วันอาทิตย์ที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2555

การทำบุญที่ถูกวิธี : ประเพณีเบ็ญทมของกลุ่มชาติพันธุ์ไทยเขมร

                                   นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะฯ

                                    อิธ นนฺทติ เปจฺจ นนฺทติ      กตปุญฺโญ อุภยตฺถ นนฺทติ
                                 ปุญฺญํ เม กตนฺติ              ภิยฺโย นนฺทติ สุคตึ คโต
                                                                                       (ขุ.ธ.25/17)

ธัม มัสสะวะโนมัยต่อไปนี้ จักได้อรรถาธิบายขยายเนื้อความแห่งพระสัทธรรม อันสมเด็จพระชิโนรสสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ชอบแล้ว ในปุญญกถาว่าด้วยการทำบุญที่ถูกวิธี เพื่อเป็นปัจจัยส่งเสริมให้เกิดศรัทธาปสาทะ และเพิ่มพูนสติปัญญาบารมีให้มากขึ้น ในโอกาสที่สาธุชนคนใจงามทั้งหลาย ได้มาทำบุญอุทิศให้กับเปตชน ที่ล่วงลับดับกายสังขารไปสู่ปรโลกแล้วนี้ ซึ่งเป็นปิยชนคือคนอันเป็นที่รัก เช่น พ่อ แม่ภริยา บุตร ธิดา และญาติมิตรทั้งหลาย ได้ชื่อว่าเป็นผู้ดำเนินตนตามหลักธรรมขององค์สมเด็จพระบรมศรีสุคต ที่ปรากฏในติโรกุฑฑสูตรว่า โส ญาติธมฺโม จ อยํ นิทสฺสิโต. คือได้บำเพ็ญญาติธรรม อันได้แก่ทักษิณาทานที่ญาติผู้ยังมีชีวิตอยู่จะพึงอุทิศไปให้ในภายหน้า เปตานปูชา จ กตา อุฬารา. ได้บูชาบุพการีชนด้วยอามิสบูชาและปฏิบัติบูชาเป็นอันดี พลญฺจ ภิกฺขูนมนุปฺปทินฺนํ. ได้อุปถัมภ์บำรุงพระภิกษุสงฆ์องค์สามเณรให้มีกำลังในการปฏิบัติศาสนกิจ ด้วยการถวายจตุปัจจยวรามิส อันสมควรแก่สมณบริโภค ตุมฺเหหิ ปุญฺญํ ปสุตํ อนปฺปกํ. และ ได้บำเพ็ญบุญกิริยา ทั้งทานมัย ศีลมัย ภาวนามัย ครบทั้งสามประการ ทั้งหมดนี้เป็นการบำเพ็ญครบถ้วนสมบูรณ์ด้วยดีแล้ว ณ มณฑลพิธีแห่งนี้ ตามสมควรแก่เวลาสืบไป
ท่าน สาธุชนทั้งหลาย วันนี้เป็นวันที่มีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับกลุ่มชาติพันธุ์เขมร โดยเฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์ไทยเขมรที่อาศัยอยู่ในสุรินทร์ ศรีสะเกษ บุรีรัมย์ และจังหวัดอื่นๆ นอกจากสามจังหวัดนี้ คือประเพณีวันสารทซึ่งมีกันทุกภาคทุกเชื้อชาติทุกภาษาแล้วแต่จะเรียกว่าเป็น ประเพณีอะไร แต่สำหรับกลุ่มชาติพันธุ์ไทยเขมรเราเรียกว่า งัยเบ็ญทม เป็นวันที่มีความสุขความสำราญที่สุด มองในแง่เศรษฐกิจก็ดี คือฤดูนี้เป็นฤดูแห่งการลงทำนาและใกล้จะถึงฤดูเก็บเกี่ยว ข้าวปลาอาหารมีความอุดมสมบูรณ์ “ในน้ำมีปลาในนามีข้าว” เป็นวลีที่ได้ยินประจำเมื่อสมัยก่อน ผลิตผลทางการเกษตรได้ผลผลิตมาก มองในแง่สังคมก็ดี คือผู้คนมีความอยู่เย็นเป็นสุข มีการช่วยเหลือซึ่งกันและกันเวลามีกิจกรรมอะไรก็ระดมพลไปช่วยกัน เรียกว่าลงแขก เป็นสังคมแบบพี่กับน้อง เพื่อนหน้าซอยท้ายซอยรู้จักกันหมด มองในแง่การเมืองก็ดี คือ หญิงชายในสังคมมีบทบาทสำคัญ ต่างคนต่างก็ทำหน้าทีี่ของตนไป ไม่มีความขัดแย้งใดๆ เกิดขึ้น เป็นแบบพ่อปกครองลูก สร้างความสามัคคีให้มั่นคงได้เป็นอย่างมาก มองในแง่วัฒนธรรมก็ดี คือ ที่เรามีหลักฐานงานบุญประเพณีให้สืบทอดกันมาจนถึงทุกวันนี้ก็เพราะความโด่ ดเด่นในด้านนี้ เบ็ญทมได้หลอมรวมความเป็นเขมรเข้าด้วยกัน สอนให้คนรู้จักความกตัญญูกตเวทีต่อพ่อแม่  แม้ท่านเหล่านั้นจะล่วงลับดับกายสังขารไปแล้ว ก็ยังสอนให้รู้จักการทำบุญอุทิศไปให้ สอนให้รู้จักการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ คือการสงเคราะห์ญาติมิตรของตน (จูนกัญจือ) และที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันคือ ถือว่าวันนี้เป็นวันครอบครัว ลูก หลานที่ไปทำงานต่างจังหวัด จากบ้านไปหลายปีก็จะได้กลับในช่วงนี้ ซึ่งไม่เหมือนการกลับในช่วงเทศกาลปีใหม่นะ ถ้ากลับช่วงปีใหม่คนเราจะคิดว่าจะกลับไปกินเหล้า  แต่ถ้ากลับในช่วงวันสารทคนจะคิดว่าไปทำบุญหรือไม่ก็ไปหาพ่อแม่ ได้เห็นญาติผู้ใหญ่ บางครอบครัวจากกันนานมากแต่พอถึงวันนี้ทุกคนได้มารวมกัน ซึ่งได้ก่อให้เกิดความสุขความอบอุ่นขึ้นเป็นอันมาก

