วันอาทิตย์ที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2555

บทบาทและหน้าที่ของชาวพุทธในยุคโลกาภิวัฒน์


นโม ตสฺส  ภควโต  อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส
.

ยงฺกิญฺจิ  สมุทยธมฺมํ  สพฺพนฺตํ  นิโรธธมฺมตีติ.
สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา  สิ่งนั้นทั้งปวงย่อมดับไปเป็นธรรมดา.

บัด นี้ อาตมภาพจักได้อรรถาธิบายขยายความแห่งพระธรรมเทศนา เนื่องในวันอาสาฬหบูชาปุณณมีและวันเขาพรรษา เพื่อเป็นการฉลองศรัทธาอุบาสกอุบาสิกาผู้สนใจในธรรมทั้งหลาย และเพื่อเป็นพุทธบูชา  ธรรมบูชา  สังฆบูชา ตามสมควรแก่เวลาสืบไป
ในอดีตครั้งพุทธกาล วันนี้เป็นวันคล้ายวันที่มีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้น 3 อย่างด้วยกัน คือ หตุการณ์ที่ 1 พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงพระธรรมเทศนาเป็นครั้งแรก เรียกว่า “ธัมมจักรกัปปวัตนสูตร” หมายถึง พระสูตรที่ยังล้อแห่งธรรมะให้หมุนไป ถ้าพิจารณาจากระบบความเชื่อของคนในสังคมอินเดียสมัยก่อนจะเห็นว่า คนในยุคนั้นมีความเชื่ออยู่ 2 ลักษณะ คือ 1) เชื่อว่าคนเราตายแล้วต้องกลับมาเกิดเป็นมนุษย์อีก 2) เชื่อว่าคนเราเมื่อเกิดมาแล้วต้องตาย และไม่ต้องกลับมาเกิดอีก นอกจากนั้นยังมีความเชื่อเรื่องวรรณะ ซึ่งได้นำไปสู่การแบ่งชั้นของคนในสังคมออกเป็น 4 กลุ่ม คือ กษัตริย์  พราหมณ์  แพทย์  ศูทร  แต่สิ่งหนึ่งที่ทุกคนมีเหมือนกัน คือความสุข ต่างคนต่างก็มีวิธีแสวงหาความสุขที่แตกต่างกันออกไป บ้างก็มองว่าการบำรุงบำเรอตนเองทาง รูป เสียง กลิ่น รส  สัมผัส  ความนึกคิด เป็นการดำเนินถูกต้องตามวิถีแห่งความสุข บ้างก็มองว่าการทรมานตนเองด้วยวิธีต่างๆ เช่น การอดอาหาร ตากแดด กลั่นลมหายใจ และการทรมานตนเพื่อให้ได้รับความเจ็บปวด คือการสร้างความสุข กล่าวคือนิพพานที่แท้จริง ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมาล้วนแล้วแต่สวนทาง คือตรงกันข้ามกับหลักคำสอนของพุทธศาสนาทั้งสิ้น พุทธศาสนาสอนให้เชื่อเรื่องกฏแห่งกรรม คือการกระทำของตนเองจะเป็นเครื่องกำหนดขอบข่ายให้กับตนในอนาคต ความสุขที่แท้จริงคือการดำเนินตามทางสายกลาย “มัชฌิมาปฏิปทา” ประกอบด้วย สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา  สัมมากัมมันตะ  สัมมาอาชีวะ  สัมมาวายามะ  สัมมาสติ  สัมมาสมาธิ
