วันพฤหัสบดีที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2555

ตำนานพญานกยูงทอง : กำเนิดพระคาถาป้องกันสารพัดภัย(โมรปริตต์)


            ครั้ง เมื่อสมเด็จพระผู้มีพระภาค ทรงประทับอยู่ ณ เชตวันมหาวิหาร ทรงปรารภถึงภิกษุผู้ตกอยู่ในอารมณ์กระสันรูปหนึ่ง จึงทรงตรัสพระปริตรนี้ให้แก่ภิกษุนั้นฟัง มีความว่าอดีตกาลเนิ่นนานมา มีพระราชาทรงพระนามว่าพรหมทัตต์ครองราชสมบัติในนครพาราณสี พระโพธิสัตว์เจ้าได้บังเกิดในครรภ์นางนกยูง อาศัยอยู่ในป่าชายแดนกรุงพาราณสี เมื่อพระโพธิสัตว์ออกจากไข่แล้ว มีผิวพรรณและสีขนเป็นเงางาม เป็นสีทอง พร้อมประกอบด้วยลักษณะอันเลิศกว่านกทั้งปวง เมื่อเติบใหญ่ เจริญวัยขึ้น ก็ได้เป็นเจ้าแห่งนกยูงทั้งปวง
                วัน หนึ่งพญานกยูงทองได้ไปดื่มน้ำในสระแห่งหนึ่ง มองเห็นเงาของตนในน้ำ จึงได้รู้ว่าตนนี้มีรูปงามยิ่งกว่านกยูงทั้งหลาย จึงคิดว่า ถ้าเราขืนอยู่รวมกับหมู่นกยูงทั้งหลายอาจจะนำพาภัยมาถึงหมู่คณะและแก่ตัวเอง ได้ เห็นทีเราจะต้องหลีกออกเสียจากหมู่ไปหาที่อยู่ใหม่ คงจะต้องไปให้ไกลจนถึงป่าหิมพานต์ เราจึงจะพ้นภัย พญานกยูงทองนั้นคิดเช่นนี้แล้ว จึงออกบินไปด้วยกำลัง ไม่ช้านักก็ถึงป่าหิมพานต์นั้น เสาะแสวงหาได้ถ้ำแห่งหนึ่งตั้งอยู่บนยอดเขาสูงชัน ณ ป่าหิมพานต์นั้นเป็นที่อยู่อาศัย เป็นชัยภูมิที่เหมาะสม และปลอดภัยจากสัตว์ร้ายทั้งหลาย
             ครั้นรุ่งขึ้น พระโพธิสัตว์จึงได้ออกจากถ้ำ บินไปจับบนยอดเขา หันหน้าไปสู่ทิศบูรพา (ทิศตะวันออก) แล้วเพ่งมองดวงอาทิตย์ยามเช้า พร้อมกับสาธยายพระปริตร ซึ่งขึ้นต้นด้วยคำว่า "อุเทตะยัญ จักขุมาเอกะราชา ฯลฯ " เป็นต้น เพื่อป้องกันรักษาตนในเวลากลางวัน แล้วจึงเที่ยวออกไปแสวงหาอาหาร
               ครั้นถึงเวลาเย็น เมื่อจะบินกลับเข้าที่อยู่ พญานกยูงทอง ก็ไม่ลืมที่จะบินขึ้นไปจับอยู่บนยอดเขา หันหน้าสู่ทิศตะวันตก แหงนมองดวงอาทิตย์ที่กำลังอัสดงลับขอบฟ้าไป แล้วสาธยายมนต์พระปริตรขึ้นว่า "อะเปตะยัญ จักขุมา เอกะราชา ฯลฯ " เป็นต้น เพื่อป้องกันภัยและรักษาตนในเวลาตลอดราตรี แล้วจึงบินกลับเขาไปอาศัยอยู่ในถ้ำจนตลอดรุ่ง