ความหมาย
บุญ คือ ผลที่เกิดจากการทำทางกาย วาจา ใจ มีลักษณะเย็น เบิกบาน ชุ่มชื่น น่ายินดี บุญที่บำเพ็ญนั้นมีหลายระดับ คือระดับต้น ระดับกลาง ระดับสูงสุด ซึ่งต้องประกอบด้วยเจตนา ถ้าสักแต่ว่าทำ ก็ไม่สามารถทำให้บุญสำเร็จได้
กิริยาของการทำบุญนั้น มี 10 อย่าง คือ
1. ทานมัย บุญสำเร็จด้วยการบริจาคทาน
2. สีลมัย บุญสำเร็จด้วยการรักษาศีล
3.ภาวนามัย บุญสำเร็จด้วยการเจริญภาวนา
4. อปจายนมัย บุญสำเร็จด้วยการประพฤติถ่อมตนแก่ผู้ใหญ่
5. เวยยาวัจจมัย บุญสำเร็จด้วยการช่วยขวนขวายในกิจที่ชอบ
6. ปัตติทานมัย บุญสำเร็จด้วยการให้ส่วนบุญ
7. ปัตตานุโมทนามัย บุญสำเร็จด้วยการอนุโมทนาส่วนบุญ
8. ธัมมัสสวนามัย บุญสำเร็จด้วยการฟังธรรม
9. ธัมมเทสนามัย บุญสำเร็จด้วยการแสดงธรรม
10. ทิฏฐุชุกัมม์ บุญสำเร็จด้วยการทำความเห็นให้ตรง
กล่าวโดยย่อ มี 3 อย่าง คือ
1. ทานมัย บุญสำเร็จด้วยการให้ทาน
2. สีลมัย บุญสำเร็จด้วยการรักษาศีล
3. ภาวนามัย บุญสำเร็จด้วยการเจริญภาวนา
เพื่อให้เข้ากับบรรยากาศของการทำบุญในวันนี้ อาตมภาพได้นำบุญกิริยาวัตถุข้อที่ 6 คือ ปัตติทานมัย บุญสำเร็จด้วยการทำบุญอุทิศให้ผู้ที่ล่วงลับไปแล้วมาอรรถาธิบาย ให้ท่านสาธุชนทั้งหลายได้นำไปเป็นแนวทางในการปฏิบัติ โดยมุ่งประโยชน์สูงสุดคือความสุขในชีวิตประจำวันของตน ประเพณีที่ปราชญ์โบราณพาดำเนินมาถือว่าดีอยู่แล้วอาตมภาพไม่โต้แย้ง แต่ในฐานะที่เราเป็นพุทธบริษัทก็ควรที่จะหันมาสนใจประเพณีชาวพุทธบ้างว่ามี ระเบียบปฏิบัติอย่างไร ทุกวันนี้เราต่างคนต่างทำแม้แต่การนำกล่าวถวายสังฆทานตามวัดต่างๆ ก็ไม่เหมือนกัน ที่เห็นชัดเจนที่สุดคือ คำภาษาบาลีนิดเดียว ดูความหมายแล้วไม่มาก แต่พอคำที่เป็นภาษาไทยยาวเกือบหนึ่งหน้ากระดาษ ซึ่งทุกที่ก็มุ่งประโยชน์สูงสุดคือความสุขนั่นเอง 
การ ทำบุญอุทิศนั้น เป็นกิริยาที่ผู้ยังมีชีวิตอยู่ คือปิยชนทั้งหลายอันมีภริยา ลูก เป็นต้น ทำบุญอุทิศไปให้ญาติของตนที่ตายไปแล้ว ด้วยหวังว่าท่านเหล่านั้นจะได้รับส่วนบุญที่เราอุทิศไปให้ เป็นการแสดงถึงความรักความเมตตาที่มีต่อกัน เพราะการจากไปของบุคคลเหล่านั้นเราไม่ทราบว่าท่านไปอย่างไร มีชีวิตความเป็นอยู่อย่างไร เราก็ไม่อาจจะทราบได้ และที่สำคัญขณะที่ท่านเหล่านั้นมีชีวิตอยู่เราก็ไม่รู้ได้ว่าท่านทำบุญมาก น้อยแค่ไหน ดังนั้น การทำบุญอุทิศให้จึงเป็นหน้าทีี่ของผู้อยู่เบื้องหลังที่จะทำไปให้ ดังพุทธภาษิตในขุทธกนิกาย ธัมมปทกถาว่า ปุญฺญํ สุขํ ชีวิตสงฺขยมฺหิ แปลความว่า บุญนำความสุขมาให้ ในเวลาสิ้นชีวิตไปแล้ว กล่าว ได้ว่า ผู้ที่ละกายสังขารนี้ไปแล้วอยู่ได้เพราะบุญ-บาป เท่านั้น ก่อนที่จะได้อธิบายหลักการทำบุญอุทิศต่อนั้น ขอกล่าวถึงการทำบุญทั่วๆ ไปที่ปรากฏในบุญพิธีต่างๆ เสียก่อน เพื่อเปรียบเทียบให้เห็นความแตกต่าง 
ตารางเปรียบเทียบ : ลักษณะการทำบุญอุทิศที่ปรากฏในงานบุญทั่วๆ ไป

