วันอาทิตย์ที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2555

ธรรมะสังเวช : เตือนสติเวลาใกล้ตาย




                เมื่อตอนเช้าเคล้าชื่นระรื่นรส    พอสายหมดลมลับลงดับขันธ์
                เมื่อตอนสายได้สนุกสุดสุขครัน    พอบ่ายพลันชีวาตลงขาดรอน
                เมื่อตอนบ่ายรายล้อมพร้อมหน้าญาติ    พอเย็นขาดชีวาลงคาหมอน
                เมื่อตอนเย็นเล่นสนุกไม่ทุกข์ร้อน    พอค่ำมรม้วยมิดอนิจจัง
นะมัตถุ ระตะนัตตะยัสสะ    ขอความนอบน้อมนี้ จงมีแด่พระรัตนตรัย คือพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์
ขอกราบคาระวะ                   พระเถรานุเถระที่เคารพอย่างสูง
ขอเจริญไมตรีจิต                  เพื่อนสหธรรมิกทั้งผู้เป็นมุตตะกะ และนวกะทุกรุป แหละ
ขอเจริญสุข สวัสดี                คณะท่านเจ้าภาพ ลูกหลาน ญาติมิตร และแขกผู้มีเกียรติทั้งหลายที่มาร่วมไว้อาลัยในครั้งนี้
              อาตมภาพ พระมหาเฉลิมเกียรติ จิรวฑฺฒโน เลขานุการเจ้าคณะอำเภอศีขรภูมิ ธรรมยุต จากสำนักวัดป่าโยธาประสิทธิ์ ได้รับฉันทานุมัติจากคณะท่านเจ้าภาพ อันประกอบไปด้วย ลูก หลาน และญาติมิตร ของ……… ผู้วายชนม์ ให้เป็นผู้กล่าวธรรมสังเวช ซึ่งมิใช่การร้องเพลง การลำ หรือการเล่นลิเก ให้ญาติโยมได้ดูได้ฟังเพื่อความเพลิดเพลินสนุกสนาน  เเต่เป็นการมากล่าวย้ำเตือนให้ทุกท่านที่มาในวันนี้  ได้เกิดความสังเวช เกิดความตระหนักรู้ในความไม่ประมาทในชีวิตของตน ทั้งนี้เป็นการมุ่งให้สำเร็จหิตสุข ตามสมควรแก่ฐานะในสัมปรายภพ ด้วยอำนาจแห่งความกตัญญูและอปจายนมัย ซึ่งมีประจำมั่นคงในดวงจิต ส่วนทักษิณานุประทานที่คณะท่านเจ้าภาพได้บำเพ็ญพร้อมกันแล้วในวันนี้ เนื่องในพิธีบำเพ็ญกุศุลฌาปนกิจศพ ………… ผู้วายชนม์ ตามสมควรแก่เวลาสืบไป
            อันสัมพันธชนทั้งหลาย มีภริยา บุตร ธิดา และปิยชนคนเป็นที่รักใคร่ สามารถรำพันพร้อมกันได้ ทุกท่านก็คงรำพันดุจเดียวกันว่า
                                   แสนเสียดายคนดีอย่างนี้แท้ สุดจะแก้ให้ฟื้นคืนสังขาร
                                   มัจจุราชโหดร้ายไม่รู้กาล ด่วนพรากท่านจากเราเศร้าอาลัย
            ท่านสาธุชนทั้งหลาย คำว่า “มัจจุราช หรือ มรณะ” คือธรรมชาติของการดับ การสูญ การสิ้น  พูดเป็นภาษามนุษย์เรา ก็คือการตายนั่นเอง เป็นธรรมชาติที่ต้องเกิดขึ้นกับทุกคน ไม่วันนี้ก็วันหน้า ซึ่งไม่มีใครหลีกเลี่ยงภัยธรรมชาตินี้ไปได้เลย สมดังพุทธภาษิตในขุททะกะนิกาย สุตตะนิบาต ว่า :- 
                  ทหรา จ มหนฺตา จ เย พาลา เย จ ปณฺฑิตา
                  สพฺเพ มจฺจุวสํ ยนฺติ สพฺเพ มจฺจุปรายนาฯ