               เช้าตรู่ของวันใหม่ พญายูงทอง ก็ทำดังนี้ ทุกวันมิได้ขาด พร้อมได้สถิตสถาพรตั้งมั่นอยู่ในความสุขสำราญตลอดมา โดยมิมีทุกข์ภัยใดๆ มากล้ำกรายได้เลย กาลต่อมา มีพรานป่าผู้หนึ่งเดินหลงป่ามา ได้พบเห็นพญานกยูงทองที่เกาะอยู่บนยอดขุนเขานั้น แต่ก็มิได้ทำประการใด เพราะมัวแต่พะวงกับการหาทางออกจากป่า จนพรานผู้นั้นหาทางกลับบ้านของตนได้  แต่ก็มิได้เล่าเรื่องที่ตนได้พบเห็นพญานกยูงทองนั้นแก่ผู้ใด จวบจนเวลาที่ตนแก่ใกล้ตายจึงได้บอกเรื่องพญายูงทองให้แก่บุตรของตนได้ทราบ แล้วสั่งว่าควรนำข่าวนี้ไปแจ้งแก่พระราชาให้ทรงทราบ สั่งบุตรของตนแล้วก็สิ้นใจตาย
              ต่อมาภายหลัง พระมเหสีของพระราชาเจ้าเมืองพาราณสี ทรงพระสุบินนิมิตรว่า ขณะที่พระนางทรงประทับอยู่ภายในพระราชอุทยาน ณ ริมสระปทุมชาติ ได้มีนกยูงสีทองบินมาจากทิศอุดร แล้วร่อนลงจับอยู่ ณ ขอนไม้ใหญ่ท่อนหนึ่ง แล้วนกยูงทองนั้นก็ได้ปราศรัย แสดงธรรมให้แก่พระนางฟัง  เมื่อพญายูงทองนั้นแสดงธรรมจบแล้ว จึงได้บินกลับสู่ทิศอุดรเช่นเดิม ในฝันพระนางได้ตะโกนร้องบอกแก่บริวารว่า ช่วยกันจับนกยูงที ช่วยกันจับนกยูงที พระนางตะโกนจนกระทั้งตื่นบรรทม นับแต่นั้นมา พระนางอาลัยปรารถนาจักได้นกยูงทองตัวนั้นมา จึงออกอุบายแสร้งทำเป็นทรงพระประชวร ด้วยอาการแพ้พระครรภ์ แล้วทูลขอพระสวามีว่า การแพ้ท้องครั้งนี้จักหายได้  ก็ต่อเมื่อหม่อมฉันได้มีโอกาสเห็นพญานกยูงทอง และได้สดับธรรมที่พญานกยูงทองนั้นแสดง
          พระเจ้าพรหมทัตต์ จึงทรงมีรับสั่งให้เกณฑ์เหล่าพรานไพรทั้งหลาย ที่อาศัยอยู่ในเมืองพาราณสีและรอบอาณาเขตพระนคร เมื่อบรรดาพรานไพรมาประชุมพร้อมกันแล้ว พระราชาจึงทรงตรัสถามว่า มีใครรู้จักนกยูงสีทองบ้าง  ขณะนั้นพรานหนุ่มผู้ซึ่งเคยได้รับคำบอกเล่าจากบิดาว่า ได้เคยเห็นนกยูงทอง จึงลุกขึ้นกราบบังคมทูลเนื้อความนั้นแก่พระราชา พร้อมทั้งกราบทูลแจ้งที่อยู่ของพญานกยูงทองแก่       พระราชาด้วย  พระเจ้าพรหมทัตต์ จึงทรงมีพระบัญชาว่า ดีหล่ะในเมื่อเจ้าพอจะรู้ถึงถิ่นที่อยู่ของพญายูงทอง เราก็จะตั้งให้เจ้าเป็นพรานหลวงไปจับนกยูงทองตัวนั้นมาให้เราและพระมเหสี พรานหนุ่มรับพระบัญชาจากพระราชา แล้วออกเดินทางไปสู่ป่าหิมพานต์ เพื่อที่จะจับยูงทองตัวนั้นมาถวายพระราชาให้จงได้ จวบจนวันเวลาล่วงเลยไปหลายสิบปี พรานหนุ่มซึ่งบัดนี้แก่ชราลงแล้ว ก็ยังมิสามารถจับพญานกยูงทองนั้นได้ ครั้นจะกลับไปยังบ้านเมืองก็เกรงจะต้องอาญา จึงทนอยู่ในป่าหิมพานต์จนกระทั่งตาย
