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติไทยถึงแม้จะไม่มีการกล่าวไว้ในกฎหมายรัฐ ธรรมนูญก็ตาม แต่ในใจของประชาชนต่างก็ทราบว่าพุทธศาสนาคือศาสนาประจำชาติมีบทบาทที่สำคัญ ตั้งแต่บรรพบุรุษมาแล้ว ซึ่งมีองค์ประกอบที่สำคัญ 3 ส่วน คือ 1.) ศาสนวัตถุ เช่น อาราม โบสถ์ วิหาร ศาลาการเปรียญ เจดีย์ พระพทุธรูป ที่ดิน ป่าไม้ ฯลฯ 2.) ศาสนบุคคล เช่น พระภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา 3.) ศาสนธรรม เช่น คัมภีร์พระไตรปิฎก
            ทั้ง สามสิ่งนี้เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจของคนไทยได้เป็นอย่างดี ช่วยพัฒนาบุคลากรของชาติให้มีความพร้อมด้านจิตใจ ในขณะเดียวกันพระสงฆ์ยังต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์อีกส่วนหนึ่ง สถานที่ที่เป็นที่พักอาศัยของพระสงฆ์นั้นมี 3 ลักษณะได้แก่ 1.) ที่พักสงฆ์ คือเป็นที่พักที่ยังไม่ได้รับอนุญาตให้สร้างเป็นวัดที่ถูกต้อง 2.) สำนักสงฆ์ คือ ได้รับอนุญาตให้สร้างวัดโดยถูกต้องแต่ยังไม่ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา ในการสร้างโบสถ์สำหรับพระสงฆ์ทำสังฆกรรม และ 3.) วัด ที่ได้รับการอนุญาตให้สร้างวัดถูกต้องและได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา หรือมีการปฏิสังขรถาวรวัตถุ มีพระสงฆ์อยู่จำพรรษาไม่น้อยกว่า 5 รูปติดต่อกันไม่น้อยกว่า 5 ปี หรือมีการสร้างโบสถ์เสร็จเรียบร้อยแล้ว กรมการศาสนาโดยกระทรวงศึกษาธิการเห็นสมควรขอรับวิสุงคามสีมา
            การ สร้างศาสนวัตถุของพระสงฆ์ส่วนใหญ่จะมีความเกี่ยวข้องกับป่า ถ้าพิจารณาตามหลักพุทธธรรมแล้วก็ไม่มีปัญหาอะไรเกิดขึ้น ยิ่งเป็นการดีด้วยซ้ำที่พระสงฆ์อยู่ในพื้นที่ป่า แต่มองในแง่อาณาจักรแล้วถือว่าขัดต่อกฎหมาย ป่าถือว่าเป็นทรัพยากรที่รัฐต้องรักษาคุ้มครอง การที่พระสงฆ์จะเข้าไปใช้ประโยชน์จากป่าต้องได้รับอนุญาตจากรัฐคือกรมป่าไม้ เสียก่อน เหตุที่มีการห้ามพระภิกษุสงฆ์สร้างที่พัก หรือถาวรวัตถุใดๆ ในสถานที่ซึ่งยังไม่ได้รับอนุญาตนั้นส่วนหนึ่งเป็นคำสั่งของมหาเถรสมาคม ที่มีความเกี่ยวเนื่องสอดคล้องกับกฎหมายว่าด้วยป่าสงวนแห่งชาติที่ห้าม บุกรุกพื้นที่ป่า ในพระวินัยบัญญัติพระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้เป็นแนวทางในการปฏิบัติของพระ สงฆ์ว่า
                1. ห้ามทำลายเมล็ดพืช หน่อไม้ รากเหง้า เพราะอาจนำไปปลูกใหม่ได้
                2. ห้ามทำลายต้นไม้ทุกชนิดไม่ต้นใหญ่หรือต้นเล็ก
                3. ห้ามถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ บ้วนน้ำลายลงใส่ต้นไม้และแม่น้ำลำคลอง
                4. ห้ามขุดดินเพราะอาจทำให้สัตว์ที่อาศัยอยู่ใต้ดินตายได้
                5. ห้ามนำน้ำที่มีตัวสัตว์มาเทหรือรดต้นไม้ ต้นหญ้า เพราะอาจทำให้ตายได้