             แปลความว่า “ทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ คนโง่ คนฉลาดทั้งหมด ล้วนไปสู่อำนาจแห่งมัจจุราช คือความตาย ทุกคนล้วนมีความตายเป็นที่ไปเบื้องหน้า” และเหมือนบทประพันธ์เกี่ยวกับความตาย ซึ่งมีผู้ประพันธ์ไว้ว่า :-
                   สักกะแด็ย เงือบ มัน เรือบ กะเม็ง จ๊ะ
                   ด็อล จังวะ กะต้อง เงือบ เรียง คลูน
                   มันทา สัตว์เจืองปีร์ หรือ สัตว์เจืองบูน
                   เงือบ เรียง คลูน มัน สรูล เนียก นา
                การมาร่วมไว้อาลัยในครั้งนี้  ท่านทั้งหลายได้อะไร ซึ่งมีผู้รวบรวมไว้  คือ ๑. ได้มาพบสัจจะธรรม (ความตายที่ปรากฏ) ๒. ได้น้อมนำน้ำใจมาแสดงแก่ผู้ตายและญาติ (ยามจน, ยามเจ็บ, ยามเจ๊ง) ๓. ได้ทำบุญเพิ่มความดีให้ชีวิต และ ๔. ได้ช่วยกันรักษาจารีตประเพณีอันดีงามไว้
                เพราะฉะนั้น ท่านสาธุชนทั้งหลาย จงอย่าได้ประมาทในชีวิต การที่เรายังมีลมหายใจอยู่ นั่นแสดงว่าเรายังสามารถทำคุณประโยชน์ต่างๆ ให้เกิดขึ้นได้หลายอย่าง แต่ถ้าเมื่อใดที่ความตายมาเยือนเรา ท่านจะไม่มีโอกาสได้บำเพ็ญประโยชน์ หรือสร้างคุณงามความดีเหล่านั้นได้เลย แม้การสั่งเสีย หรือมอบหมายอันใดอันหนึ่งแก่บุคคลผู้ใกล้ชิด เราก็ยังไม่สามารถที่ทำได้ คือทำไม่ทัน ความตายได้คร่าชีวิตเราไปเสียแล้ว และเป็นการไปที่ไม่มีวันหวนกลับ ถึงกลับมาได้ก็ทุกอย่างเปลี่ยนไปหมดแล้ว จึงกล่าวได้ว่า ชีวิตของคนเราเป็นของไม่เที่ยง เป็นของไม่แน่นอน เกิดขึ้นย่อมดับไปเป็นเรื่องธรรมดา ดังคำพระท่านกล่าวว่า :-
                  สพฺพํ เภทปริยนฺตํ  เอวํ มจฺจาน ชีวิต. 
                  แปลความว่า  ชีวิตของคนเราเหมือนภาชนะดิน ซึ่งล้วนมีความสลายเป็นที่สุด.

                 แต่ สิ่งที่เราเหลือไว้ให้ทุกคนได้จดจำ คือความดี  เป็นประวัติศาสตร์ชีวิตของเราให้อนุชนรุ่นหลังได้รับรู้ แต่ถ้าเราไม่มีแหละ จะทำอย่างไร สิ่งนี้เป็นโจทย์ให้พวกเราทุกคนได้ตระหนัก ที่กล่าวเช่นนี้ เพราะปัจจุบันเรายังมัวเมาในการเกิดของตนเอง หลงในชาติ ในตระกูลของตน หลงในยศฐาบรรดาศักดิ์ที่ตนมีอยู่ โดยไม่คำนึงเลยว่า ขณะนี้บั้นปลายชีวิตของตนใกล้เข้ามาแล้ว พญามัจจุราชได้ส่งกำลังพลเข้ามาแทรกซึมอยู่ในธาตุขันธ์ของเราเต็มไปหมด ทำไมไม่พากันวิตกหรือกังวลใจกันบ้าง ปรากฏการณ์หรือสัญลักษณ์ที่บ่งบอกว่า พญามัจจุราชได้มาเยือนชีวิตเราแล้วนั้น คือญาติโยมบางท่านสายตาที่เคยมองเห็นอะไรต่อมิอะไร สามารถอ่านหนังสือได้โดยไม่ต้องใส่แว่น ก็เริ่มมัว พร่า สั้นไม่พอบางท่านสายตายาวอีก ผมที่เคยดกดำมีเงามันแวววาว ก็เริ่มเปลี่ยนสี เป็นสีขาวโพลน ขาวทั้งหมดยังพอดูได้ แต่ขาวเป็นจุดหย่อมๆ สิ มันไม่น่าแลมอง หนังที่เคยเต่งตึง นวลเนียน ไม่มีรอยรู้ขุมขน ก็เริ่มมีหลุมมีบ่อ ขรุขระ ตกกระ หยาบกร่าน