การพัฒนาอินทรีย์ให้แก่กล้า[1]
แม้หนทางข้างหน้าจะมืดมิด อย่าไปสิ้นความคิดจะย่างก้าว
ถึงหนทางข้างหน้าจะยืดยาว ก็ไม่ไกลเกินเท้าเราก้าวเดิน
ขอนอบน้อม
แด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ตรัสรู้ชอบได้ด้วยพระองค์เองนั้น
ขอโอกาส
พระครูโสภณธรรมรังสี ผู้เป็นประธานสงฆ์ ตลอดจนพระเถรานุเถระที่เคารพทุกรูป
ขอเจริญไมตรีจิต
เพื่อนสหธรรมิกผู้มั่นคงในอุดมการณ์เดียวกันทุกรูป แหละ
ขอเจริญพร ญาติธรรมผู้มีใจรักในปัญญาคือการแสวงหาความรู้
เพื่อนำตนออกจากกองหยากเยื่อ คือกิเลส ทุกๆ ท่าน
ตึกสูงเสียดฟ้านับชั้นไม่ได้ เวลาจะสร้างต้องมีการวางรากฐานให้มั่นคง
เบื้องต้นต้องมีการคำนวณขนาดวาด โครงสร้างให้ชัดเจน จากนั้นเริ่มมีการตอกเสาเข็มและเริ่มขึ้นโครงสร้างไปเรื่อยๆ
จนในที่สุดสำเร็จเป็นรูปเป็นร่าง สามารถอยู่อาศัยได้หลาย ๑๐ ปี คนที่เกิดมาในโลกนี้ก็เช่นเดียวกัน
กล่าวคือเมื่อเกิดมาแล้ว นอกจากจะต้องดูแลบำรุง รักษาร่างกายให้มีความเจริญเติบโตตามเกณฑ์ที่เหมาะสม
ในด้านจิตใจก็ต้องมีการบำรุงรักษาให้มีความเจริญเติบโต เช่นเดียวกัน มิฉะนั้นแล้ว
เราจะต้องได้ยินสำนวนที่กล่าวว่า “ใหญ่แต่ตัว แต่หัวใจปลาซิว”
ที่คำกล่าวเช่นนี้เกิดขึ้นมา ได้เพราะคนเราขาดการฝึกฝน ไม่รู้จักวิธีการสร้างความสงบให้กับตนเองในภาวะการณ์ต่างๆ
ต่างจากผู้ที่มีการฝึกฝน
ตนเองอย่างสิ้นเชิง
คือเวลาประสบปัญหาใดๆ หรือตนเองกำลังอยู่ในสังคมที่มีปัญหาอย่างไร
ก็จะไม่มีผลกระทบใดๆ เกิดขึ้นได้ หรือมีความสะเทือนถึงใจของผู้นั้นได้
ดังพุทธาภาษิตที่ว่า จิตตัง ทันตัง
สุขาวะหัง แปลได้ความว่า จิตที่ฝึกดีแล้วนำสุขมาให้ แต่ก่อนที่จะฝึกตนเองได้ตามที่คาดหมายไว้ เราจะต้องสร้างความพร้อมให้กับตนเองเสีย ก่อน
อุปมาเหมือนการสร้างตึกนั่นแหละ
เบื้องต้นต้องมีการออกแบบแล้วจึงเริ่มโครงสร้าง งานโครงสร้างคือฐานราก ที่สำคัญ
เปรียบเสมือนด้านจิตใจของคนเรา
ฉะนั้น วันนี้อาตมภาพขอหยิบยกเอาประเด็นธรรมะที่ได้จากการฟังธรรมะบรรยาย ที่พระครูโสภณธรรมรังสี ได้เทศน์อบรมพระ-เณร-เถร-ชีภาคค่ำเกี่ยวกับหลักปฏิบัติธรรม
ในวันธัมมัสสวนะครั้งนี้จะบรรยายเรื่อง การพัฒนา
ตนให้มีอินทรีย์เเก่กล้า ให้ญาติโยมสาธุชนทั้งหลายได้สดับรับฟัง
เพื่อเป็นแนวทางแห่งสัมมาปฏิบัติช่วยขจัดความหมด หวัง และเพื่อเป็นธรรมะปฏิสันถาร ในการณ์ที่ท่านทั้งหลายมาประชุมพร้อมกัน ณ
พุทธสมาคมแห่งนี้ ตามสมควรแก่ เวลาเป็นลำดับต่อไป
อินทรีย์ หมายถึง ความเป็นใหญ่ที่สามารถพัฒนาจิตให้มีกำลัง และมีประสิทธิภาพในงานที่ปฏิบัติอยู่
ความแก่กล้า หมายถึง ความเข้มแข็งทางจิตที่เกิดเมื่อได้รับการฝึกฝน
อินทรีย์ มี ๕ ประการ ได้แก่ :-
๑. สัทธินทรีย์ คือ
ความศรัทธา ในโพธิปักขิยะธรรม
๒. วิริยินทรีย์ คือ ความเพียร ในสัมมัปปะธาน
๓. สตินทรีย์ คือ
ความระลึกได้ ในสติปัฏฐาน
๔. สมาธินทรีย์ คือ ความตั้งมั่น ในญาณ
๕.