                6. เวลาจะกรอกน้ำไปใช้ดื่มต้องมีการกรองเสียก่อน (ไพฑูรย์ ปานประชา . 2540)
       เหตุผล หลักๆ ที่ห้ามมิให้พระสงฆ์เข้าไปสร้างถาวรวัตถุในพื้นที่ป่าก่อนได้รับอนุญาตนั้น เพื่อเป็นการป้องกันปัญหาการควบคุมตรวจสอบพฤติกรรมของพระสงฆ์ เมื่อมีการดำเนินคดีตามกฎหมายอาจก่อให้เกิดความขัดแย้งกับสถาบันศาสนาได้ อาจมีการนำไม้ผิดกฎหมายมาก่อสร้างได้ ป้องกันการก่อสร้างในสถานที่ไม่เหมาะสม และเป็นการป้องกันการแอบอ้างยึดครองที่ดิน สาเหตุในการเข้าไปสร้างในเขตพื้นที่ป่านั้นมาจากพระสงฆ์ต้องการแสวงหาสถาน ที่ธุดงค์ ที่วิเวกในการปฏิบัติ และเพื่อสร้างวัดใหม่ และเกิดจากการขยายตัวอย่างรวดเร็วของชุมชนที่ต้องการมีวัดในชุมชนของตนเอง (ฝ่ายศาสนากับป่าไม้. ม.ป.ป. : 1-5)
            ตั้งแต่ ในอดีตจนถึงปัจจุบันเราต้องยอมรับว่าพระสงฆ์เป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการ ช่วยเหลือสังคมในรูปแบบต่างๆ และเราปฏิเสธไม่ได้ว่าพระสงฆ์มีความเกี่ยวข้องกับป่ามาก สำหรับพระสงฆ์ที่เป็นฝ่ายอรัญวาสี (พระป่า) ท่านยิ่งต้องอาศัยธรรมชาติจากป่าไม้ในการแสวงหาความวิเวก ปัจจุบันพื้นที่ป่าถูกทำลายไปมากพื้นที่ป่าในประเทศลดลงเรื่อยๆ บวกกับภาวการณ์เจริญเติบโตของสังคมในทุกๆ ด้าน ทำให้รัฐต้องมีการออกกฎหมายมาคุ้มครองรักษาป่าไม้อันเป็นสมบัติของชาติไว้ และทำให้พระสงฆ์จะเข้าไปปฏิบัติธรรมในป่าหรือจะสร้างวัด ที่พักสงฆ์ สำนักสงฆ์ ต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ คือกรมป่าไม้ และหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้อง และส่วนใหญ่พระสงฆ์ที่สามารถดำเนินการขออนุญาตใช้ประโยชน์โดยการสร้างวัด นั้นได้ช่วยดำเนินการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ เป็นการช่วยรัฐอีกส่วนหนึ่ง ดังเช่นพุทธอุทยานวัดเขาศาลาอตุลฐานะจาโร ตำบลจรัส อำเภอบัวเชด จังหวัดสุรินทร์

สภาพทั่วไปของพื้นที่
            พุทธ อุทยานเขาศาลา มีสภาพพื้นที่เป็นเนินเขา มีภูศาลา ภูหงส์ ภูนก อยู่ในบริเวณเขตพื้นที่ป่า ลักษณะเป็นป่าดงดิบชื้น ป่าเบญจพรรณ และป่าดงดิบแล้งคงความอุดมสมบูรณ์เป็นป่าต้นน้ำห้วยจรัส มีเทือกเขาพนมดงรักเป็นแนวกั้นเขตแดนระหว่างไทย-กัมพูชา สภาพภูมิอากาศมีฤดูฝนกับฤดูแล้งที่แตกต่างกันชัดเจน

ข้อมูลทั่วไป
            พุทธอุทยานวัดเขาศาลาอตุลฐานะจาโร ตั้งอยู่ ณ บ้านสะพาน ตำบลจรัส อำเภอบัวเชด จังหวัดสุรินทร์ ห่างจากอำเภอบัวเชด 17 กิโลเมตร มีเนื้อที่ 10,865 ไร่ ติดกับอ่างเก็บน้ำห้วยจรัส เป็นแหล่งเรียนรู้ทางพระพุทธศาสนา และศึกษาธรรมชาติมีทิวทัศน์ที่สวยงาม มีหน้าผาที่สูงชันเรียกผานี้ว่า ผาพระหรือผานางคอย มีชุมชนล้อมรอบ 3 ตำบลกับอีก 4 หมู่บ้าน คือ ตำบลจรัส มีบ้านจรัส และบ้านสะพาน ตำบลอาโพน มีบ้านชำปะโต ตำบลเทพรักษา มีบ้านกะเลงเวก