ขาที่เมื่อก่อนสามารถวิ่งระยะทางไกลได้สบายๆ แต่พอมาวันนี้เริ่มมีอาการเจ็บปวดหัวเข่า นั่งนานไม่ได้มันปวด สารพันปัญหาที่รุมเร้าร่างกาย นั่นคือทัพหน้าของพญามัจจุราช แม่ทัพใหญ่ยังไม่เคลื่อนพล รอให้ทรุดหนักกว่านี้ก่อน ไม่เหมือนโยม……….. ผู้วายชนม์ เจอกำลังแห่งแม่ทัพใหญ่เข้าอย่างจัง เลยไม่สามารถต้านทาน     ไว้ได้ สุดท้ายก็ต้องม้วยมรณาไป เมื่อถึงคราแล้ว จะปัดป้องว่าเดี๋ยวรอก่อน อย่าพึ่งฉันยังไม่อยากไปตอนนี้ เราพูดไม่ได้เลย เหมือนคำกล่าวที่ว่า :-
                  ด็อล เวเลีย เงือบ เตรือบ ยศ จูย มันบาน
                  ชีวิต สังขาร จำตอง กระเวือดจอล
                  รถประมาณคัน กู ประมาน กร็อล
                  จำตองจอล ยัวโตว ตาบาป นึง บ็อญ

          “การร้องไห้ เศร้าโศก ไม่สามารถทำใจของผู้คนให้สงบได้ มีแต่จะเกิดทุกข์มากยิ่งขึ้น ทั้งร่างกายก็จะพลอยทรุดโทรม” นี้เป็นพระดำรัสขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ต้องการจะปลดเปลื้องทุกข์ให้กับหมู่ญาติของ  ผู้วายชนม์  ว่าอย่าได้เศร้าโศกเสียใจไปเลย  ความตายได้เป็นเครื่องหมายของการสูญเสีย  แต่การสูญเสียนั้นทุกคนทุกครอบครัวต้องประสบกันหมด  ขอเพียงเราอย่าประมาท  จงใช้ชีวิตที่เรามีอยู่นี้ให้เหมาะสม ทำหน้าที่ของตนให้สมบูรณ์  ถ้าเรานึกไปข้างหน้าเราจะเห็นว่า เวลาชีวิตของเราเหลือน้อยเต็มที “อย่าทำอะไรเหมือนชีวิตไม่มีที่สิ้นสุด แต่จงคิดว่า จะทำอะไรให้ได้มากที่สุดก่อนจะสิ้นชีวิต”  ดังพระบาลีว่า ยถา ยถา ยตฺถ ลเภถ อตฺถํ, ตถา ตถา ตตฺถ  ปรกฺกเมยฺย.  ความว่า บุคคลพึงได้ประโยชน์ในที่ใด ด้วยวิธีใดๆ ควรบากบั่นในที่นั้นด้วยประการนั้นๆ คือการสร้างบุญกุศลเป็นทุนสำรองให้ กับชีวิตของตนให้มากที่สุด  บุญกุศลไม่เหมือนเงินทองที่ญาติโยมหามาได้นะ เงินทองหามายังรู้จักหมด หรือไม่ก็โดนลักขโมยไปได้  แต่บุญที่เรากระทำไว้จะติดต่อเราไปตลอด ใครๆ ก็ไม่สามารถลักของเราไปได้ แม้ลูกหลานก็ไม่สามารถแย้งเอาไปได้ ไม่เหมือนทรัพย์มรดก

                 การมาร่วมไว้อาลัยในครั้งนี้ ให้ท่านทั้งหลายได้สำเนียกเถิดว่า เบื้องหลังชีวิตของคนเราจบลงที่หน้าฌาปนสถานกันทุกคน ญาติมิตร ทรัพย์สมบัติ ไม่สามารถตามติดตัวเราไปได้ ทุกอย่างจะมารวมกันอยู่แค่นี้ ไม่กี่นาทีข้างหน้านี้ ทุกคนก็ต้องแยกย้ายกันกลับเคหะสถานของตน  ท่านลองนึกกลับกัน โดยถือคุณโยม……. เป็นปุคลาธิฐาน ถ้าเป็นตัวเรา  เราจะรู้สึกอย่างไร จากการที่เคยมีเพื่อน มีลูกๆ หลานๆ ล้อมหน้าล้อมหลังเต็มไปหมด แต่วันนี้เรากลับทำอะไรไม่ได้  มันน่าสังเวชไหม นี่แหละชีวิต ความตายเท่านั้นที่แน่นอน สมดังพุทธศาสนสุภาษิตว่า อปฺปมายุ มนุสฺสานํ หิเฬยฺยนํ สุโปริโส, จเรยฺยา ฐิตสีโลว นตฺถิมจฺจุสฺส นาคโมฯ ความ ว่า