          ส่วนพระเทวี เมื่อเฝ้ารอพญายูงทองที่ส่งนายพรานไปจับ ก็ยังไม่เห็นมาจนกระทั่งตรอมพระทัยตายในที่สุด   พระเจ้าพรหมทัตต์ทรงเสียดายอาลัยรักพระมเหสีเป็นที่ยิ่งนัก จึงทรงดำริว่า พระมเหสีของเราต้องมาตายโดยยังมิถึงวัยอันควร เหตุน่าจะมาจากพญานกยูงทองตัวนั้นเป็นแน่ บัดนี้เราก็แก่ชราลงมากแล้ว คงจะไม่มีโอกาสเห็นนายพรานคนใดจับนกยูงทองตัวนั้นได้เป็นแน่ ดีหละถ้าเช่นนั้นเราจะผูกเวรแก่นกยูงตัวนี้ ทรงดำริดังนั้นแล้ว จึงมีรับสั่งให้นายช่างทองสลักข้อความว่า หากผู้ใดได้กินเนื้อของพญานกยูงทอง ที่อาศัยอยู่ ณ ป่าหิมพานต์ จักมีอายุยืนยาวไม่แก่ ไม่ตาย ลงในแผ่นทอง แล้วเก็บรักษาไว้ในท้องพระคลัง  ต่อมาไม่นานพระเจ้าพรหมทัตต์ก็ถึงกาลทิวงคตลง แผ่นทองจารึกนั้นตกถึงมือของยุวกษัตริย์องค์ต่อมา เมื่อทรงรู้ข้อความในแผ่นทองจารึกนั้นก็หลงเชื่อ มีรับสั่งให้พรานป่าออกไปตามจับพญานกยูงทองมาถวาย และแล้วพรานไพรนั้นก็ต้องไปตายเสียในป่าอีก
          เหตุการณ์ได้ดำเนินไปเช่นนี้ จนสิ้นเวลาไป 693 ปี พระราชาในราชวงศ์นี้ทิวงคตไป 6 พระองค์
แม้ว่าจะสิ้นพรานป่าไป 6 คน พระราชาทิวงคตไป 6 พระองค์ ก็ยังหามีผู้ใดมีความสามารถจับพญายูงทองโพธิสัตว์ได้ไม่ จวบจนถึงรัชสมัยพระราชาองค์ที่ 7 ผู้ครองกรุงพาราณสี ได้คัดสรรจัดหาพรานป่าผู้มีสติปัญญาเฉลียวฉลาด เป็นคนละเอียดรู้จักสังเกต รู้กลอุบาย
          นายพรานคนที่ 7 เมื่อได้รับพระบัญชาจากพระราชาให้ออกไปจับนกยูงทอง ณ ป่าหิมพานต์ ก็จัดเตรียมอุปกรณ์พร้อมบ่วงบาศเพื่อจะไปดักจับพญายูงทอง พรานนั้นใช้เวลาในการดักจับพญายูงทองสิ้นเวลาไป 7 ปี พญายูงทองก็หาได้ติดบ่วงของนายพรานไม่  นายพรานจึงมาใคร่ครวญดูว่าทำไมบ่วงของเราจึงไม่รูดติดข้อเท้าของพญายูงทอง แต่ก็หาคำตอบได้ไม่ พรานนั้นก็มิได้ละความพยายาม เฝ้าสังเกตกิริยา และกิจวัตรประจำวันของพญายูงทอง จึงได้รู้ว่าทุกเช้า