ปัญญินทรีย์ คือ ความเข้าใจ ในอริยะสัจ
เบื้องต้น
ท่านทั้งหลายต้องปรับทัศนะใหม่เกี่ยวกับหลักธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสียก่อนว่า
ธรรมะต้องเริ่มจากจุดเล็กๆ คือเริ่มจากภายในตัวเราเสียก่อน
แล้วจึงแผ่ขยายเป็นวงกว้าง มีความสืบเนื่องกันไปเรื่อยๆ เหมือนการต่อจิกซอรูปภาพ
ถ้าเราเริ่มจากจุดเล็กๆ ไม่ได้
เราก็ไม่สามารถเข้าใจหลักธรรมที่ละเอียดลึกซึ้งได้เหมือน กัน
การปฏิบัติธรรมของท่านทั้งหลายก็เช่นเดียวกัน
เหมือนบทประพันธ์ที่ได้กล่าวในเบื้องต้น “แม้หนทางข้างหน้าจะ มืดมิด อย่าไปสิ้นความคิดที่จะย่างก้าว
ถึงหนทางข้างหน้าจะยืดยาว ก็ไม่ไกลเกินเท้าเราก้าวเดิน” จากบทประพันธ์นี้ ได้ชี้ให้เห็นว่า
ในดวงจิตของเราจะมืดมิดไปด้วยกิเลสตัณหา ถ้าเราไม่ย่อท้อ
โอกาสที่เราจะได้เห็นธรรมะก็ย่อมมี
เคยสนทนาธรรมกับหมู่คณะเกี่ยวกับการปฏิบัติธรรม
ถ้าเราได้ยินครูบาอาจารย์ที่ท่านปฏิบัติลำบากแถมยังรู้ยากอีก เราก็จะเกิดความรู้สึกว่า
โอ๊ย...ธรรมะของพุทธองค์ทำไมถึงยากอย่างนี้
เราจะมีบุญวาสนาได้เห็นกับเขาไหมหนอ
แต่ถ้าเราได้ฟังครูบาอาจารย์ที่ท่านปฏิบัติง่ายและรู้เร็ว เราก็จะเกิดความรู้สึกว่ามันง่าย เราก็น่าจะมีโอกาสรู้ธรรม
เหมือนอย่างท่านแน่นอน
ขอเพียงเราตั้งใจจริง ความคิดที่ว่า “ขอเพียงเราตั้งใจจริง” นี้แหละ
คือจุดเริ่มต้นของ การพัฒนาอินทรีย์ของตนให้กล้าแข็ง เมื่ออินทรีย์มีการบ่มเพาะเต็มที่แล้ว ก็ไม่ต่างอะไรจากนาที่มีความสมบูรณ์ จะ ปลูกอะไรก็ย่อมได้ผลผลิตเต็มที่
ต่อไปนี้จะได้กล่าวถึงวิธีการเพิ่มประสิทธิภาพให้กับอินทรีย์เพื่อให้มีความกล้าแข็ง
ท่านสาธุชนทั้งหลาย
ในเบื้องต้นโยคีวจรผู้สำรอกกิเลสต้องมีความอดทน อดทนในการฝึกฝนตนเองให้ดีขึ้น
อดทนต้านทานจากอารมณ์ภายนอกที่มากระทบ
ความอดทนนั้นเป็นบาทฐานสำคัญที่จะพัฒนาอินทรีย์ให้เข้มแข็งได้
ทั้งนี้ต้องไม่มีความรู้สึกว่า “ตนเองเป็นผู้มีบุญน้อย วาสนาน้อย” ทั้งๆ
ที่ยังไม่ได้ลงมือปฏิบัติ พุทธองค์ตรัสว่า “ความ อดทนเป็นยอดตบะแห่งธรรมทั้งหลาย”
กล่าวได้ว่าผู้ที่จะได้ดีหรือมีความสมหวังได้นั้น ต้องมีความอดทน และมีความ
สงบเสงี่ยม สองอย่างนี้เรียกว่า ขันติ กับ โสรัจจะ เป็นธรรมะที่ทำให้ผู้นั้นมีความงาม
เมื่อมีธรรมะสองอย่างนี้แล้ว ต่อไปต้องเพิ่มอินทรีย์ให้แก่กล้า ที่ว่าเพิ่มให้แก่กล้านั้น หมายถึงว่าทุกคนมีอยู่แล้วเพียงแต่กำลังยังอ่อน
เราจำเป็น ต้องเพิ่มพูนให้มาก ดังนี้
