วันพฤหัสบดีที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2555

บันทึกการเดินทางสู่ชุมชนปราสาทเยอ



บันทึกการเดินทาง[1]
สู่ชุมชนปราสาทเยอ ต.ปราสาทเยอ อ.ไพรบึง จ.ศรีสะเกษ
วันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2554

บทนำ
     การศึกษาระดับดุษฎีบัณฑิต  หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต  สาขาวิชายุทธศาสตร์การพัฒนาภูมิภาค เป็นการศึกษาบนพื้นฐานของการทำวิจัยเพื่อก้าวไปสู่การนักยุทธศาสตร์  และนักพัฒนาในระดับต่างๆ ในอนาคต  ซึ่งนักศึกษาหลักสูตรนี้ต้องมีความชำนาญการวิจัยเชิงคุณภาพแนวมานุษยวิทยา  หรือแนวชาติพันธุ์วรรณนาเป็นหลัก  เพราะมีความเชื่อว่าการจะพัฒนาให้ตรงจุดนั้นจะต้องมีความรู้ในภูมิหลังของชุมชนให้มากที่สุด  แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น นักศึกษาจะเป็นไปตามเป้าประสงค์ของหลักสูตรหรือไม่นั้น  ขึ้นอยู่กับตัวนักศึกษาเองว่าจะมีพัฒนาการและการเรียนรู้ได้มากแค่ไหน  เพื่อก้าวสู่การเป็นนักวิจัย  นักยุทธศาสตร์  และนักพัฒนา  สิ่งนี้ตำราในห้องเรียนไม่มีสอน  อยากเป็นนักวิจัยฯ ต้องฝึกและฝึกจนชำนาญ
     ดังนั้น  รศ.ดร.อัจฉรา  ภาณุรัตน์  อาจารย์ผู้บรรยายในรายวิชาบริบทและแนวโน้มการพัฒนาภูมิภาค และประธานหลักสูตรฯ ประสงค์จะให้นักศึกษาในระดับปริญญาโท สาขายุทธศาสตร์การพัฒนา  สาขาวิจัยและพัฒนาท้องถิ่น และนักศึกษาปริญญาเอก สาขายุทธศาสตร์การพัฒนาภูมิภาค รุ่น 8 ลงพื้นที่ภาคสนาม ซึ่งในครั้งนี้ได้เลือกชุมชนบ้านปราสาทเยอ  ซึ่งผู้สอนมีความเชื่อว่าเป็นชนเผ่าที่ยังคงความบริสุทธิ์ ความเป็นชนเผ่ายังคงหลงเหลือให้ได้ศึกษาอยู่  เป็นกุศโลบายให้นักศึกษาได้ฝึกการเก็บรวบรวมข้อมูลเชิงประจักษ์  และเรียนรู้สภาพจริง  เมื่อเห็นแล้วจะมีแนวคิดในการพัฒนาอย่างไร  จะวิจัยอะไรได้บ้าง  และจากประสบการณ์ที่ได้รวบเดินทางในครั้งนี้  ผู้เขียนแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ 1. เป็นบันทึกการเดินทาง 2. เป็นข้อมูลภาคสนามที่ได้จากการถอดเทป (ข้อมูลดิบๆ)