เหตุการณ์ที่ 2 ความจริงอันประเสริฐแท้ 4 ข้อ คือ ทุกข์  สมุทัย  นิโรธ  มรรค ถูกเปิดเผยขึ้นในโลกนี้  ไม่มีศาสดาของศาสนาอื่นในยุคน้ันนำมาเปิดเผยได้  ผู้ที่จะนำมาเปิดเผยได้ต้องเป็นผู้ที่รู้จริง  รู้แจ้ง แล้วเท่านั้น เรียกว่า อริยสัจ 4 เป็นการมองทุกอย่างอย่างเป็นระบบ ฝรั่งเรียกทฤษฎีนี้ว่า ทฤษฎีระบบ คือ Input Process outcome Feedback เป็นวงจรการทำงานที่มีความสืบต่อกัน  เหมือนเราปลูกต้นไม้สักต้น เมื่อลงมือปลูกแล้วก็ต้องหมั่นใส่ปุ๋ย รดนำ้ พรวนดิน ต้นไม้ก็เจริญเติบโต แต่ถ้าปลูกแล้วไม่หมั่นดูแล  ต้นไม้ก็หยุดการเจริญเติบโตฉันใด  การดับภพชาติของมนุษย์เราก็เช่นกัน ถ้าไม่อยากจะมาเกิดอีก ก็ต้องพยายามละกิเลสทั้งหลาย เป็นต้น
               เหตุการณ์ที่ 3 โกณฑัญญะได้ดวงตาเห็นธรรมในระดับต้น และทูลขอบรรพชาอุปสมบทเป็นพระสงฆ์รูปแรก ส่งผลให้รัตนะครบท้ัง 3 คือ พุทธะรัตนะ ธรรมะรัตนะ สังฆะรัตนะ พระปัญจะวัคคีย์คือพระพวกห้าประกอบด้วย โกณฑัญญะ  วัปปะ  ภัททิยะ  มหานามะ  อัชชิ ตั้งใจออกบวชเพราะหวังว่าจะได้ปรนนิบัติรับใช้สิทถัตถะกุมาร แต่ต้องล้มเลิกความตั้งใจ เพราะเห็นสิทธัตถะเลิกความเพียร โดยหันมาทานอาหารเหมือนแต่ก่อน จึงพากันหนีไปอยู่ในป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เมื่อได้ฟังธรรมซึ่งพวกตนไม่เคยได้ฟังธรรมลักษณะเช่นนี้มาก่อนเลยก็เกิดความ แปลกใจว่า สิทธัตถะกุมารได้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วกระมัง และขณะที่พระพุทธเจ้าแสดงธรรมจบลงปรากฏว่าโกณฑัญญะดาบส ได้ดวงตาเห็นธรรม เกิดความรู้ขึ้นภายในใจว่า “ยงฺกิญฺจิ  สมุทยธมฺมํ  สพฺพนฺตํ  นิโรธธมฺมํ” พุทธองค์จึงอุทานออกมาว่า “อัญญาสิ วต โภ โกณฑัญโญ” แปลว่า โกณฑัญญะได้รู้แล้วหนอ จึงเป็นที่มาของคำว่า อัญญาโกณฑัญญะ
             จาก เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งพุทธกาลดังที่ได้กล่าวมา จึงมีความสำคัญ  และพวกเราทุกคนมีส่วนได้ส่วนเสียกับพุทธศาสนามากที่สุด ในฐานะที่เป็นพุทธบริษัท 4 ดังนั้นวันนี้อาตมภาพจะนำพาทุกท่านได้ทบทวนบทบาทของตน เพื่อเป็นการตอกยำ้ว่า บริษัท 4 ซึ่งมีพระพุทธ พระธรรม  พระสงฆ์ เป็นที่พึ่งทางใจอันอุดมนั้นได้ทำหน้าที่ของตนเองประมาณไหนแล้ว ส่วนหนึ่งอาตมภาพมองว่าวันนี้เป็นวันเกิดขึ้นของพุทธศาสนาอย่างแท้จริง บางท่านอาจมองว่าวันวิสาขบูชา แต่สำหรับมุมมองของอาตมภาพแล้ว มองว่าวันนี้ต่างหาก เพราะพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมแล้ว ถ้ายังไม่ได้แสดงธรรมให้ผู้หนึ่งผู้ใดได้รู้ตามได้ ก็ไม่ชื่อว่าเป็นสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็เป็นได้แค่พระปัจเจกพุทธเจ้าเท่านั้น 
เปรียบมหาโจรกับพระภิกษุ