สัทธินทรีย์
คือ ความศรัทธา ในโพธิปักขิยะธรรม
หมายถึง ศูนย์รวมแห่งธรรม หรือที่รวมลงแห่งธรรม แต่ก่อน
ที่เราจะเข้าไปรับรู้ถึงขนาดนั้นได้ต้องมีความศรัทธา สาธุชนท่านใดที่มีปกติเข้าวัดเรียนรู้หลักธรรมอยู่แล้ว
ไม่ น่าเป็นห่วงเท่าใดนัก
แต่สำหรับท่านที่ไม่ค่อยมีเวลาว่างที่จะเข้าวัดจำเป็นต้องฟังให้ดี ซึ่งเปรียบเสมือนเด็กเล็กๆ
เกิด มาใหม่ๆ ในสมอง ยังไม่ได้รับการบรรจุข้อมูลอะไรเข้าไป
ก็จะรู้สึกหิวกระหายดีใจเสียใจธรรมดา พอโตขึ้นมาหน่อย เริ่มมีความรู้สึกทะเยอทะยาน
อยากได้ อยากมี อยากเป็น ผู้ปฏิบัติธรรมก็เช่นเดียวกัน ต้องมีความศรัทธาเป็นพื้น
คือเชื่อในสิ่งที่ เกิดขึ้นตามความเป็นจริง ๑. เชื่อแน่ชัดว่าพระพุทธเจ้ามีอยู่จริง
คือเกิดเป็นมนุษย์เหมือนอย่างเรานี้จริง มิใช่เป็นเพียงนิยายหรือละครที่เขาแต่งให้เราอ่านเล่นๆ
๒. เชื่อแน่ชัดว่าพุทธเจ้าตรัสรู้จริง หลักธรรมต่างๆ ที่เราได้ยิน ได้ฟังมา
เป็นสิ่งที่พุทธเจ้านำมาตรัสสอนแก่พุทธบริษัทจริง ๓.
เชื่อว่าพระรัตนตรัยมีอยู่จริง คือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์
เป็นที่พึ่งสูงสุดของเรา สามารถช่วยให้เราเป็นคนดีได้ สามารถคุ้มครองเราจากภัยไม่ดีทั้งหลายได้
๔. เชื่อว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ทุกคนที่เกิดมาเป็นมนุษย์ สัตว์
ล้วนอาศัยกรรมเป็นแดนเกิด ทุกคนมีวิบากเป็นของตนเอง ใครทำอย่างไร
ก็ย่อมได้รับอย่างนั้น นอกจากจะมีความเชื่อแบบนี้แล้ว ทุกท่านต้องมีความเชื่อเลยว่าการปฏิบัติของตน
แบบนี้มีผลจริง เราไม่ได้หลงงมงาย
นักปราชญ์ทั้งหลายทั้งในอดีตและในปัจจุบันพาดำเนินมาแบบนี้ เมื่อเรามีกำลัง แห่งศรัทธาเช่นนี้ ก็ย่อมส่งผลไปถึงอินทรีย์ข้อต่อไป คือ
วิริยินทรีย์ คือ ความเพียร ในสัมมัปปะธาน
หมายถึง ธรรมที่เป็นประธาน มีความรู้ มีเงินทอง มีกำลังแข็งแรง
ถ้าไม่มีวิริยินทรีย์แล้วก็ไร้ประโยชน์
ก็เหมือนสังคมโลกที่ท่านทั้งหลายประสบอยู่นี่แหละ มีที่มีนาทำกินแต่ดั้นเจ้าของ ขี้เกียจ
หรือศึกษามามากวิเคราะห์ไปก่อนสถานการณ์เป็นจริงว่า
เศรษฐกิจระยะนี้ไม่ดีกำลังการแข่งขันน้อย คิดก่อน แบบนี้ก็แย่
การพัฒนาวิริยินทรีย์ให้มีความเข้มแข็งนั้น คือการเพียรพยายามลด ละ เลิก
ความประพฤติที่ไม่ดี ไม่ว่าจะ เป็นทางกาย ทางวาจา และทางใจ ถ้าลด ละ เลิก
ได้ไม่ขาดทีเดียวก็ต้องพยายามข่ม พยายามควบคุม ไม่ให้มันเกิดขึ้น เต็มที่
ความดีที่เคยบำเพ็ญอยู่แล้ว ก็พยายามเพิ่มให้มากยิ่งๆ ขึ้นไป