            พุทธ อุทยานวัดเขาศาลาอตุลฐานะจาโร ได้ดำเนินกิจกรรมหลากหลายอย่างควบคู่กัน อาทิเช่น การอนุรักษ์ป่าไม้ การส่งเสริมการเรียนรู้ให้แก่ เยาวชน นักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไป โครงการบรรพชา อุปสมบท เฉลิมพระเกียรติในภาคฤดูร้อนในลักษณะการเรียนรู้การอยู่กับธรรมชาติ การก่อตั้งโรงสีข้าวเกษตรอินทรีย์ชุมชน และการส่งเสริมกิจกรรมพุทธศาสนาในรูปแบบต่างๆ เพื่อเป็นพุทธอุทยานเขาศาลาศูนย์รวมแห่งการเรียนรู้ และเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ มีแหล่งท่องเที่ยวเช่น พระอริยเจดีย์ รอยพระพุทธบาทจำลอง พระพุทธรูปหินแกะสลัก พระพุทธรูปโสธร อุโบสถ พระนาคปรก ผานางคอย น้ำตกไตรคีรี และปัจจุบันการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยได้ศึกษาเพื่อเปิดเป็นแหล่งท่อง เที่ยวเชิงอนุรักษ์และทางศาสนสถาน (อัจฉรา ภาณุรัตน์.2551 : พฤษภาคม 25)

อาณาเขต
            พุทธอุทยานวัดเขาศาลาอตุลฐานะจาโร มีพื้นที่ป่าบริเวณกว้างติดต่อหลายตำบลตามแนวเทือกเขาพนมดงรัก คือ :-  
            ทิศเหนือ             ติดถนนทางหลวงสายบัวเชด-จรัส และบ้านสะพาน
            ทิศใต้                 ติดชายแดนกัมพูชาที่หลักเขตที่ 4
            ทิศตะวันออก        ติดบ้านจรัสสามัคคี
            ทิศตะวันตก          ติดเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยสำราญ (กรมป่าไม้)

บทบาทพระสงฆ์ด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้
            ในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2505 (กรมการศาสนา . 2539:17-25) ได้ กำหนดให้พระภิกษุผู้เป็นเจ้าสำนักทำการอนุรักษ์ ส่งเสริม สภาพแวดล้อมภายในวัดให้มีความร่มรื่น และพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนานอกจากจะมีบทบาททั้ง 6 ด้าน คือ ด้านการศึกษา การศึกษาสงเคราะห์ ด้านการปกครอง ด้านการเผยแผ่ ด้านการสาธารณะสงเคราะห์ และด้านการบูรณะเสนาสนะ (พรชุลี อาชวอำรุง และคณะ. 2549 : 26-30) อีก บทบาทหนึ่งที่พระสงฆ์ในยุคปัจจุบันควรให้ความสำคัญ คือด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ ซึ่งเป็นสมบัติอันล้ำค่าของชาติ ให้คงสภาพที่สมบูรณ์
            จาก คำสัมภาษณ์ของท่านเจ้าคุณพระพิศาลศาสนกิจ และการมีส่วนร่วมกับกิจกรรมในพื้นที่ของผู้เขียน ตลอดจนการสอบถามพระครูไพโรจน์วุฒิคุณ (พระอาจารย์วุฒิศักดิ์ วฑฺฒโน) รองเจ้าอาวาสและเจ้าคณะตำบลบัวเชด(ธ) ถึงบทบาทที่พระสงฆ์ในพุทธอุทยานวัดเขาศาลาอตุลฐานะจาโรได้ดำเนินการมา ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 จนถึงปัจจุบันสามารถแยกเป็นกิจกรรมที่เกี่ยวกับการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ได้ดังนี้ คือ