อายุคนเรานั้นสั้น เราไม่ควรประมาทว่ามีอายุยาว ควรตั้งตนอยู่ในศีล ขึ้นชื่อว่าความตายไม่มาถึงเราไม่มี. พระพุทธองค์ทรงเกรงว่า พุทธบริษัทของพระองค์จะมีอาการตายซ้ำตายซาก มีชีวิตอยู่ไม่ตายก็เหมือนตาย พระองค์ได้สอนให้ทุกคนหมั่นระลึกถึงความตายเป็นอารมณ์ เรียกว่า มรณสติกัมมัฏฐาน เพื่อ ให้มีความคุ้นเคยกับความตาย เวลาใกล้ตายจะได้มีความเป็นปกติ คือไม่สะดุ้งกลัว หวาดผวาตกใจ วันๆ หนึ่งให้พยายามกำหนดถึงความตายให้มาก เวลาความตายมาเยือนคนในครอบครัวจะได้ไม่เศร้าใจมากนัก อย่าเป็นคนฝังตัวเองทั้งเป็น เพียงเพราะฝังใจกับอดีตที่ผ่านมา คือคนที่เรารักได้จากไป  ฉะนั้น เพื่อให้การบรรยายในครั้งนี้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น อาตมภาพขอยกเอานิทานในธรรมบทมาสาธก ให้ท่านทั้งหลายได้สดับตรับฟัง เพื่อความซาบซึ้งและมีความเข้าใจในหลักธรรม สามารถกำหนดจดจำไปประพฤติปฏิบัติในชีวิตประจำวันของตนได้อย่างถูกต้องต่อไป ความดำเนินว่า  
มี เศรษฐีผู้หนึ่ง  เป็นคนร่ำรวย   แต่มีอุปนิสัยเป็นคนตระหนี่  มีบุตรอันเป็นที่รักอยู่ ๑ คน เริ่มมีอาการป่วย แต่ไม่ได้รับการดูแลที่ดีเท่าที่ควร เนื่องจากบิดาของตนกลัวว่าหมอที่มารักษาลูกชายของตนนั้น จะเห็นกองทรัพย์สินเงินทอง จึงไม่ยอมจ้างหมอมารักษา  แต่ตนเองใช้วิธีสอบถามหมอว่า อาการเเบบนี้ควรใช้ยาขนานไหน อาการป่วยของบุตรชายจากเป็นไข้ธรรมดา  ก็เริ่มทวีความรุนแรง  กำลังแห่งโรคแรงกล้าขึ้นเรื่อยๆ จนในที่สุดบุตรชายก็สิ้นใจเมื่อบุตรชายตาย เศรษฐีได้นำไปฝังที่สุสานคือป่าช้า ทุกเย็นเศรษฐีจะต้องมานั่งร้องไห้คร่ำครวญที่เชิงตะกอนของลูกชาย  เย็นวันหนึ่งเมื่อมาถึงสุสานยังไม่ทันร้องไห้  ได้เหลือบไปเห็นเด็กชายคนหนึ่งมานั่งร้องไห้  จึงเข้าไปถามเด็กว่าร้องไห้ทำไม
                 เด็กตอบว่า  “ผมต่อเรือนรถไว้อย่างสวยงามแต่ยังขาดล้อ  ที่ร้องไห้ก็เพราะปรารถนาจะได้ล้อรถ”
                 เศรษฐีจึงถามว่า “ล้อรถที่ไหนล่ะ ที่เจ้าอยากได้น่ะ”
                 เด็ก ตอบว่า “เรือนรถที่ต่อไว้นั้นสวยงามมาก จึงไม่ควรจะใช้ล้อที่สร้างจากวัตถุของโลกนี้ เห็นสมควรอยู่ก็แต่พระอาทิตย์กับพระจันทร์เท่านั้น  ผมอยากได้พระอาทิตย์กับพระจันทร์มาทำล้อรถ”
                เศรษฐีไดฟังเช่นนั้น จึงกล่าวว่า “เจ้านี่จะบ้าหรือ ที่มาร้องไห้เอาพระอาทิตย์พระจันทร์ สิ่งนั้นมันสูงเกินนัก ไม่มีใครจะเอาสิ่งที่สูงสุดนั้น  มาครอบครองเป็นสิทธิได้หรอก”
                เด็กตอบว่า “ไม่เป็นไรหรอกครับ ถึงผมจะบ้า แต่บ้าเพราะร้องไห้อยากได้ในสิ่งที่สูง ถือเอาไม่ได้                 แต่สามารถมองเห็นได้  คงจะบ้าน้อยกว่าคนที่ร้องไห้  จะเอาในสิ่งที่มองไม่เห็น  เช่นร้องไห้จะให้คนที่รักซึ่งตายไปแล้วกลับฟื้นขึ้นมา”