เช่นว่าบาตรไม่เคยใส่ วัดไม่ค่อยได้เข้า
พระไม่ ค่อยไหว้ แม้การเสียสละใดที่สังคมเขากระทำกัน ก็ไม่ค่อยได้ทำ
แต่ถ้ามีวิริยะเป็นกำลังแล้วมันจะตรงกันข้ามทันที
ศีลธรรมข้อไหนที่รักษาได้ไม่ค่อยได้เต็มที่
ก็พยายามให้ได้เต็มที่
เมื่อก่อนนั่งสมาธิได้วันละเพียงช้างกระดิกหูงูแลบลิ้น ก็เพิ่มเป็น ๑๕-๓๐
นาที หรือถ้ามีเวลาไม่ได้มีธุระอะไรก็นั่งให้ได้เป็นชั่วโมง ทำไมผลจะไม่เกิด
อย่าลืมว่าศรัทธานำ หน้านะ มิใช่เอาหน้านำ
ถ้าศรัทธานำแล้วถึงจะปวดเมื่อยก็ยิ้มได้ ภูมิใจกับการปฏิบัติของตน
เพียรทุกวันจะไม่ไร้สติ
สตินทรีย์
คือ ความระลึกได้ ในสติปัฏฐาน
หมายถึง หมวดธรรมที่มีสติเป็นที่ตั้ง แล้วอะไรเป็นที่ตั้งของสติ
เบื้องต้นท่านทั้งหลายต้องเข้าใจก่อนว่า สติคือการระลึกได้
แต่ไม่ได้ให้ไประลึกอดีตที่ผ่านมาแล้วนะ ถ้าเราระลึกอดีตก็
เท่ากับว่าเราอยู่กับอดีต ซึ่งผิดหลักการ
พุทธองค์สอนให้เราอยู่กับปัจจุบัน
โฟกัสเข้ามาอีกก็คือปัจจุบันที่อยู่ในตัวเรา ดังนั้น ที่ตั้งของสติก็คือ ๑. กาย
เรียกว่ากายานุปัสสนา คือการตามรู้ว่าขณะนี้เดี๋ยวนี้กายเราทำอะไร เป็นการจำกัด
ความรู้ทั้งหมดไว้ที่การเคลื่อนไหวของกายเพียงจุดเดียว ๒. เวทนานุปัสสนา
คือการตามระลึกรู้ความรู้สึกที่เกิดขึ้น ทั้ง สุข ทุกข์ และเฉยๆ
แม้การระลึกรู้ลมเข้าออกก็จัดเป็นเวทนาอย่างหนึ่ง
คือผัสสารมณ์ที่ลมกระทบผิวเกิดความรู้สึกขึ้น ๓. จิตตานุปัสสนา
คือการตามรู้ความนึกคิด เพียงความนึกคิดเดียว หรือเหมือนพี่เลี้ยงคือคอยตามรู้เฉยๆ
ไม่ช่วยปรุง แต่ง ไม่เสริม ไม่บังคับ สักแต่ว่ารู้ แหละ ๔. ธัมมานุปัสสนา คือการกำหนดรู้สภาวะธรรมที่เกิดขึ้น
ไม่ใช่ความคิด แต่ เป็นความรู้สึก เช่น ชอบไม่ชอบ ดีใจ ร่าเริง ที่ผ่านเข้ามาในใจ
ซึ่งมีความละเอียดในระดับหนึ่งถ้าเทียบกับข้ออื่นในขั้น ต้นนี้
แยกให้ออกระหว่างเวทนากับธรรม ถ้าเราพิจารณาดูดีๆ
แล้วจะพบว่าธรรมทั้งสี่ข้อนี้มีความเชื่อมโยงกัน ส่งผลถึง กัน
ที่กล่าวมาถ้าบ้างท่านบอกว่ามันละเอียดเกินไป ยังไม่ถึงขั้นที่ต้องละเอียดขนาดนั้น
ขอแบบทั่วๆ ไป แบบทั่วๆ ไป ก็คือต้อง ระลึกถึงคุณงามความดีของตนให้มาก ระลึกถึงศีล ระลึกถึงทุกข์ในชีวิตที่ผ่านมา หรือในอนาคตที่จะเกิดกับ
ตน
เป็นวิธีการฝึกระบบความคิดของตนให้มีขั้นตอน ไม่คิดสะแปะสะปะ
คิดเพียงเรื่องเดียวอย่างลึกซึ้ง
สมาธินทรีย์
คือ ความตั้งมั่น ในญาณ
สืบเนื่องจากสตินทรีย์ เมื่อได้จัดระบบความคิดของตนให้คิดเพียงเรื่อง เดียว