            ทำ แนวกั้นเขตป่า คือ การปักรั่วคอนกรีต ในด้านทิศตะวันตก ทิศตะวันออกและด้านหน้าคือทิศเหนือของวัด เพื่อเป็นแนวกั้นแบ่งเขตระหว่างป่าที่ดูแลโดยป่าไม้ และกั้นแนวเขตระหว่างที่ทำกินของชาวบ้านอย่างชัดเจน แต่ก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้โดยตรง เพราะมีการบุกรุกลักลอบตัดไม้จากชาวบ้านบางกลุ่ม พระพิศาลศาสนกิจมีแนวคิดใหม่ว่าต้องขุดคลองกว้าง 3 เมตร ลึกประมาณ 4 เมตร ทำเป็นแนวกั้นด้านหน้าของเขตพุทธอุทยาน ท่านให้เหตุผลว่า เวลาน้ำป่าหลากมาแนวเขตนี้สามารถกักเก็บน้ำไว้ได้ เพื่อเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าในเขตพุทธอุทยาน และยังสามารถทำให้พื้นที่ป่าแห่งนี้มีความอุดมสมบูรณ์ และชาวบ้านที่มีที่ทำกันในบริเวณใกล้เคียงสามารถใช้ถนนนี้ร่วมกันได้สะดวก ขึ้น และที่สำคัญเป็นการป้องกันการนำไม้ออกนอกพื้นที่ ซึ่งระยะทางยาวประมาณ 5 กิโลเมตร
            การ ทำแนวทำนบป่าต้นน้ำ พระพิศาลศาสนกิจท่านให้แนวคิดว่า คนพึ่งน้ำพึ่งป่า สัตว์ป่าเขาก็อาศัยทรัพยากรเหล่านี้เช่นกันในการดำรงชีพ ท่านได้ทำโครงการของบประมาณจากจังหวัด เพื่อสร้างทำนบกั้นต้นน้ำเพื่อให้ความชุ่มชื้นแก่พื้นป่าไม้ในบริเวณนั้น และสัตว์ป่าได้รับผลประโยชน์โดยตรงจากแหล่งน้ำ มีการนำพันธุ์ปลาต่างๆ มาปล่อย และวัดสามารถนำน้ำนี้ไปใช้อุปโภคบริโภคได้ เป็นลักษณะการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันที่ว่า น้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่า หรือสุภาษิตที่ว่า เสือพีเพราะป่าปก ป่ารกเพราะเสือยัง ดินเย็นเพราะหญ้าบัง และหญ้ายังเพราะดินดี (พระธรรมปิฎก (ป.อ ปยุตโต). 2543 :16)
            การ ป้องกันไฟป่า ในพื้นที่ป่าเขาศาลานั้น เป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีววิทยา สิ่งที่เป็นอันตรายต่อระบบสิ่งมีชีวิตมากที่สุดคือไฟป่า ไฟที่เกิดจากการกระทำของคน พระพิศาลศาสนกิจใช้วิธีการโดยให้พระภิกษุสามเณรในวัดช่วยกันดับไฟ และไฟป่าส่วนใหญ่มักเกิดบริเวณที่มีต้นหญ้าขึ้นหนาแน่น เช่น ด้านทิศตะวันตกของวัด และด้านหน้าวัด ในปัจจุบันวัดได้ร่วมมือกับกรมป่าไม้ส่งเจ้าหน้าที่ดับไฟป่ามาร่วมพลังในการ รักษาพื้นป่า ในช่วงฤดูร้อนทำให้สภาพป่าด้านหน้าวัดนี้มีความเขียวขจี ต้นไม้เริ่มเจริญเติบโตมีขนาดใหญ่ขึ้น
            การแก้ไขปัญหาการบุกรุกป่า จากการร่วมอยู่ในพื้นที่มีชาวบ้านบางกลุ่มเข้าไปจับจองทำการเกษตรรวมเนื้อที่ประมาณ 668 ไร่ จำนวน 54 ราย ซึ่งเป็นพื้นที่ติดต่อเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าห้วยทับทัน-ห้วยสำราญ ในที่ประชุมมีมติให้ วัด อบต. ชาวบ้าน และเขตอนุรักษ์ร่วมกันแก้ไข แต่ในส่วนของพุทธอุทยานวัดเขาศาลาอตุลฐานะจาโรนั้นพระพิศาลศาสนกิจสามารถแก้ ปัญหาได้ในระดับหนึ่ง โดยท่านให้ทัศนะว่า วัดใช้หลักธรรมในการแก้ไขปัญหาโดยยึดการประนีประนอม ท่านใช้วิธีการแลกเปลี่ยนให้ชาวบ้านเข้ามาจับจองในเขตพุทธอุทยานออกนอกเขต หาที่ดินให้ใหม่หรือบางคนขอรับค่าชดใช้แทน ซึ่งชาวบ้านก็ยอมรับและไม่คัดคานในข้อเสนอนี้แต่อย่างใด