ความประสงค์
ลักษณะการทำบุญอุทิศ
งานศพ
งานสารท
พุทธศาสนา
อาหารประณีต/กำลัง
ใส่ถาดวางไว้ข้างโลง
ใส่กระเฌอเหล้าเซ่นบอก
ถวายอาหารแด่หมู่สงฆ์
เสื้อผ้าอาภรณ์/ประดับ
เผ่าเสื้อผ้าไปให้
หาเสื้อผ้าถวายพระสงฆ์
ถวายผ้าไตรแด่หมู่สงฆ์
ยานพาหนะ/สะดวก
รูปรถเล็กๆ เผ่าไปให้
-
ถวายรองเท้า/ค่ารถแด่หมู่สงฆ์
ที่อยู่อาศัย/ร่มเย็น
ทำรูปบ้านเล็กๆ เผ่าไปให้
-
สร้างกุฏีถวายสงฆ์

รูปภาพ: เครื่องเซ่นที่จัดใส่ถาดเรียกวิญณานต่างๆ มากิน

จาก ตารางเราจะพบว่าลักษณะการทำบุญอุทิศให้นั้นมีความแตกต่างกัน ทั้งในรูปของวัตถุ ตัวผู้รับ ส่วนพุทธศาสนานั้นมีบุญเขตที่เป็นตัวแทน คือพระสงฆ์ การที่ลูกหลานทำบุญอุทิศไปให้ผู้ล่วงลับไปแล้วนั้น เป็นกิริยา และน้ำใจที่แสดงถึงความกตัญญูกตเวทิตา ด้วยการระลึกถึงพระคุณของท่านผู้ล่วงลับไปแล้ว ว่าเมื่อก่อนท่านเป็นผู้มีบุญคุณมากล้น การแสดงออกถึงความกตัญญูนี้เองพระพุทธองค์ถือว่าเป็นคุณธรรมแห่งความเป็นคน ดี ดังพระบาลีว่า นิมิตฺตํ สาธุรูปานํ กตญฺญูกตเวทิตา เหตุผลที่ต้อง มีการทำบุญอุทิศให้นั้น เพราะในโลกแห่งวิญญาณนั้นไม่มีแม้กระทั่งกสิกรรม โครัคคกรรม หรือแม้การค้าขาย ดังปรากฏในติโรกุฑฑสูตร เมืองมนุษย์เราไม่มีนาทำยังสามารถไปซื้อข้าวสารมาหุงได้ มีการเลี้ยงสัตว์ต่างๆ เช่น โค กระบือ หมู ไก่ สุนัข แมวได้ แต่โลกแห่งวิญญาณไม่มี การค้าขายก็ไม่มี ซึ่งต่างจากโลกมนุษย์สิ้นเชิงที่มี 7-eleven,  BigC, Macro-lotus หิวตอนไหนก็เข้าไปได้ตอนนั้น ผู้ที่มีปัญญาผ่านการอบรมมาแล้วย่อมเป็นผู้ไม่ ประมาทขณะที่ตนยังมีชีวิตอยู่ต้องรีบเร่งเพียรสร้างคุณงามความดีให้มาก ดังพระบาลีที่ได้ยกขึ้นเป็นอุเทศเบื้องต้นว่า อิธ นนฺทติ เปจฺจ นนฺทติ, กตปุญฺโญ อุภยตฺถ นนฺทติ, ปุญฺญํ เม กตนฺติ นนฺทติ, ภิยฺโย นนฺทติ สุคตึ คโต ความว่า ผู้ทำบุญแล้วย่อมบันเทิงในโลกนี้ ตายแล้วย่อมยินดี ชื่อว่ายินดีในโลกทั้งสอง เขาย่อมยินดีว่า เราทำบุญไว้แล้ว ไปสู่สุคติย่อมยินดียิ่งขึ้น  จากบาลีดังกล่าวชี้ให้เห็นชัดว่า ไม่มีใครเลยในโลกนี้ที่คิดว่า ขณะที่เรามีชีวิตอยู่เราจะไม่ทำบุญ เรามีลูกมีหลาน เราจะรอให้พวกเขาเหล่านี้ทำบุญอุทิศไปให้ในปรโลก เป็นความคิดของคนที่ไม่เคยอบรมตนเองตามหลักธรรม