เมื่อตั้งอารมณ์ให้อยู่นิ่งๆ นานๆ ก็เกิดความตั้งมั่น ส่วนมากพวกเรายังไม่ถึงขั้นนี้
ติดอยู่แค่การฝึกสติเฉยๆ รวม ความคิดให้สั้นคิดเรื่องเดียวยังไม่ได้ บางทีพุท-โธปากก็ว่าไป บริกรรมไม่หยุด แต่สติไม่รู้อยู่ตรงไหน
สมาธิท่านเปรียบ เสมือนเสาเข็มที่ตอกลงไป ยิ่งลึกขนาดไหนยิ่งดี
ความมั่นคงก็ยิ่งแน่นหนา เรามีเสาเข็มคือสติแต่หาที่จะตอกคือที่ตั้ง ไม่ได้ เหนื่อยนะสำหรับการปฏิบัติธรรม
ครูบาอาจารย์ที่ท่านผ่านเวทีมาแล้วมักพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า การปฏิบัติ
ธรรมเป็นงานที่หนักหน่วงมาก หนักกว่างานภายนอกที่ต้องใช้กำลังแรงกาย อันหลังนี้เหนื่อยพักผ่อนก็หายได้ แต่การ
ปฏิบัติธรรมเมื่อใดที่เราขึ้นเวที
เราไม่รู้เลยว่าจะหมดยกตอนไหน คู่ต่อสู้ของเราเป็นใคร
เรียกว่าไปตายเอาดาบหน้า ดีที่มีพุทธเจ้า
เหล่าพระอริยสาวกสงฆ์ท่านทำให้เป็นตัวอย่าง
ดังนั้นการพัฒนาสมาธินทรีย์ของตนให้กล้าหาญนั้น ต้อง พยายามตั้งใจให้ดีเวลาจะทำหน้าที่อะไร
อย่าเป็นคนจับจด ทำให้สำเร็จเป็นอย่างๆ ไป มีวิธีสังเกตดูว่าตนเป็นคนจับจด หรือเปล่า คือให้เริ่มสังเกตจากกิจกรรมแรกที่เราเริ่มทำ
พอทำๆ ไป เห็นอันนั้นอันนี้ ใจมันก็จะให้ไปทำทั้งๆ ที่ในมือ
ก็ยังทำกิจกรรมแรกอยู่นะ ถ้าเป็นแบบนี้ต้องเปลี่ยนวิธีการใหม่ ทำอะไรให้ทำไปจนเสร็จแล้วจึงคิดทำอย่างอื่นต่อไป
วิธีเหล่านี้ คือกลยุทธ์ในการพัฒนาให้ตนมีสมาธิที่แก่กล้าโดยเริ่มจากกิจกรรมเล็กๆ
ในชีวิตประจำวันของเรานั่นเอง
ปัญญินทรีย์
คือ ความเข้าใจ ในอริยะสัจ
ตามความหมายที่เราเข้าใจกันก็คือ
“ความรอบรู้” รู้ในกองสังขาร อันนี้ตามสภาพความเป็นจริง ภายใต้กฏเกณฑ์ของไตรลักษณ์
คือมีสภาพเกิดขึ้นแล้วไม่แน่นอนไม่นานก็ต้องแตก สลายไป
มีสภาพเกิดขึ้นแล้วไม่ตั้งอยู่นานก็ต้องแปรสภาพเป็นอย่างอื่น
และสุดท้ายทุกอย่างไม่มีตัวตน สรุปให้ชัดกว่า นี้ก็คือ วัตถุทุกอย่างบนโลกใบนี้
แม้แต่โลกเองก็ตาม เป็นสักแต่ว่าธาตุ ดิน น้ำ ลม ไฟ เท่านั้น ที่มาประชุมพร้อมกัน
ก่อเกิดเป็นวัตถุชิ้นหนึ่งขึ้นมา
ความรู้รอบแบบนี้เป็นปัญญาขั้นละเอียดแล้ว ซึ่งมิใช่การมองโดยผ่านตัวอักษร
แต่เป็น การเห็นจากปัญญาคือการฝึกฝนจนเชี่ยวชาญแล้ว ในระดับปุถุชนคนสามัญอย่างเราๆ
ท่านๆ ต้องฝึกปัญญาขั้นต้นให้ ได้เสียก่อน ปัญญินทรีย์ในที่นี้
ท่านหมายเอาความเป็นใหญ่ของปัญญาในอริยสัจสี่ ที่มีความเข้าใจหลักความเป็นจริงว่า