และทุกเย็นพญานกยูงทอง จักเจริญมนต์พระปริตร โดยช่วงเช้าบ่ายหน้าไปทางทิศตะวันออกมองพระอาทิตย์ ตอนเย็นหันหน้าไปทางทิศตะวันตกมองพระอาทิตย์ แล้วสาธยายมนต์  พรานนั้นสังเกตต่อไปว่า ในที่นี้หาได้มีนกยูงตัวอื่นอยู่ไม่ แสดงว่าพญานกยูงนี้ยัง รักษาพรหมจรรย์อยู่ คงด้วยอำนาจของการรักษาพรหมจรรย์และมนต์พระปริตร ทำให้บ่วงของเราไม่ติดเท้านกยูงทอง
            ครั้นนายพรานได้ทราบมูลเหตุดังนั้นแล้ว จึงคิดจะขจัดเครื่องคุ้มครองของพญานกยูงทองเสีย นายพรานนั้นจึงเดินทางกลับสู่บ้านของตน แล้วออกไปดักนกยูงตัวเมียที่มีลักษณะดีในป่าใกล้บ้าน ได้มาหนึ่งตัว แล้วจึงทำการฝึกหัดให้นางนกนั้น รู้จักอาณัติสัญญา เช่น ถ้านายพรานดีดนิ้วมือ นางนกยูงก็จะต้องร้องขึ้น ถ้าปรบมือนางนกยูงก็จะทำการฟ้อนรำขึ้น เมื่อฝึกสอนนางนกยูงจนชำนิชำนาญดีแล้ว พรานนั้นก็พานางนกยูงเดินทางไปยังที่ที่พญานกยูงทองอาศัยอยู่ แล้วทำการวางบ่วงดักเอาไว้ ก่อนที่พญายูงทองจะเจริญมนต์พระปริตร พรานได้วางนางนกยูงลงใกล้ๆ กับที่ดักบ่วง แล้วดีดมือขึ้น นางนกยูงก็ส่งเสียงร้องด้วยสำเนียงอันไพเราะจับใจ จนได้ยินไปถึงหูของพญายูงทองโพธิสัตว์
        คราที่นั้นเอง กิเลสกามที่ระงับด้วยอำนาจของตบะที่หลบอยู่ในสันดาน ก็ได้ฟุ้งซ่านขึ้นในทันที เสียงนางยูงทองนั้นทำให้พญายูงทองโพธิสัตว์มีจิตกระสันฟุ้งซ่านเร่าร้อนไป ด้วยไฟราคะ ครอบงำเสียซึ่งตบะของพญานกยูงทอง  ไม่สามารถมีจิตคิดจะเจริญมนต์พระปริตรสำหรับป้องกันตนได้เลย
          พญานกยูงทองโพธิสัตว์ จึงได้ออกจากคูหา แล้วโผผินบินไปสู่ที่ที่นางนกยูงยืนส่งเสียงร้องในทันที ขณะที่มัวสนใจในรูปโฉมของนางนกยูง พลันเท้านั้นก็เหยียบยืนเข้าไปในบ่วงบาศของพรานที่วางดักไว้ บ่วงใดๆ ที่มิได้เคยร้อยรัดพระมหาโพธิสัตว์ยูงทองตลอดเวลา ๗๐๐ ปี บัดนี้ พญายูงทองโพธิสัตว์ ได้โดนบ่วงทั้ง สองร้อยรัดสิ้นอิสระเสียแล้ว  บ่วงทั้งสองนั้นก็คือ "บ่วงกาม"  "บ่วงบาศ"