ลักษณะการทำบุญอุทิศให้
ก่อน อื่นเรามาทำความรู้จักคำว่า “อุทิศ” เสียก่อนว่าหมายถึงอะไร อุทิศ คือการแสดงเจตจำนงค์ที่ชัดเจนว่าจะให้ หรือพูดให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือการให้แบบเจาะจง มีการระบุชื่อเสียงเรียงนามให้ชัดเจน เปรียบเหมือนการส่งพัสดุไปให้บุคคลปลายทาง  ต้องมีการเขียนที่อยู่ให้ชัดเจน มิเช่นนั้นบุรุษไปรษณีย์อาจส่งของไม่ถึงมือผู้รับก็ได้  ถ้าของไม่ถือมือผู้รับ หรือชื่อที่ระบุนั้นปัจจุบันไม่ได้อยู่ในพื้นที่นั้นแล้ว ของพัสดุนั้นจะตีกลับทันที กลับมาหาผู้ส่งเหมือนเดิม การอุทิศเช่นเดียวกัน ถ้าผู้ที่เราอุทิศไปปฏิสนธิที่อื่นแล้ว คือเปลี่ยนอัตภาพจากความเป็นเปรตไปเป็นเทวดา หรืออื่นๆ บุญอุทิศนั้นก็กลับมาหาเราเหมือนเดิม ซึ่งเรื่องนี้มีปรากฏเป็นหลักฐานในธรรมบท มีอุบาสกผู้หนึ่งตรัสถามพระพุทธเจ้าว่า การทำบุญอุทิศนี้เขาจะได้รับไหม และบุญที่อุทิศให้ในส่วนของเราจะหมดไปด้วยไหม พระพุทธเจ้าผู้เป็นบรมครูตรัสว่า การทำบุญอุทิศอุปมาเหมือนการจุดเทียนในที่มืด โดยเริ่มจากเทียนเล่มเดียวที่เราถือไว้ก่อน ถ้ามีผู้ใดประสงค์ต้องการต่อเทียน เราก็จุดส่งต่อให้กี่คนๆ ก็ทำเช่นนี้  เทียนเราไม่หมดไม่ดับ เรายิ่งได้คือแสงสว่างที่ได้จากเทียนทวีขึ้นฉันใด บุญที่เราอุทิศให้ก็เช่นนั้นเหมือนกัน  การอุทิศจะกระทำได้ก็ต่อเมื่อผู้ที่เราจะอุทิศให้นั้นได้ดับกายสังขารไปแล้ว เท่านั้น  ถ้ายังไม่ตายเป็นเพียงกิริยาการแบ่งบุญให้ เพื่อให้ผู้นั้นร่วมอนุโมทนากับการกระทำของเรา  ถ้าในวันนี้ซึ่งเป็นวันสารท ท่านทั้งหลายก็อุทิศให้กับปิยชนของตนที่ล่วงลับดับกายสังขารไปแล้ว ด้วยการออกชื่อ สกุล และเจตนาหรือวัตถุประสงค์ที่ต้องการให้เขาได้รับโดยผ่านสื่อกลาง คือหมู่สงฆ์ 