ทุกอย่างที่เกิดขึ้นมีสภาพทนได้ยาก เมื่อทนได้ยากแล้วมีสาเหตุมาจากไหน
จะดับด้วยวิธีใดอย่างไร สุดท้ายก็ดำเนิน การปฏิบัติ
กระบวนการคิดแบบนี้ที่ต้องพยายามฝึกฝนให้บ่อยๆ อย่ามองข้ามว่าไม่มีสาระสำคัญ เรื่องทุกเรื่องจะมี
รายละเอียดอยู่ในตัวของมัน
ฝึกคิดจากเรื่องเล็กๆ ในชีวิตประจำวัน ไตร่ตรองให้รอบคอบ
จากเป็นคนไม่ค่อยคิดอะไร ก็กลับมาคิด แต่ต้องคิดในเชิงธรรมะนะ ไม่ใช่คิดฟุ้งซ่าน
แบบนี้เรียกว่า จินตามยปัญญา
คือความรู้เกิดจากการได้คิด วิเคราะห์ บางท่านชอบฟังคนอื่นพูด มีการบรรยายธรรมะ
หรือวิชาการที่ไหนก็ตามไปดูไปฟัง หรือตามสื่อต่างๆ ที่มี
การนำเสนอข่าวสารอะไรก็ติดตามตลอด จากเป็นคนอยู่ในที่สังคมแคบๆ ก็ได้เปิดโลกทัศน์กว้างขึ้น
ได้เรียนรู้จากการ ฟัง เพราะอย่าลืมว่าการฟังดีกว่าการไปเรียนรู้เอาเองนะ คือมีคนมาป้อนให้เบ็ดเสร็จ
ถ้าแบบนี้ท่านเรียกว่า สุตมย ปัญญา
คือมีความรู้จากการได้ยินได้ฟังมาและทำให้จำได้นานด้วย
เช่นบางท่านตอนเป็นเด็กชอบฟังนิทานของคุณยาย เล่าให้ฟัง จวบจนอายุปูนนี้แล้วก็ยังจำเนื้อหานิทานที่คุณยายเล่าให้ฟังเมื่อ
๕๐- ๖๐ ปี ได้ไม่ลืม มนุษย์มีวิธีการเรียนรู้ ที่แตกต่างกันอยู่แล้ว
จะให้เรียนเหมือนๆ กัน ได้วิชาเท่าๆ กัน คงเป็นไปไม่ได้ ที่กล่าวเช่นนี้
เพราะบางท่านไม่ชอบการ อ่าน
ไม่ชอบการฟังที่เป็นทางการ แต่ชอบใช้กำลัง
คือมีเวทีให้ศึกษาก็ลงมือเลยคนกลุ่มนี้ถ้าได้รู้แล้วรู้เลยแถมยังได้
ผลงานอีกด้วย
ใครว่าทฤษฎีนั่นดีหลักการนี้ใช้ได้
คนกลุ่มนี้ไม่สนใจ ถึงเวลาลงมือปฏิบัติเลย เรียกว่าเรียนรู้จากการ ปฏิบัติ
ภาษาฝรั่งว่า Learning by doing. ภาษาพระเรียกว่า ภาวนามยปัญญา คือได้ความรู้จากการลงมือกระทำ ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้
ไม่ใช่สูตรสำเร็จเลยทีเดียว
แต่พอเป็นแนวทางให้ท่านทั้งหลายได้นำไปปรับประยุกต์ใช้ในชีวิต ประจำวันได้ แต่ขอให้จำประโยคนี้ไว้ว่า
“มีความรู้มากมายแค่ไหน ถ้าไร้ซึ่งการลงมือปฏิบัติก็ไม่เกิดผล”
หลังจากที่ได้ทราบความหมายคำว่า
“อินทรีย์” แล้วว่าหมายถึงอะไร
ลำดับต่อไปจะได้นำเอาเหตุการณ์ใน อดีตมาสาธกยกมากล่าวเพิ่มเสริมความชัดเจนแห่งธรรมะบรรยายนี้
ในอดีตเมื่อพุทธองค์ตรัสรู้ธรรมใหม่ๆ หลังจาก
ได้เสวยวิมุตติสุขอันเป็นอำนาจแห่งธรรม ณ บริเวณต้นพระศรีมหาโพธิบัลลังก์แล้ว ได้ทรงพิจารณาดูว่าใครหนอเป็นผู้
มีอินทรีย์แก่กล้าพอที่จะพัฒนาเป็นผู้รู้ตามเราตถาคตได้ ก็ทรงระลึกถึงอาจารย์ผู้มีพระคุณที่เคยพักร่ำเรียนด้วย