            ส่วน ปัญหาการลักลอบตัดไม้ในเขตพุทธอุทยานถือเป็นปัญหาที่ยากแก่การแก้ไข ไม่เฉพาะแต่ในพื้นที่พุทธอุทยานวัดเขาศาลาอตุลฐานะจาโรเท่านั้น พื้นที่อื่นก็มีปัญหาแบบเดียวกันนี้ สำหรับพุทธอุทยานวัดเขาศาลาอตุลฐานะจาโรโดยปกติเป็นพื้นที่ในการดูแลของกอง กำลังสุรนารีอยู่ พระพิศาลศาสนกิจท่านได้ประสานขอกำลังทหารมาประจำในพื้นที่ มีทหารพรานส่วนหนึ่ง ตำรวจตระแวนชายแดนส่วนหนึ่ง ทหารพรานนั้นประจำการอยู่ทิศตะวันตกของพื้นที่ดูแลแนวเขตที่มีบ้านชำปะโต บ้านกะเลงเวกติดต่อ ส่วนตำรวจตระแวนชายแดนประจำการอยู่บนเขาศาลาดูแลพื้นที่โดยรวม จากเมื่อก่อนชาวบ้านที่มีอาชีพตัดไม้ขายเมื่อไม่สามารถเข้าไปตัดไม้ได้ก็ เกิดความไม่พอใจ โจมตีว่าพระเป็นพระป่าไม้ มีการเดินขบวนขับไล่บ้าง เหตุการณ์เหล่านี้ที่เกิดขึ้นมีส่วนทำให้ทางการรับทราบถึงบทบาทของพระสงฆ์ และท่านได้ยกพื้นที่พุทธอุทยานถวายไว้ในพระอุปถัมภ์ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริ กิตต์
            จาก การดำเนินการป้องกัน รักษา พื้นป่าแห่งนี้ไว้อย่างต่อเนื่องสำเร็จเป็นรูปธรรม ทำให้ชาวบ้านในละแวกใกล้เคียงเข้าใจ รับทราบถึงบทบาทที่พระสงฆ์ทำอยู่ และที่สำคัญภาครัฐก็ให้การสนับสนุน ชุมชนก็ให้ความร่วมมือ ปัจจุบันปัญหาการลักลอบตัดไม้เริ่มลดลงเรื่อยๆ
            การปลูกป่าทดแทน เนื่องจากพื้นที่พุทธอุทยานวัดเขาศาลาอตุลฐานะจาโรมีพื้นที่ดูแล 10,865 ไร่ มีชาวบ้านบุกรุกลักลอบตัดไม้บ้าง บุกรุกจับจองที่ทำกินบ้าง ทำให้พื้นที่บางส่วนถูกทำลายขาดความสมดลทางระบบนิเวศวิทยา เพื่อให้สภาพป่ามีความสมดุลกัน พระพิศาลศาสนกิจใช้ปลูกป่าทดแทนโดยได้รับการอนุเคราะห์กล้าไม้จากหน่วย อนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าห้วยเสียดจะเอิง มีพระภิกษุสามเณร นักเรียน นักศึกษา และชาวบ้านร่วมกันปลูก ส่วนหนึ่งเป็นการปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติในวโรกาสต่างๆ และในพื้นที่พุทธอุทยานที่ชาวบ้านบุกรุกท่านได้ปรับปรุงที่ดินให้พร้อมเพื่อ ปลูกต้นไม้ทดแทน ซึ่งมีพื้นที่ประมาณร้อยไร่ ส่วนใหญ่ต้นไม้ที่นำมาปลูกทดแทนในส่วนที่เสียหายนั้นเป็นพืชเศรษฐกิจคือ ต้นสักทอง ต้นยางพารา ต้นยูคาลิปตัส ซึ่งท่านเจ้าคุณมีแนวคิดว่า การปลูกเช่นนั้นนอกจากจะทำให้สภาพป่ามีความสมดุลแล้ว ยังเป็นการสร้างรายได้ให้วัด ชุมชน เพิ่มอาชีพในชุมชนแก้ปัญหาการว่างงานอีกด้วย