 อะไรที่ต้องอุทิศไปให้
ใน อดีต พระเจ้าพิมพิสารผู้ปกครองเมืองพาราณี ได้สร้างวัดเวฬุวัณมหาวิหารถวายพระพุทธเจ้า นิมนต์พระสงฆ์ทั้งหลายมีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขมาฉันตลอด 7 วัน พอถึงวันสุดท้ายก็ได้ทำพิธีถวายวัดที่ทรงสร้างถวาย  ระหว่างที่พระสงฆ์ถวายพระพรนั้น มหาบพิตรไม่ได้อุทิศให้ผู้หนึ่งผู้ใดเป็นการเฉพาะ คืออุทิศแบบทั่วไป พอตกกลางดึกพระญาติในอดีตของพระองค์ซึ่งในขณะนี้ได้เป็นเปรตอดอยาก ไม่มีอาหารจะกินเสื้อผ้าก็ไม่มีใส่  หวังอยู่ว่าการทำบุญของพระเจ้าพิมพิสารในครั้งนี้พวกตนจะได้รับอย่างแน่นอน แต่พอถึงเวลาไม่มีวี่แววว่าจะได้รับ จึงไปปรากฏในนิมิตให้เห็น ร้องเสียงน่ากลัว บางตนก็แสดงให้เห็นไม่มีเสื้อผ้าใส่ ร่างกายหมองคล้ำ พอรุ่งเช้าพระเจ้าพิมพิสารให้นำความนี้ไปเล่าถวายพระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์จึงตรัสว่า ฝูงเปรตเหล่านั้นเป็นพระญาติของมหาบพิตร ในอดีตพระเจ้าแผ่นดินทำบุญเลี้ยงพระสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข เพราะความหิวคนเหล่านั้นได้แบ่งให้ลูกๆ และกินเองก่อนที่จะถวายพระสงฆ์ ด้วยผลกรรมนั้นเมื่อจุติจากอัตภาพนั้น ได้ไปเกิดเป็นเปรตมีความเผ็ดร้อนเพราะผลแห่งกรรมนั้นหลายกัปป์ รอแล้วรออีกว่าเมื่อไหร่หนอจะมีญาติของพวกเราสักคนทำบุญอุทิศให้  เมื่อทราบความเป็นมาแล้ว พระเจ้าพิมพิสารได้ทำบุญใหม่มีอาหารอันประณีต และผ้าไตรด้วย พอพระสงฆ์ถวายพระพร พระองค์ก็อุทิศแบบเจาะจงให้หมู่ญาติเหล่านั้น เมื่อเวลาเข้าบรรทมก็ได้ทรงสุบินเห็นว่าหมู่ญาติเหล่านั้นมีอาหาร เสื้อผ้าใส่สวยงาม มีรัศมี และอนุโมทนาบุญในครั้งนี้ พร้อมกับกล่าวลาเพื่อจะไปจุติภพภูมิใหม่ จากตัวอย่างที่ยกมากล่าวนี้ ได้ชี้ให้เห็นว่า สิ่งที่เราต้องอุทิศไปให้กับผู้ตายคือผลบุญที่เกิดจากการกระทำของเรา ไม่ใช่การเซ็นบวงสรวงตามสี่แยกสามแยกเหมือนที่กระทำกันอยู่ และการอุทิศไม่ต้องอาศัยเครื่องมือใดๆ ช่วย คือใช้ของมึนเมารดบอก
ใน ติโรกุฑฑสูตรมีกล่าวไว้ว่า ฝูงเปรตจะมาตามถนน ตามสี่แยก สามแยก และข้างฝาเรือน รวมไปถึงจำพวกสัมภเวสีทั้งหลายด้วย ถ้าวิญญาณมาขนาดนี้ท่านลองพิจารณาดูว่า อาหารเพียงหยิบมือเดียวจะพอกินอะไร และอาตมาคิดว่าเขาคงไม่มีระเบียบพอที่จะเข้าแถวยืนรับเป็นแน่ ดังนั้น จำเป็นที่เราจะต้องอุทิศแบบออกชื่อ นามสกุล เป็นใคร เพื่อให้มา และโดยธรรมชาติคนที่เป็นญาติเท่านั้นเขาจึงจะกล้าเข้าบ้านเรา ถ้าไม่ใช่ญาติเขาไม่กล้าแน่นนอน ยกเว้นมีการเชิญให้มา ดังนั้น การที่เราจัดใส่กระเฌอ หรือทำเป็นกระทงนำไปเทตามมุมบ้าน แล้วเรียกให้ผีมากินนั้น คงเป็นวิธีหนึ่งที่เป็นการให้ทานแก่วิญญาณทั้งหลายที่เร่ร่อนไม่มีญาติหรือ หลงมาหาบ้านญาติไม่เจอ   ก็จะได้กินของที่เขาทิ้งไว้ตามนอกบ้าน  ฟังดูก็น่าสลดสังเวชนะ ถ้ากลุ่มนั้นมีพ่อ-แม่เราอยู่ด้วยเราคงบาปหนักที่เดียว ลองนึกภาพดูหละกัน

