วันอาทิตย์ที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2555

หลวงพ่อเยื้อน : พญานกยูงทองแห่งเทือกเขาพนมดงรัก

เทือกเขาพนมดงรัก ทำไมพระธุดงค์ไม่นิยมนิยมธุดงค์ผ่านมา
                 เทือกเขาพนมดงรัก (ภาษาเขมรพื้นบ้านสุรินทร์ เรียกว่า “พนมดองเรียก หรือพนมดองแร็ก”) เป็นเทือกเขาที่ทอดตัวยาวตั้งแต่จังหวัดอุบลราชธานีไปจนถึงจังหวัดบุรีรัมย์ เป็นแนวเทือกเขาที่มีความสำคัญในด้านยุทธศาสตร์ทางการทหาร กล่าวคือเป็นแนวเขาที่มีป่าอุดมสมบูรณ์ เป็นแนวกันชนแบ่งเขตแดนกับประเทศเพื่อนบ้านของไทยเรา คือประเทศราชอาณาจักรกัมพูชา (ขแมร์กรอม) ถ้าพิจารณาในด้านป่าไม้ตามแนวชายแดนดังกล่าว จะเห็นสภาพป่ามีพื้นที่ต่อเนื่องถึงจังหวัดในภาคตะวันออกของไทยด้วย ในท่ามกลางพื้นป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์นี้ ก็ย่อมมีสรรพสิ่งทั้งหลายอาศัยอยู่ด้วย ซึ่งไม่เฉพาะแต่มนุษย์ สัตว์ป่าเท่านั้น ยังมีสิ่งเร้นลับมากมายอาศัยอยู่ 

สภาพป่าในพื้นที่เขาศาลา 
และสภาพป่าโดยรวมบริเวณเทือกเขาพนมดงรัก

                  ในอดีตตามประวัติครูบาอาจารย์สายกัมมัฏฐาน (พระป่าสายหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต) มักไม่ค่อยนิยมเดินท่องป่าหาความสงบวิเวกในพื้นป่าบริเวณนี้นัก  จะปรากฏก็แต่ในประวัติการปฏิบัติธรรมของท่านพ่อลีแห่งสำนักวัดอโศการาม จังหวัดสมุทรปราการ ที่ออกวิเวกกับคณะลูกศิษย์เท่านั้น และมีสายของหลวงพี่ฤษีลิงดำ (พระราชพรหมญาณมุนี ถ้าสมณะศักดิ์ของท่านผิดขออภัยด้วยนะครับ) เท่านั้นที่เดินผ่านมาทางนี้  สาเหตุหลักๆ ที่ได้ฟังจากคำบอกเล่าของครูบาอาจารย์ ก็คือป่าบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชานี้มีความเสี่ยงสูง เนื่องจากในอดีตพื้นที่บริเวณแถบนี้เป็นพื้นที่สีแดง มีการสู่รบกับมาก่อน อาวุธสงครามต่างๆ เช่น มีการวางทุ่นระเบิดไว้ กองกำลังไม่ทราบอาวุธซ่อนอยู่ ดังนั้น ถ้าพระป่า หรือพระสงฆ์ที่ต้องการเที่ยววิเวกอาจได้รับความเสี่ยง  ถือเป็นที่อโคจรของพระสงฆ์ และที่สำคัญยิ่งกว่า คืออันตรายกว่ากระสุนปืน และทุ่นระเบิดคือ พื้นที่จังหวัดสุรินทร์ ศรีสะเกษ บุรีรัมย์ ในอดีตขึ้นชื่อมากที่สุดด้านการเล่นของ คือวิทยาการของคุณไสย์ ที่เราได้ยินและรู้จักกันว่าไสยศาสตร์ โดยเฉพาะฝั่งจังหวัดสุรินทร์นั้น ของแรงมากเนื่องจากผู้ร่ำเรียนในศาสตร์นี้ ข้ามฝั่งไปเรียนที่เขมร ในหมู่คนเล่นของแบบนี้จะรู้จักกันว่า “เขากิเลน” ฟังดูเหมือนนิยายปรัมปรา แต่ความสามารถด้านคุณไสย์ของคนบางกลุ่มในพื้นที่เหล่านี้มีอยู่จริง บุคคลที่จะต้องโดนก่อนใครเขาคือ พระสงฆ์ โดยเฉพาะพระสงฆ์ที่เรียกตัวเองว่าพระป่ากัมมัฏฐาน  เพราะคนที่เป็นจอมขมังเวทย์มักคิดว่าพระสงฆ์มีคาถาดี ไม่เช่นนั้นแล้วคงไม่กล้าเดินป่าหาความวิเวกรูปเดียวแน่นอน 



                ในฐานะที่ข้าพเจ้าเป็นคนในพื้นที่ โดยส่วนตัวก็ไม่ค่อยเชื่อเรื่องนี้เท่าไหร่นัก อาจเป็นเพราะตนยังไม่เคยประสบมาด้วยตนเอง อีกอย่างคิดว่า ถ้าเก่งจริงก็น่าจะเสกรถเบ็นซ์สักคันเข้าท้องคนจนๆ เวลารักษาเสร็จก็จะได้รถไว้ใช้ (ความคิดส่วนตัว) แต่จากการได้อยู่ใกล้ชิดครูบาอาจารย์เรื่องแบบนี้บางทีไม่เชื่อก็ต้องเชื่อนะ เพราะเห็นคนที่เรียกตัวเองว่าโดนของมา กับครูบาอาจารย์ที่ท่านโดนเขาใส่คุณไสย์มันเหมือนกันเลย อาการเดียวกัน จะตายให้ได้ เมื่อได้รับการรักษาก็ค่อยๆ ดีขึ้นเรื่อยๆ