            การ อนุรักษ์สัตว์ป่า สัตว์ป่าในเขตพุทธอุทยานมีหลายชนิด เช่น นก งู หมูป่า เก้ง พระพิศาลศาสนกิจกล่าวว่า ในอนาคตสัตว์ป่าในเขตพุทธอุทยานเขาศาลาฯ จะมีมากขึ้นเพราะป่าแห่งนี้มีรอยต่อระหว่างไทย-กัมพูชาซึ่งตามแนวชายแดน ไทย-กัมพูชานั้น มีการล่าสัตว์มาก เมื่อถูกล่ามากสัตว์ป่าก็ต้องขึ้นมาฝั่งไทยและท่านมองว่า ป่าคือบ้านของสัตว์ป่า เราคือหมายถึงวัด ชุมชน มาอาศัยบ้านคือป่าหลังสัตว์ป่า ดังนั้นคนต้องอนุรักษ์ป่าและสิ่งมีชีวิตในป่าอย่างที่สุด สำหรับการอนุรักษ์สัตว์ป่าในเขตพุทธอุทยานาเขาศาลานั้นถือเป็นยุทธศาสตร์ของ วัดที่ต้องให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก ที่ผ่านมาพระภิกษุสามเณรและเจ้าหน้าที่ทหารตำรวจในพุทธอุทยาน เมื่อออกสำรวจพื้นที่ป่าในเขตพุทธอุทยานพบเห็นการล่าสัตว์ หรือมีเครื่องมือดักจับ แม้แต่ชาวบ้านที่หาผึ้ง เจ้าหน้าที่จะทำการยึดอุปกรณ์ไว้ทันที ถ้าเห็นสัตว์ป่าที่จับได้ท่านก็จะปล่อย ชาวบ้านในชุมชนรอบพื้นที่ป่าต่างก็รู้ถึงการเป็นพระนักอนุรักษ์ที่มีความ เมตตาต่อสัตว์ป่า และให้ความร่วมมือ
            กิจกรรม ส่งเสริมการอนุรักษ์ป่าไม้ การอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ของพระสงฆ์ในพุทธอุทยานวัดเขาศาลาอตุลฐานะจาโร องค์กรต่าง ๆ เช่น โรงเรียน วิทยาลัย มหาวิทยาลัย และองค์กรที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับป่าไม้ ต่างก็ให้ความสำคัญนำคณะมาเรียนรู้สภาพความเป็นจริง ร่วมปลูกป่าบ้าง วัดได้ให้ความรู้เรื่องป่ากับชุมชนในลักษณะการจัดอบรมปฏิบัติธรรม และมีพระภิกษุในวัดที่นำคณะเดินสำรวจป่า เป็นการให้ความรู้กับประชาชนทั่วไปที่สนใจ ได้เกิดความรัก ความหวงแหนทรัพยากรของชาติในชุมชนของตน
            จาก การอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ของพระสงฆ์ชี้ให้เห็นว่า พระสงฆ์นอกจากจะมีบทบาทด้านการเผยแผ่หลักธรรมคำสั่งสอนให้ชุมชนได้เข้าใจ สามารถนำไปใช้ในการดำเนินชีวิต ยังมีบทบาทที่สำคัญอีกบทบาทคือการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ ที่สามารถนำหลักธรรมอันเป็นวิถีความเข้าใจซึ่งกันและกัน โดยยึดความเข้าใจธรรมชาติ ไม่เบียดเบียนการดำรงชีวิตซึ่งกันและกัน นอกจากจะสร้างความอุดมสมบูรณ์ในพื้นที่พุทธอุทยานให้มีความสมดุลแล้ว ยังทำให้ชุมชนเกิดความอยู่เย็นเป็นสุขและได้รับผลกระทบน้อยที่สุด

            การ ดำเนินการอนุรักษ์ คุ้มครอง ปกป้อง ทรัพยากรป่าไม้อันเป็นสมบัติของชาติให้คงอยู่ และใช้ประโยชน์จากป่าไม้ให้เกิดผลมากที่สุด ด้วยพลังแห่งความตั้งใจที่จะทำงานเพื่อชาติและพระศาสนา ทำให้พุทธอุทยานวัดเขาศาลาอตุลฐานะจาโรมีพื้นทีป่าในดูแลถึง 10,865 ไร่ พระพิศาลศาสนกิจเคยกล่าวว่า พื้นที่ป่าบริเวณเทือกเขาพนมดงรักถ้าท่านขอขยายพื้นที่อีกทางการก็กล้าให้ เพราะเชื่อในความตั้งใจจริงที่เห็นผลประจักษ์จากการดูแลเขตพุทธอุทยาน ปัญหาที่เกิดตามมาจากการอนุรักษ์ป่าไม้ในปัจจุบันไม่รุนแรงเหมือนเมื่อก่อน เพราะทุกฝ่ายเข้าใจ รับรู้ถึงบทบาทที่ทางวัดดำเนินการอยู่

บทสรุป