บุญเขตในการทำบุญอุทิศ
ปราชญ์ โบราณที่วางแนวทางนี้ไว้มีความเฉียบแหลม มองการณ์ไกลถ้าจะพิจารณาดูแล้วในอดีตพุทธศาสนายังไม่มีบทบาทมากนักในภูมิภาค นี้ ชาวบ้านรู้จักความเชื่อแบบพื้นบ้าน คือการนับถือผีบรรพบุรุษเป็นหลัก  บางบ้านมีการนำเอาจอมปลวกเล็กๆ มาไว้บูชาก็มี บ้างก็มีการนำกระดูกปู่ย่า-ตายาย มาไว้บูชา จึงต้องมีการจัดเตรียมเครื่องบูชาที่มีการเซ่นไหว้กันเองตามความเชื่อ ประมาณว่าเป็นการบอกกล่าวให้ญาติทั้งหลายที่ตายไปแล้ว ให้พากันมารับอาหารคาวหวานต่างๆ เรียกมาหมด โดยใช้เหล้าขาวเป็นสื่อกลาง เรียกว่าของเซ่นต้องแรง ถ้าใช้นำ้เปล่าไปไม่ถึง มีจุดธูปเทียนด้วย แล้วจึงนำของที่เซ่นแล้วไปเททิ้งตามมุมบ้าน หรือมุมสี่แยก จากนั้นก็มีการนำข้าวปลาอาหารไปวัดเพื่อถวายหมู่สงฆ์ บางครอบครัวจะให้ความสำคัญกับการเซ่นไหว้มากกว่าการนำไปวัด บางครอบครัวให้ความสำคัญการถวายแด่พระสงฆ์มากกว่าการเซ่นไหว้ ในฐานะที่เราเป็นพุทธบริษัทอาตมภาพจะกล่าวถึงการมาทำบุญเป็นหลัก แต่การเซ่นไหว้เราก็ควรคงไว้เพื่อสอนอนุชนรุ่นหลังต่อไป ญาติโยมทั้งหลายที่นำข้าวปลาอาหารมาวัด เรียกภาษาพระว่า ทายก ทายิกา แปลว่าผู้ให้  ส่วนพระสงฆ์องค์สามเณรเถรชีทั้งหลายเรียกว่า ปฏิคาหก แปลว่า ผู้รับ 