โจร หรือที่สื่อเรียกว่าผู้ก่อการร้าย ดั่งในสามจังหวัดชายแดนภายใต้ อดีตนายก พ.ต.ท. ดร.ทักษิณ ชินวัตร เรียกว่าโจรกระจอก สร้างความสูญเสียมากมายทั้งชีวิตผู้คน ทรัพย์สิน อิสระภาพ ของคนในท้องถิ่นนั้นๆ นี้คือธรรมชาติของโจร ในพุทธศาสนาเช่นเดียวกัน พุทธองค์ได้เปรียบพระภิกษุบางรูปเหมือนมหาโจร ที่คอยปล้นศาสนา ซึ่งในพระวินัยปิฎก เล่มท่่ี 1 มหาวิภังค์ ภาค 1 บรรทัดที่ ๘๖๐๕ - ๘๖๓๕.  หน้าที่  ๓๓๒ - ๓๓๓ กล่าวว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย มหาโจร ๕ จำพวกนี้ มีปรากฏอยู่ในโลก มหาโจร ๕ จำพวกเป็นไฉน
๑. ดูกรภิกษุทั้งหลาย มหาโจรบางคนในโลกนี้ ย่อมปรารถนาอย่างนี้ว่า เมื่อไรหนอเราจักเป็นผู้อันบุรุษร้อยหนึ่ง หรือพันหนึ่งแวดล้อมแล้ว ท่องเที่ยวไปในคามนิคมและราชธานี เบียดเบียนเอง ให้ผู้อื่นเบียดเบียน ตัดเอง ให้ผู้อื่นตัด เผาผลาญเอง ให้ผู้อื่นเผาผลาญ สมัยต่อมา เขาเป็นผู้อันบุรุษร้อยหนึ่ง หรือพันหนึ่ง แวดล้อมแล้วเที่ยวไปในคามนิคมและราชธานี เบียดเบียนเอง ให้ผู้อื่นเบียดเบียน ตัดเอง ให้ผู้อื่นตัด เผาผลาญเอง ให้ผู้อื่นเผาผลาญฉันใด ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้เลวทรามบางรูปในธรรมวินัยนี้ ก็ฉันนั้นเหมือนกันแลย่อมปรารถนาอย่างนี้ว่า เมื่อไรหนอ เราจึงจักเป็นผู้อันภิกษุร้อยหนึ่ง หรือพันหนึ่งแวดล้อมแล้วเที่ยวจาริกไปในคามนิคมและราชธานี อันคฤหัสถ์และบรรพชิต สักการะ เคารพ นับถือ บูชายำเกรง ได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัย เภสัชบริขาร สมัยต่อมา เธอเป็นผู้อันภิกษุร้อยหนึ่ง หรือพันหนึ่งแวดล้อมแล้ว เที่ยวจาริกไปในคามนิคมและราชธานี อันคฤหัสถ์และบรรพชิตสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ยำเกรงแล้ว ได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะและคิลานปัจจัยเภสัชบริขารทั้งหลาย ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นมหาโจรจำพวกที่ ๑ มีปรากฏอยู่ในโลก
๒. ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกข้อหนึ่ง ภิกษุผู้เลวทรามบางรูปในธรรมวินัยนี้ เล่าเรียนธรรมวินัยอันตถาคตประกาศแล้ว ย่อมยกตนขึ้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นมหาโจรจำพวกที่ ๒ มีปรากฏอยู่ในโลก
๓. ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกข้อหนึ่ง ภิกษุผู้เลวทรามบางรูปในธรรมวินัยนี้ ย่อมตามกำจัดเพื่อนพรหมจารี ผู้หมดจด ผู้ประพฤติพรหมจรรย์อันบริสุทธิ์อยู่ด้วยธรรมอันเป็นข้าศึกแก่พรหมจรรย์อัน หามูลมิได้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นมหาโจรจำพวกที่ ๓ มีปรากฏอยู่ในโลก