เศรษฐี ได้ยินดังนั้น ก็ทำให้กลับได้สติขึ้นมา ปัญญาคือความรู้แจ้งได้ขจัดความเศร้าทันที นับแต่นั้นก็เลิกมาป่าช้า เลิกฝังชีวิตไว้กับความเศร้าที่เปล่าประโยชน์ 
                เด็กชายที่มาปรากฏแก่เศรษฐีผู้มีความตระหนี่ ซึ่งกำลังโศกเศร้าเสียใจกับการจากไปของบุตร ก็คือบุตรของเศรษฐีนั่นเอง  ซึ่งขณะที่สิ้นลมหายใจตายไปสู่ปรโลกนั้น ได้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นวิมานทอง
เพราะ ฉะนั้น ท่านสาธุชนทั้งหลาย  การร้องไห้คร่ำครวญเสียใจ  เสียดาย  กับการจากไปของปิยชนทั้งหลาย ไม่สามารถทำใจของผู้คนให้สงบสุขได้ ฉะนั้นนักปราชญ์ทราบชัดแล้วจึงไม่เศร้าโศกกับการจากไปของปิยชน แต่จะคิดว่าขณะที่เรามีลมหายใจอยู่เราจะทำประโยชน์อะไรได้บ้าง เหมือนดังดอกไม้ที่สุมกันอยู่เป็นกอง นายมาลาการที่ฉลาด สามารถนำมาร้อยเป็นพวงมาลัย มีคุณค่ามากฉันใด ชีวิตคนเราที่เกิดมานี้ ก็ควรจะใช้ประกอบกุศลกรรมทั้งหลายให้มากฉันนั้น อาตมภาพขอสรุปการบรรยายในครั้งนี้ ด้วยบทปลงสังขารว่า :-
                        โอ้ว่า อนิจจาสังขารเอ๋ย มาลงเอยสิ้นสุด หยุดเคลื่อนไหว
                        เมื่อหมดหวัง ครั้งสุดท้าย ไม่หายใจ ธาตุลม ไฟ น้ำ ดิน ก็สิ้นตาม
                        นอนตัวแข็ง น่าสลด เมื่อหมดชีพ เขาตราสัง ใส่หีบ สี่คนหาม
                        สู่ป่าช้า สิ้นชื่อ เหลือแต่นาม ใครจะถาม ถึงเราก็เปล่าเอย
                        นี่แหละหนอ มนุษย์เรา มีเท่านี้ หมดลมแล้ว ไม่มีซึ่งความหมาย
                        วิญญาณพราก ขาดลับ ดับจากกาย หยุดวุ่นวายทุกสิ่ง นอนนิ่งเลย
                        เมื่อชีวิตเรานี้ มีลมอยู่ จงเร่งรู้ ศีลทาน นะท่านเอ๋ย
                        ทั้งภาวนาทำใจ หัดให้เคย อย่าละเลยความดี ทุกวี่วัน​ฯ

            ธมฺมสงฺเวชนียกถาปริโยสาเน ในท้ายที่สุดแห่งการกล่าวธรรมสังเวชนี้ อิมินา กตปุญฺเญน ขอ อำนาจกุศลผลบุญที่คณะท่านเจ้าภาพได้บำเพ็ญไว้ดีแล้วในหมู่สงฆ์ จงมารวมกันเป็นตบะ เดชะ พะละวะปัจจัย อำนวยอวยพรให้………. จงเจริญด้วยอิฏฐวิบากสุขสมบัติที่พึงปรารถนาในสัมปรายภพ  สมดังเจตนาปรารถของคณะท่านเจ้าภาพทุกประการ
               อนึ่ง ขออำนาจกุศลผลบุญนี้จงเป็นปฏิพรย้อนสนองให้คณะท่านเจ้าภาพจงเจริญด้วย อายุ วรรณะ  สุขะ พละ ปฏิภาณ ธนสารสมบัติ ปรารถนาสิ่งใดที่ชอบประกอบด้วยธรรมแล้ว ก็ขอให้ความปรารถนานั้นๆ จงพลันสำเร็จ  จงพลันสำเร็จ  จงพลันสำเร็จ  สมความปรารถนาทุกประการ เทอญ.

ขอเจริญพร



บรรยายโดย...พระมหาเฉลิมเกียรติ  แก้วหอม. น.ธ.เอก, ป.ธ.๓,  พธ.บ. (การเมืองการปกครอง), ศศ.ม. (ยุทธศาสตร์การพัฒนา)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น