คือ อาฬารดาบสกับอุทกดาบส
แต่แล้วอนิจจาความไม่เที่ยงแท้แน่นอนก็ได้ทำลายท่านทั้งสองไปแล้ว พระองค์ก็ทรงระลึก ถึงพระปัญจวัคคีย์
ซึ่งเคยดูแลอุปัฏฐากรับใช้ และเคยปฏิบัติร่วมกันมา
คงเป็นผู้สามารถพัฒนาตนได้แน่นอน พระองค์
ทรงอาศัยความเมตตาที่ทั้งห้าท่านนั้นมีบุญคุณ
จึงกำหนดว่าขณะนี้ทั้งห้าอยู่ที่ไหน
ด้วยความที่ทั้งห้ามีอินทรีย์ที่ได้เคย ฝึกฝนมาก่อนแล้ว
เพียงได้ฟังธรรมที่ลึกซึ้งซึ่งพวกตนไม่เคยได้ฟังที่ไหนมาก่อนในลักษณะเช่นนี้
ก็ส่งผลให้โกณฑัญญะ ผู้เป็นหัวหน้าใหญ่ในกลุ่มให้ดวงตาเห็นธรรมก่อนใครเพื่อน
ยังความปราบปลื้มแก่ตถาคตเป็นอย่างมาก ถึงขนาดอุทาน ออกมาว่า “อัญญาสิ วต โภ
โกณฑัญโญ” สองครั้ง ซึ่งแปลว่าโกณฑัญญะได้รู้แล้วหนอๆ
จากเหตุการณ์ในอดีตนี้ได้ชี้ ให้เห็นว่า
ผู้ใดที่มีความพร้อมแล้วก็ย่อมมีโอกาสที่จะได้รับการพัฒนาให้ก้าวสู่ขั้นที่สูงขึ้น
จากปุถุชนก็เข้าสู่ความเป็น อริยชน และเมื่อได้รับการพัฒนาแล้วสามารถแนะนำผู้อื่นให้ปฏิบัติและรู้ตามได้ต่อไป
ดังความปรากฎในพระสุตตันตะ ปิฎก เล่ม 4 มัชฌิมนิกาย
มูลปัณณาสก์ มหายมกวรรค จูฬโคบาลสูตรตอนหนึ่งว่า นายโคบาลชาวแคว้นมคธ ต้องการจะพาฝูงโคอันประกอบไปด้วย
เหล่าโคที่เป็นพ่อฝูง เหล่าโคที่มีกำลัง เหล่าโคหนุ่มสาว และลูกโคที่ยังมี
กำลังน้อยข้ามแม่น้ำคงคาในฤดูสารทสมัย นายโคบาลผู้ฉลาดมีปัญญาย่อมพิจารณาฝั่งข้างนี้ว่า
บริเวณใดควรข้าม ไปยังฝั่งโน้นอันเป็นฝั่งเหนือแห่งหมู่ชนชาววิเทหรัฐ
ย่อมให้เหล่าโคพ่อฝูงว่ายตัดข้ามแม่น้ำคงคาไปก่อน เหล่าโคพ่อฝูง นั้นย่อมส่งเสียงนำทางไปพร้อม
ตนก็มีกำลังข้ามไปได้โดยสวัสดี จากนั้นเหล่าโคที่มีกำลังข้ามติดตามไป ฟังเสียง โคพ่อฝูงแล้วตามถึงฝั่งโน้นได้โดยสวัสดี
เหล่าโคหนุ่มโคสาวย่อมข้ามตามโคที่มีกำลัง ด้วยการฟังเสียงโคที่มีกำลังนั้น นำทางไป
ก็ข้ามถึงฝั่งโดยสวัสดี
จากนั้นลูกโคที่มีกำลังน้อยจึงค่อยว่ายตัดกระแสน้ำข้ามฝั่งไป คอยฟังเสียงของโคพ่อฝูง
โคที่มีกำลังและโคหนุ่มโคสาวทั้งหลายไปที่สุดโคทุกตัวก็ข้ามถึงฝั่งตรงข้ามได้ทุกตัว
ส่วนนายโคบาลผู้ปราศจากปัญญา ไม่พิจารณาแล้วพาโคที่มีกำลังน้อยข้ามไปก่อน
ก็ไม่สามารถข้ามถึงฝั่งได้ เหล่าโคพากันจมน้ำตายหมดฉันใดก็ฉันนั้น ศาสดา ผู้ฉลาดประสงค์จะนำพาสรรพสัตว์ไปสู่พระนิพพาน
เป็นผู้ฉลาดในโลกนี้โลกหน้า ฉลาดในทางดำเนินของมาร ฉลาดในโลกุตรธรรมอันมิใช่วิสัยของมาร