๔. ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกข้อหนึ่ง ภิกษุผู้เลวทรามบางรูปในธรรมวินัยนี้ ย่อมสงเคราะห์เกลี้ยกล่อมคฤหัสถ์ทั้งหลาย ด้วยครุภัณฑ์ ครุบริขาร ของสงฆ์ คือ อาราม พื้นที่อารามวิหาร พื้นที่วิหาร เตียง ตั่ง ฟูก หมอน หม้อโลหะ อ่างโลหะ กระถางโลหะ กระทะโลหะมีด ขวาน ผึ่ง จอบ สว่าน เถาวัลย์ ไม้ไผ่ หญ้ามุงกระต่าย หญ้าปล้อง หญ้าสามัญ ดินเหนียวเครื่องไม้ เครื่องดิน ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นมหาโจรจำพวกที่ ๔ มีปรากฏอยู่ในโลก
๕. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้กล่าวอวดอุตตริมนุสสธรรม อันไม่มีอยู่ อันไม่เป็นจริงนี้จัดเป็นยอดมหาโจร ในโลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณะพราหมณ์ เทวดา และมนุษย์ ข้อนั้น เพราะเหตุไร เพราะภิกษุนั้น ฉันก้อนข้าวของชาวแว่นแคว้น ด้วยอาการแห่งคนขโมย
การเป็นอุบาสก-อุบาสิกาที่ดี
ในสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย  มูลปัณณาสถ์ เล่ม1 ภาค1 หน้าที่ 336 การจะเป็นอุบาสกแก้ว  อุบาสกปทุม  อุบาสกบุณฑริก ได้นั้นต้องมี ศรัทธา  ศีล  ไม่ถือมงคลตื่นข่าว  ไม่ทำบุญนอกเขตพุทธศาสนา  ให้การสนับสนุนภิกษุสงฆ์ 
         ชื่อว่ามีสมบัติ เพราะถึงพร้อมด้วยศีล ถือพร้อมด้วยอาชีวะ
ชื่อว่าอาชีพ  เพราะดำเนินชีวิตตามหลักสุจริตธรรม
ชื่อว่าวิบัติ เพราะประกอบด้วยธรรม 7 ประการ
ดัง ปรากฎในสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตต,อัฏฐ,นวกะนิบาต เล่ม 4 หน้า 80 หานิสูตร ความว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๗ ประการนี้  ย่อมเป็นไปเพื่อความเสื่อมแก่อุบาสก ๗ ประการเป็นไฉน คือ อุบาสกขาดการ เยี่ยมเยียนภิกษุ  ๑ ละเลยการฟังธรรม  ๑  ไม่ศึกษาในอธิศีล  ๑ ไม่มากด้วยความเลื่อมใสในภิกษุทั้งที่เป็นเถระ ทั้งเป็นผู้ใหม่ทั้งปานกลาง ๑ ตั้งจิตติเตียนคอยเพ่งโทษฟังธรรม ๑ แสวงหาเขต บุญภายนอกศาสนานี้  ๑  ทำสักการะก่อนในเขตบุญภายนอกศาสนานี้ ๑ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  ธรรม ๗ ประการนี้แล ย่อมเป็นไปเพื่อความเสื่อมแก่อุบาสก ดู ก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๗ ประการนี้  ย่อมเป็นไปเพื่อความไม่เสื่อมแก่อุบาสก ๗ ประการเป็นไฉน คือ อุบาสกไม่ขาดการเยี่ยมเยียนภิกษุ ๑ ไม่ละเลยการฟังธรรม ๑ ศึกษาในอธิศีล ๑ มากด้วยความเลื่อมใสในภิกษุทั้งที่เป็นเถระทั้งเป็นผู้ใหม่ ทั้งปานกลาง ๑ ไม่ตั้งจิตติเตียน  ไม่คอยเพ่งโทษฟังธรรม  ๑ ไม่แสวงหาเขตบุญภายนอก  ๑ กระทำสักการะก่อนในเขตบุญในศาสนานี้ ๑ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  ธรรม ๗ ประการนี้แล  ย่อมเป็นไปเพื่อความไม่เสื่อมแก่อุบาสก