            จาก บทบาท และกิจกรรมที่ทางวัดดำเนินการในด้านต่างๆ เกี่ยวกับการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ถ้านำแนวคิดทฤษฎีมาวิเคราะห์ล้วนมีความ สอดคล้อง เช่นทฤษฎีบทบาทหน้าที่ ทฤษฎีนิเวศวิทยา หรือแม้แต่ทฤษฎีนิเวศวิทยาแนวลึก แต่บทความนี้ผู้เขียนนำเสนอบทบาทการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ของวัดที่นำโดย พระพิศาลศาสนกิจตามแนวคิดทางพุทธศาสนาที่มีมุมมองเกี่ยวกับป่า เพื่อให้สอดคล้องกับคำว่าวิถีพุทธ เหตุผลหนึ่งที่ผู้เขียนไม่ได้กล่าวถึงทฤษฎีเพราะพระพิศาลศาสนกิจซึ่งเป็นผู้ ที่มีบทบาทสำคัญในการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้เคยกล่าวว่า การทำงานของท่านไม่ได้คำนึงถึงแนวคิด หรือทฤษฎีอะไร เป็นการทำงานไปตามสถานการณ์หรือเหตุการณ์นั้นมากกว่า คือการทำงานไม่มีขั้นตอนที่แน่นอน นึกอะไรได้ทำเลย ท่านย้ำว่าเป็นการทำงานของคนจบ ป.4
            ดัง นั้น การอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ของพุทธอุทยานวัดเขาศาลาอตุลฐานะจาโร เป็นการทำหน้าที่ของพระสงฆ์โดยการนำหลักธรรม ที่ตระหนักถึงเรื่องการเปลี่ยนแปลงตามกฎไตรลักษณ์ กล่าวคือทุกสภาวะมีการเกิดดับอยู่ตลอดเวลา พื้นที่ป่าเขาศาลาก็มีลักษณะเช่นนั้น จากสภาพเมื่อก่อนพื้นที่ป่ามีความอุดมสมบูรณ์ เมื่อความเจริญเข้ามา ชุมชนมีการขยายตัว และได้รับวัฒนธรรมตลอดจนสื่อสารต่างๆ ทำให้พื้นที่มีการเปลี่ยนแปลง ปัจจัยหลักๆ คือเศรษฐกิจความเป็นอยู่ในชุมชนนั่นเอง เพื่อความอยู่รอดชาวบ้านได้ขยายอาณาเขตกว้างขึ้น พระสงฆ์ตระหนักถึงสภาวการณ์ที่เกิดขึ้น กล่าวคือมีความเข้าใจสภาพการเปลี่ยนแปลง ได้จัดการเพื่อยุติปัญหา และชี้ให้เห็นว่ามนุษย์กับสิ่งมีชีวิตมีความเกี่ยวโยงกันจะขาดระบบใดระบบ หนึ่งไม่ได้ ด้วยเหตุนี้ รัฐ ชุมชน ให้การสนับสนุน มีสถาบันการศึกษานำคณะครูนักเรียนนักศึกษาเข้าไปศึกษาระบบนิเวศวิทยาอยู่ไม่ ขาดสาย
            ปัจจุบัน พุทธอุทยานวัดเขาศาลาอตุลฐานะจาโร มีสภาพพื้นที่ป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ จังหวัดสุรินทร์โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยได้โปรโมทต์ให้เป็นสถานที่ ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ เชิงนิเวศ เชิงวัฒนธรรม มีรอยพระพุทธบาทจำลองที่บ่งบอกถึงอารยะธรรมอันเก่าแก่ของขอมโบราณ และกรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนผานางคอยเป็น ผาพระ ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนเป็นผลิตผลที่ได้จากอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ของพระสงฆ์ ทั้งสิ้น


อ้างอิง
กรมป่าไม้. (2547). “สถิติป่าไม้ไทย”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : http://www.forest.go.th      สืบค้น 27 มกราคม 2551
กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม. (2544). พระพุทธศาสนากับสิ่งแวดล้อม. กรุงเทพฯ : ม.ป.ท.