          โอ้หนอ บัดนี้ทุกข์ภัยได้บังเกิดต่อพญานกยูงทองโพธิสัตว์เสียแล้ว เป็นเพราะเผลอสติแท้ๆ เพราะนางนกยูงตัวนี้เป็นเหตุ จึงทำให้พญายูงทองมีจิตอันเร่าร้อนไปด้วยกิเลส จนต้องมาติดบ่วงของเรา การที่เรามาทำสัตว์ผู้มีศีลให้ลำบากเห็นปานนี้ เป็นการไม่สมควรเลย จำเราจะต้องปล่อยพญานกนี้ไปเสียเถิด แต่ถ้าเราจะเดินเข้าไปปล่อย พญานกยูงทองนั้น ก็จะดิ้นรนจนได้รับความลำบาก เห็นทีเราจะต้องใช้ธนูยิงสายบ่วงนั้นให้ขาด เพื่อพญานกจะได้หลุดจากบ่วง ที่คล้องรัดอยู่ นายพรานคิด
          ครั้น นายพรานผู้มีใจเป็นธรรมคิดดังนั้นแล้ว จึงจัดการนำลูกธนูมาขึ้นพาดสาย แล้วเล็งตรงไปยัง เชือกบ่วงที่ผูกติดกับต้นไม้ เพื่อหมายใจจะให้เชือกขาด  พญานกยูงทองโพธิสัตว์ครั้นได้แลเห็นนายพรานโก่งคันศรก็ตกใจกลัว ว่านายพรานจะยิ่งตนตายด้วยลูกศร จึงร้องวิงวอนขอชีวิตต่อนายพรานว่า  ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ถ้าท่านจับเราเพราะต้องการทรัพย์แล้วหละก็ ขออย่าได้ฆ่าเราเลย จงจับเราเป็นๆ เอาไปถวายพระราชาเถิด พระราชาจะปูนบำเหน็จให้ท่านอย่างงามทีเดียวหละ
          พราน ป่าเมื่อได้ฟังนกยูงทองร้องบอกและขอชีวิตดังนั้น จึงกล่าวว่า เรามิได้มีความประสงค์จะฆ่าท่านหรอก การที่เราเล็งศรไปยังท่าน ก็เพียงเพื่อจะยิงเชือกบ่วงให้ขาด เพื่อปล่อยท่านให้เป็นอิสระ พญา นกยูงทองโพธิสัตว์จึงร้องขอบใจต่อนายพราน พร้อมทั้งแสดงอานิสงฆ์ของการไม่ฆ่าสัตว์ และผลของการฆ่าสัตว์ ว่าจะได้รับโทษทุกข์ทัณฑกรรมนานา อีกทั้งชี้แจงให้พรานป่าได้รู้ถึงผลของบุคคลผู้มีมิจฉาทิฐิ ว่ามีโทษทำให้ตนและคนอื่นเดือดร้อน ส่วนผู้มีสัมมาทิฐิย่อมมีผลที่ให้เกิดสุขทั้งตนและคนอื่น ทั้งยังได้บอกประโยชน์ของการไม่คบคนพาล คบบัณฑิต และที่สุดพญานกยูงทองก็ชี้ให้นายพรานได้เห็นทุกข์ภัยของสัตว์นรก ว่าเกิดจากความเมาประมาทขาดสติ
          เมื่อสิ้นสุดธรรมโอวาท พรานนั้นก็ได้สำเร็จเป็นพระปัจเจกโพธิญาณ ส่วนพญายูงทองก็ได้พ้นจากบ่วงทั้งสอง คือบ่วงกาม และบ่วงบาศที่เกิดจากเครื่องดักจับ พระปัจเจกพุทธเจ้าพระองค์นั้น ได้ทำการ ประทักษิณแก่พญานกยูงทองโพธิสัตว์ แล้วก็เหาะขึ้นไปบนอากาศไปสถิตอยู่ ณ ถ้ำบนยอดเขานันทมูลคีรี

ที่มา : http://www.amulet.in.th/login. สืบค้นเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2555



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น