หน้าที่ของอุบาสก
หน้าที่ต่อตนเอง  
1. เลี้ยงชีพในทางสุจริต เว้นการค้า 5 อย่าง คือ ขายอาวุธ  ขายมนุษย์  ขายเนื้อสัตว์  ขายน้ำเมา  และขายยาพิษ
2. เจริญกุศล ย่นระยะทางมรรคผล (ทาน  ศีล  ภาวนา)
3. ศึกษาสัมมาปฏิบัติ
หน้าที่ต่อพระพุทธศาสนา 
           1. ศึกษาหลักธรรมคำสอนให้เข้าใจ
2. ศึกษาหลักการปฏิบัติต่อพระสงฆ์องค์สามเณรให้ถูก
3. ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา
พุทธศาสนาจะมีความเจริญรุ่งเรือง  และมีความเข้มแข็งท่ามกลางกระแสความเปลี่ยนแปลงในสังคมปัจจุบันนี้ได้ พุทธบริษัททุกหมู่เหล่าต้องช่วยกัน หน้าที่การดูแลทำนุบำรุงพระศาสนามิใช่เป็นหน้าที่ของภิกษุสงฆ์เพียงฝ่ายเดียว  หากแต่เป็นหน้าที่ของทุกคน  ในอดีตที่ผ่านมา พุทธศาสนาประสบกับมรสุมมากมาย ทั้งสมาชิกในพุทธบริษัทกระทำเอง ทั้งจากภายนอก คำว่า บาป-บุญ กำลังจะจากหายไปในสังคมชาวพุทธ เศษละอองฝนทุกคนกลัวกันนักหนา ว่าถ้าโดนแล้วจะเกิดหวัด เป็นไข้ไม่สบาย แต่เศษแห่งกรรมที่มาจากการกระทำของตน พวกเราชาวพุทธไม่เคยกลัวเลย พากันมองข้ามคิดว่า ไม่เป็นไรหรอกเพียงเล็กน้อย 
เพื่อเป็นการร่วมฉลองพุทธชยันตี ปีแห่งการตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า 2600 ปี และตอกย้ำให้มีสำนึกรักพุทธศาสนาให้มาก ขอให้ทุกท่านได้ตระหนักในหน้าที่ของตนให้มาก ใครมีหน้าที่อะไรก็จงทำหน้าที่ของตนให้ดี ปัจจุบันพุทธศาสนาก้าวเข้าสู่ยุคกึ่งกลางพุทธกาลแล้ว จากที่ก้าวขึ้นสู่ที่เจริญรุ่งเรืองมากก็จะเริ่มเสื่อมลง ศาสนาไม่ได้เสื่อมแต่จิตใจของคนในศาสนาเริ่มเสื่อมลงๆ มึนชา ฉะนั้นใครปรารถนาความเจริญแก่ตนก็จงประกอบหน้าที่ของตนให้สมบูรณ์ แล้วจะประสบกับความสมหวังในโลกนี้และโลกหน้ากันทุกคนมีนัยดังได้อรรถาธิบาย แล้วนั้น
เทศนาปริโยสาเน ในท้ายที่สุดแห่งการแสดงพระธรรมเทศนา เพื่อเป็นธรรมปฏิสันถารแด่ญาติธรรมทั้งหลายก็พอสมควรแก่เวลา ขออำนาจคุณพระศรีรัตนตรัย และคุณไท้อธิราชเทวาคุณบิดาครูบาอาจารย์ จงมารวมกันเป็นมหันตเดชานุภาพ สนับสนุนส่งเสริม ให้ญาติธรรมทุกท่านเจริญยิ่งด้วย อายุ  วรรณ สุขะ พละ ปฏิภาณ ปรารถนาสิ่งใดที่ชอบประกอบด้วยกุศล ขอให้สิ่งนั้นจงพลันสำเร็จ  พลันสำเร็จ  พลันสำเร็จ ทุกประการ 
แสดง พระธรรมเทศนา เรื่องสิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งปวงย่อมดับไปเป็นธรรม พอสมควรแก่เวลา ขอสมมติยุติลงคงไว้แต่เพียงเท่านี้

เอวํ ก็มีด้วยประการฉะนี้

พระมหาเฉลิมเกียรติ  แก้วหอม. เทศน์วัดเข้าพรรษา ปี พ.ศ. 2555 ณ วัดป่าโยธาประสิทธิ์ จ.สุรินทร์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น