การ ทำอุทิศนี้นั้นต้องทำในเขตพุทธศาสนาเท่านั้น หรือทำกับบุคคลที่มีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นที่พึ่งอันสูงสุด ทั้งทายกและปฏิคาหกต้องมีลักษณะที่แตกต่างกันด้วยคุณสมบัติ หมายถึงว่า ทายก ที่ประสงค์ให้ญาติของตนผู้ละโลกนี้ไปแล้วนั้นมีอาหารกิน มีเสื้อผ้านุ่งห่ม หรือได้รับความเย็นเพื่อบรรเทาความทุกข์ร้อนจากผลกรรมที่ตนได้รับ ผู้ให้ต้องมีเจตนาที่สมบูรณ์ คือก่อนจะให้ทานทายกต้องมีใจที่ปรารถนาที่จะให้จริงอันประกอบด้วยศรัทธา โดยคิดว่าถ้าถวายสิ่งนี้ไปแล้วญาติของเราจะได้รับ ขณะให้ทาน ก็ไม่รู้สึกลังเลสงสัย หรือวิตกกังวลว่าทรัพย์ที่ตนถวายไปนี้หมู่สงฆ์จะฉันให้ไหม และเราให้ไปแล้วเราได้อะไรกินเอง  และหลังจากให้แล้ว ก็ต้องมีความรู้สึกยินดีกับทานที่ตนได้ให้  โดยไม่รู้สึกเสียดาย  อยากได้คืน เมื่อประกอบด้วยเจตนาทั้งสามขั้นนี้ไปได้ก็เรียกว่าสำเร็จแล้วครึ่งหนึ่ง เหลือขั้นสุดท้าย คือในส่วนของ     ปฏิคาหก  พระสงฆ์ผู้รับต้องมีความบริสุทธิ์ คือศีลาจาริยวัตรทั้งหลายต้องดี มีความประพฤติเรียบร้อยไม่เป็นไปเพื่อความเดือนร้อนในภายหลัง (รายบุคคล) แต่ถ้าไม่มั่นใจว่าพระสงฆ์ท่านเป็นผู้บริสุทธิ์หรือเปล่า ให้ถวายเป็นการสงฆ์ คือถวายเเบบรวม ถึงแม้ว่าพระสงฆ์บางรูปท่านมีศีลหรือความประพฤติบางอย่างไม่เรียบร้อย ก็ไม่มีปัญหา เพราะถือว่าสงฆ์เป็นใหญ่ คำว่าสงฆ์ในที่นี้ไม่ได้มุ่งเอาเฉพาะพระที่เป็นพระอริยบุคคล ฉะนั้น คำว่าสงฆ์จึงนับสมมติสงฆ์เข้าด้วย เรียกว่าหมู่สงฆ์มีจำนวนตั้งแต่ ๔ รูป ขึ้นไป เมื่อครบองค์ประกอบเหล่านี้แล้วการทำบุญอุทิศของเราจึงจะมีผลไพบูลย์ เพราะว่าพระสงฆ์เปรียบเสมือนเรือ หรือสะพาน ที่ต้องอาศัยเมื่อจะข้ามฟาก คือคุณงามความดีที่ท่านบำเพ็ญมาจะเป็นเครื่องหนุนส่งให้บุญเราสำเร็จได้