ฉลาดในธรรมคือ การเกิด แก่ เจ็บตาย ของสรรพสัตว์ ชนเหล่าใด ที่นับถือในถ้อยคำของศาสดาผู้เป็นสมณะหรือพราหมณ์นั้นว่า
เป็นถ้อยคำอันตนควรฟัง ควรเชื่อ ความนับถือ ของชนเหล่านั้น จักเป็นไปเพื่อประโยชน์
เพื่อความสุข ตลอดกาลนานฉันใด ภิกษุผู้มีอินทรีย์แก่กล้า คือมีศรัทธา วิริยะ
สติ สมาธิ ปัญญา อันอบรมมาดีแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบในอินทรีย์อันแก่กล้าและที่อ่อนด้อย
ของสัตว์ทั้งหลายอย่างชัดแจ้ง ย่อมทรงสั่งสอนชนเหล่านั้นให้ได้อะระหัตตะผลก่อน
ภิกษุผู้เป็นพระอรหันต์เหล่านั้น ย่อมแนะนำภิกษุอื่นให้รู้ตามได้ จากนั้นพระบรมศาสดาย่อมทรงสั่งสอนผู้มีอินทรีย์แก่กล้า
พอที่จะบรรลุอนาคามิผล สกทาคามิผล โสดาปัตติผล
ตามลำดับฉันนั้น
ดังนั้น สรุปความว่า อินทรีย์ หมายถึง ความเป็นใหญ่ที่สามารถพัฒนาจิตให้มีประสิทธิภาพในงานที่ปฏิบัติอยู่
มี ๕ อย่าง คือ ๑. สัทธินทรีย์ ๒.
วิริยินทรีย์ ๓. สตินทรีย์ ๔. สมาธินทรีย์ ๕. ปัญญินทรีย์
โดยมุ่งประโยชน์สูงสุด คือการก้าวสู่ความเป็นอริยชน
เฉกเช่นเดียวกับดอกโกมุทอันบานสะพรั่งยามพระอาทิตย์ทอแสง ต่างก็เป็นที่หมายปอง
ของหมู่แมลงผึ้งที่ต้องการกลิ่นเกษร และผู้คนนำไปบูชาสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของตน แต่ทุกคนหารู้ไม่ว่าดอกโกมุทอัน
งดงามนี้เกิดจากโคลนตมอันต่ำสุด ฉะนั้น
แล้วสาธุชนทั้งหลายเมื่อเรามีโอกาสเกิดมาเป็นมนุษย์อันสุดแสนยากนี้แล้ว
จงภูมิใจเถิดว่า เราก็คนหนึ่งที่สามารถพัฒนาตนให้มีจิตใจที่สูงได้ ดังคำประพันธ์ว่า
:-
เกิดเป็นคน ควรหวัง อย่ายั้งหยุด ไม่สิ้นสุด ความหวัง ดั่งตั้งหมาย
หวังไว้เถิด หวังยั่งยืน
ไม่คลืนคลาย ปราชญ์ทั้งหลาย สมหวัง เพราะตั้งใจ.
ในท้ายที่สุดแห่งการบรรยายธรรมนี้
ขออำนาจคุณพระศรีรัตนะตรัยและคุณงามความดีทั้งหลาย ที่สาธุชน ทั้งหลายบำเพ็ญไว้ดีแล้วในท่ามกลางสงฆ์นี้
จงมารวมกันเป็นมหันตะเดชานุภาพ สนับสนุนส่งเสริม ให้ศรัทธาญาติโยม ทั้งหลาย
จงเจริญด้วยอายุ วรรณะ สุขะ พละ ปฏิภาณ ธนสารสมบัติ ธรรมะสารสมบัติ คิดปรารถนาสิ่งใดที่ชอบ
ประกอบไปด้วยธรรม ขอให้ความปรารถนาท่านเหล่านั้น จงพลันสำเร็จ จงพลันสำเร็จ
จงพลันสำเร็จ ทุกประการเทอญ.
ขอเจริญพร.
[1] พระมหาเฉลิมเกียรติ จิรวฑฺฒโน บรรยายเมื่อ วันที่ ๙
กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๕ ณ วัดป่าโยธาประสิทธิ์ จ.สุรินทร์
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น