กองแผนงาน กรมการศาสนา. (2539). คู่มือการปฏิบัติงานด้านศาสนา. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์    การศาสนา.
เกษม จันทร์แก้ว. (2530). ป่าไม้กับการพัฒนาชนบท. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ชุมชนสหกรณ์     การเกษตรแห่งประเทศไทย.

เทียม คมกฤส. (2514). นโยบายป่าไม้. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์อักษรการพิมพ์.
นิวัติ เรืองพานิช. (2538). การอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้และสิ่งแวดล้อม. กรุงเทพฯ : เฉลิมชัย
     การพิมพ์.
ฝ่ายศาสนากับป่าไม้ ส่วนทรัพยากรที่ดินและป่าไม้. (มปป.). ข้อเท็จจริงระหว่างพระสงฆ์กับ  ป่าไม้ และนโยบาย         แก้ไขปัญหาของกรมป่าไม้. (มปท.). สำนักอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ    กรมป่าไม้.
พจนานุกรมฉบับเฉลิมพระเกียรติ พ.ศ. 2530. (2534). พิมพ์ครั้งที่ 11. กรุงเทพมหานคร :    วัฒนาพานิช.
พรชุลี อาชวอำรุง และคณะ. (2549). รายงานฉบับย่อ โครงการศึกษาวิจัยการศึกษาทบทวนโครงการ     ครูพระสอน      ศีลธรรมในโรงเรียน กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม. พิมพ์ครั้งที่ 1.   กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ชุมชน         สหกรณ์   การเกษตรแห่งประเทศไทย.
พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต). (2537). คนไทยกับป่า. พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพฯ : มูลนิธิพุทธธรรม.
____________________. (2543). คนไทยกับป่า. กรุงเทพฯ : กรมวิชาการ องค์การค้า ของคุรุสภา.
ไพฑูรย์ ปานประชา. (2540). แบบเรียนพระพุทธศาสนา 2. กรุงเทพฯ : พรีเมียร์บุ๊คส์จำกัด.
สำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม. (2542). รายงานสถานการณ์สิ่งแวดล้อม ภาคอีสาน    ตอนล่าง พ.ศ. 2541-           2542. (ม.ป.ท.)
นิวัติ เรืองพานิช. (2528). การอนุรักษ์ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม. กรุงเทพฯ : เฉลิมชาญการ   พิมพ์.
อัจฉรา ภาณุรัตน์. (2551). บันทึกการประชุมเตรียมงานสัมมนาทางวัฒนธรรมเชิงนานาชาติ เฉลิมพระเกียรติพระนาง     เจ้าสิริกิต์ 70 พรรษา. วันที่ 1 มิถุนายน 2551. มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์.

ข้อมูลภาคสนาม
สัมภาษณ์พระพิศาลศาสนกิจ เจ้าอาวาสวัดเขาศาลาอตุลฐานะจาโร พรรษา 35 อายุ 55 เมื่อ   วันที่ 14      เดือน          กรกฎาคม พ.ศ. 2551
สัมภาษณ์พระครูไพโรจน์วุฒิคุณ รองเจ้าอาวาสวัดเขาศาลาอตุลฐานะจาโร พรรษา 20 อายุ 40      เมื่อ วันที่ 5 เดือน       ธันวาคม พ.ศ. 2551


[1] พระมหาเฉลิมเกียรติ แก้วหอม. พธ.บ. (การเมืองการปกครอง), ศศ.ม. (ยุทธศาสตร์การพัฒนา), ปัจจุบันกำลังศึกษา Ph.D. (Leadership and Administration)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น