               ท่านพระอาจารย์เยื้อนกล่าวว่าไว้ในคำเทศน์ของท่านว่า “จิตกับร่างกายคนละคนกัน จิตนั้นเป็นนามธรรมที่คุณไสย์ทั้งหลายไม่สามารถทำลายได้ แต่ร่างกายซึ่งเป็นรูปธรรม ของทุกอย่างที่เขาปล่อยมา ร่างกายจะรับเต็มๆ เพราะฉะนั้นใครที่ภาวนาดีขนาดไหนก็หลบไม่ได้  เว้นแต่ปล่อยมาไม่ถูกแค่นั้นแหละ  คือร่างกายทรมานเจ็บปวดไปตามอาการที่เขาให้เป็น  แต่ด้านจิตใจไม่มีอะไร  จิตไม่กระทบกระเทือน  แต่เนื่องจากจิตยังต้องอาศัยร่างกายในการเป็นอยู่ จึงต้องทรุดไปตาม”  คือจิตไม่เป็นไรครับ  ต่อให้ของขลังแต่ไหนก็ไม่สามารถทำให้จิตเป็นไปตามได้ (สำหรับผู้ที่ท่านปฏิบัติถึงขั้นแล้วนะ) แต่ร่างกายของท่านยังไม่ถูกทำลาย (ตายแล้วเผา) มันก็ต้องเป็นเป้ารับของที่เขาปล่อยมาเต็มๆ ที่กล่าวถึงประเด็นนี้ไม่ได้บอกว่าพิธีกรรมการรักษาของหมอพื้นบ้านเกี่ยวกับการรักษาคุณไสย์ที่ปรากฏได้ยินตามที่ต่างๆ จะขลังตามไปด้วยนะ  การรักษาก็ขึ้นอยู่กับหมออีกนั่นแหละ  ถ้าไม่จบมาด้านนี้โดยตรงก็ไม่มีความรู้พอที่จะรักษาใครได้  และคนที่รักษาได้จริงๆ เขาก็ไม่เปิดเผยตัวต่อสาธารณะชนมากนัก เพราะตัวเขาเองก็มีของเหมือนกัน คือร่ำเรียนคุณไสย์มาเหมือนกัน (รู้เขา-รู้เรา-จึงจะสามารถรักษาคนได้) ที่เรียกว่า “พนมดงรัก” นั้นเพราะคนในพื้นที่มีความเชื่อว่า เทือกเขาลูกนี้มีลักษณะสัณฐานเหมือนกับไม้คาน ที่เอาไว้สำหรับหาบสิ่งของต่างๆ (ข้อมูลทางภูมิศาสตร์ท่านที่สนใจสามารถสืบค้นเพิ่มเติมได้จากแหล่งข้อมูลต่างๆ นะครับ) เป็นเสมือนกำแพงสูงหนาทึบที่กั้นเขตแดนระหว่างไทยกับกัมพูชา แต่ถึงกระนั้นก็ตาม ชาวบ้านทั้งสองเชื้อชาติในอดีตก็มีการติดต่อค้าขายซึ่งกันและกัน เป็นการเชื่อมสัมพันธ์อันดีระหว่างกัน ผลิตภัณฑ์ที่ขึ้นชื่อของชาวเขมรในอดีตก็คือปลาร้า ปลาจ่อม  ส่วนฝั่งไทยก็มีเกลือไว้แลก แต่สิ่งหนึ่งที่สามารถข้ามกำแพงเมืองใหญ่นี้ได้ และสามารถหล่อมรวมหลายเผ่าพันธุ์ให้อยู่กันอย่างมีความสุข คือความรัก หนุ่มสาวฝั่งไทยมีการแต่งงานกัน แม้ผู้นำระดับเจ้าเมืองก็มีการกระทำในลักษณะนี้ ส่วนหนึ่งเพราะเชื่อว่าถ้าคนในสองครอบครัวสองเผ่าพันธุ์มาอยู่ด้วยกันก็สามารถสร้างความยิ่งใหญ่ ความสามัคคี ให้เกิดขึ้นได้



กลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ และประเพณีของคนในพื้นที่
              เทือกเขาพนมดงรัก ถ้าพิจารณาจากชื่อทางภูมิศาสตร์ที่ปรากฏเป็นเทือนกเขา บ่งบอกได้ทันที่ว่า พื้นที่นี้มีกลุ่มชาติพันธุ์เขมรอาศัยอยู่เป็นหลัก และที่มากสุดก็ในส่วนของพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ อำเภอบัวเชด อำเภอสังขะ อำเภอกาบเชิง อำเภอพนมดงรัก ส่วนพื้นที่นอกนั้นทุกวันนี้มีผสมหลายเผ่าพันธุ์ทั้งลาวอีสาน ส่วย  เยอ ทุกวันนี้ยังมีฝรั่งตะวันตกเข้ามาร่วมด้วย เรียกว่ามีความหลากหลายทางวัฒนธรรม เนื่องจากพื้นที่แถบนี้ในอดีตเป็นป่าทึบศาสนาสากลต่างๆ ยังเข้าไม่ถึง คนส่วนใหญ่จึงหันมานับถือผี เพราะเชื่อว่าคนที่ตายไปแล้วโดยเฉพาะปู่-ย่า, ตา-ยาย, พ่อ-แม่ ของตนนั้นท่านจะมารักษาคุ้มครอง ปกป้องภัยพิบัติต่างๆ ให้  สิ่งหนึ่งที่ทำให้คนระลึกถึงบรรพชนของตนได้เสมอคือ ไร่-นา-สวน ที่ท่านเหล่านั้นทิ้งไว้ให้เป็นทรัพย์มรดกตกทอด
 (มีเพิ่มเติมอีกนะครับ คอยติดตามตอนต่อไป)


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น