บุญเขตอื่นที่มิใช่หมู่สงฆ์
ใน กรณีที่หาพระสงฆ์ไม่ได้เลย ไปวัดไหนๆ ก็ไม่มี ถึงมีก็ไม่สามารถทำได้เพราะท่านอาพาธมากแล้ว จะทำอย่างไร ท่านสาธุชนทั้งหลายอย่าลืมว่า พระรัตนตรัย คือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ถือเป็นสรณคมน์อันสูงสุดของพวกเรา แม้อายุกาลของพระศาสนาจะล่วงเลยมาเป็นพันปีแล้วก็ตาม แต่พระรัตนตรัยก็ยังคงอยู่ ดังนั้น เมื่อไม่มีพระสงฆ์อยู่ ให้เข้าไปหาอุบาสก-อุบาสิกาที่ท่านมีความเลื่อมใสในพระรัตนตรัยอย่างจริงจัง แล้วแสดงเจตน์จำนงค์ให้ท่านทราบว่าต้องการทำอะไร ถ้าเราอยากให้ญาติของเราผู้จากโลกนี้ไปแล้วเป็นอย่างไร เช่นได้แต่งตัวสวยๆ ได้ทานอาหารที่อร่อยๆ อยากบีบเส้นคลายจุดให้ท่าน เราก็ปฏิบัติกับอุบาสก-อุบาสิกาท่านเหล่านั้นเหมือนอย่างที่เราอยากทำให้พ่อ แม่หรือญาติของเราที่ล่วงลับไปแล้วอย่างนั้นเหมือนกัน 

      เกี่ยวกับการทำบุญอุทิศนี้ มีนิทานเรื่องหนึ่งที่ปรากฏในธรรมบทแปล คือเรื่องลูกสาวอนาถบิณฑิกเศรษฐีทำบุญอุทิศให้กับตุ๊กตาที่แตก เพื่อเป็นปุคลาธิษฐาน ความปรากฏว่า หานิทานลูกสาวอนาบิณฑิกเศรษฐีมาเพิ่ม ทำบุญให้ตุ๊กตา

สรุปความแล้ว บุญ หมาย ถึงธรรมชาติที่มีสภาพเย็นฉ่ำ เบาสบาย มีความร่าเริง ที่เกิดจากการ กระทำกุศลกรรมทางกาย วาจา ใจ กิริยาที่ทำบุญให้สำเร็จนั้นมี 10 อย่าง แต่กล่าวโดยย่อแล้วมีเพียง 3 อย่าง ส่วนบุญที่สำเร็จเพราะการอุทิศส่วนบุญให้นั้น เรียกว่า ปัตติทานมัย เป็นกิริยาที่กตเวทิตาชนจะพึงกระทำแก่กตัญญูชนผู้เป็นที่รักทั้งหลาย บุคคลที่รู้ถึงบุญคุณที่บุคคลกระทำต่อตนแล้วกระทำตอบแทน ถือว่าเป็นคนดี คนดีตกนำ้ไม่ไหลตกไฟไม่ไหม้ ไปอยู่ทีใดหรือประกอบอาชีพอะไรที่เหมาะสมแล้วมีแต่ความเจริญถ่ายเดียว เพราะมีคุณธรรม คือความกตัญญู ซึ่งถือเป็นการทำบุญที่ถูกวิธีมีนัยดังได้อรรถาธิบายมาแล้ว
เทสนาปริโยสาเน ในการสิ้นสุดลงแห่งธรรมเทศนานี้  อิมินา กตปุญฺเญน ขอ อำนาจกุศลผลบุญที่ท่านสาธุชนทั้งหลายได้บำเพ็ญไว้ดีแล้วในหมู่สงฆ์ จงมารวมกันมหันตเดชานุภาพ สนับสนุนส่งเสริม  อำนวยอวยพรใหเปตชนทั้งหลายผู้ละโลกนี้ไปแล้วนั้น จงเจริญด้วยอิฏฐะวิบากสุขสมบัติีที่พึงปรารถนาในสัมปรายภพ  สมดังเจตนาปรารถของท่านสาธุชนทั้งหลายทุกประการ
อนึ่ง ขออำนาจกุศลผลบุญนี้ จงเป็นปฏิพรย้อนสนองใหท่านทั้งหลายจงเจริญด้วย อายุ วรรณะ  สุขะ พละ ปฏิภาณ ธะนะสารสมบัติ ปรารถนาสิ่งใดที่ชอบประกอบด้วยธรรมแล้ว  ก็ขอให้ความปรารถนานั้นๆ จงพลันสำเร็จ  จงพลันสำเร็จ  จงพลันสำเร็จ  สมความปรารถนาทุกประการ
แสดงพระธรรมเทศนาในปูชากถา พอสมควรแก่เวลา ขอสมมติยุติลงคงไว้แต่เพียงเท่านี้
เอวัง ก็มีด้วยประการฉะนี้แล


พระมหาเฉลิมเกียรติ  แก้วหอม. เทศน์วันพระที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2555 ณ. วัดป่าโยธาประสิทธิ์ จ.สุรินทร์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น