จุดนัดพบการเดินทาง
     ในกำหนดการที่ออกมา  รถออกจากมหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์หน้าตึกช้าง เวลา 04.00 น. เพื่อนบางคนมีการติดต่อกันทางเฟสบุ๊คให้รีบตื่นเดี๋ยวไม่ทันเพราะศรีสะเกษอยู่ไกลจากสุรินทร์มาก (แซวกันเล่นๆ ) ข้าพเจ้านึกพิจารณาในใจแล้วลงมติกับเพื่อนนักศึกษาด้วยกันที่เป็นพระว่า  เราจะออกจากวัดเวลา 05.00 น.  เพราะกิจของพระมีการจำกัดเวลาไว้ตายตัว คือในระหว่างพรรษาจะออกจากวัดต้องให้ได้อรุณเสียก่อน  (คือสามารถดูลายมือเห็นชัดเจน  หรือไม่ก็ดูใบไม้ก็รู้ได้ว่าเป็นใบแก่หรือใบอ่อน) จึงจะสามารถออกไปทำกิจธุระนอกวัดได้ เช่น ออกบิณฑบาต ไปกิจธุระอื่นๆ  แต่เนื่องจากในกำหนดการมีการกำหนดเวลาไว้ตีสี่  ข้าพเจ้าจึงปรึกษากับท่านพระครูฯ เจ้าอาวาส เพื่อให้แน่ใจว่าการไปของเราไม่ผิดพระวินัยและไม่ทำให้ผู้นำต้องระคายเคืองใจ  ท่านก็ให้คำแนะนำว่าให้ทำสัตตาหะกรณียะ  เมื่อได้ความชัดอย่างนั้นแล้วก็ได้จัดตระเตรียมสัมภาระที่จำเป็นต้องใช้ในการเก็บข้อมูล  ข้าพเจ้าออกจากวัดเวลา 05.00 น. เพราะคิดว่ายังไงเสีย  รถก็ต้องผ่านหน้าวัดในเวลา 05.30 น. เป็นแน่  แต่โอ้อนิจจา... ทุกอย่างมันไม่ได้เป็นไปตามที่เราคาดการณ์ไว้เท่าใดนัก  รถออกจากมหาวิทยาลัยเวลาเกือบๆ หกโมงเช้า  ถ้านานกว่านี้นิดหน่อยคงได้เห็นเพื่อนๆ ออกปฏิบัติศาสนกิจแน่เลย  และที่แย่กว่านั้นคือ พระมีชัยโทรมาบอกว่าไม่มีรถออกมา  ถ้าไม่ทันคงไม่ได้ไปด้วยน่ะ   สรุปแล้วคนที่ขึ้นรถหลักเขาคือพระมีชัย ถ้าเป็นทหารก็คงจะเป็นนายพลผู้นำทับ  แต่นี้มันไม่ใช่เลย ข้าพเจ้ารอขึ้นรถที่หน้ามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน  วิทยาเขตสุรินทร์  เพราะอยู่ด้านหน้าวัดพอดี
     รถที่ไปในวันนี้มี 2 คัน นศ.ป.โท จะขึ้นรถบัสคันใหญ่มี ผศ.ดร.วาสนา แก้วหล้า นำทัพ ในการบรรยายให้ความรู้ตลอดทาง  ส่วน นศ.ป.เอก ขึ้นรถของบัณฑิตคันงามดูดีมีระดับนิดหน่อย  พอก้าวแรกขึ้นรถก็ได้ยินเสียงของสุภาพสตรีท่านหนึ่งเจื้อยแจ้วเป็นการสร้างบรรยากาศ  เจ้าของเสียงก็คือ รศ.ดร.อัจฉรา  ภาณุรัตน์  หรือที่รุ่นพี่และเพื่อนๆ เขาเรียกท่านว่า อาจารย์แม่  คุณแม่  เสด็จแม่ สมญานามเหล่านี้น่าจะเป็นพลังความรู้ที่ท่านมีจนไม่รู้จะเก็บไว้อย่างไรได้  ก็ระเบิดออกมาถ่ายทอดให้ลูกศิษย์ทุกรุ่นที่เข้ามาเรียนมากกว่า  ระหว่างที่รถกำลังแล่นไปเรื่อยๆ ข้าพเจ้าก็ได้บันทึกเสียงการบรรยายของอาจารย์ไว้  พร้อมกับจดบันทึกไว้ในสมุด

เส้นทางการเข้าถึงชุมชน
    รถยนต์ขบวนของเราออกจากมหาวิทยาลัยไปทางถนนเลี่ยงเมือง สายสุรินทร์ - สังขะ มุ่งหน้าสู่อำเภอขุขันธ์บนทางหลวงเส้นทาง 211 กรุงเทพ-เดชอุดม หรือจะไปสายศีรขรภูมิ – อุทุมพรพิสัย ก็ได้ เมื่อเข้าสู่เขตอำเภอขุขันธ์ได้แวะรับประทานอาหารเช้า (ฉัน) ที่ปั้มน้ำมัน ปตท. สำหรับอาหารพระอาจารย์ รศ.ดร. อัจฉรา เป็นเจ้าภาพ ซึ่งอาหารมีอยู่ 3 อย่าง คือไข่ทอด ผัด กับต้มเนื้อ พระมี 3 รูป อาหารดูเยอะในใจก็รู้สึกเกรงใจเหมือนกัน  เพราะสังเกตดูอาหารที่อาจารย์ทานนิดเดียวเพียงข้าวราดแกงจาน 1 ขณะที่นั่งฉันอยู่ก็มี นศ.ป.โท นำข้าวก่ำ (ข้าวเหนี่ยวดำ) มาถวายพร้อมกับไก่ย่างขาหนึ่งชิ้นใหญ่  ข้าพเจ้าพยายามฉันเฉพาะอาหารที่อาจารย์ถวายให้หมด  ส่วนข้าวก่ำถ้าเหลือยังไงก็สามารถให้ร้านเอาใสถุงไปฉันข้างหน้าได้  เมื่อกระทำภัตตกิจเสร็จแล้ว  ได้ทำธุระส่วนตัวเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ข้าพเจ้าได้สอบถามคนที่เข้าห้องน้ำด้วยกันว่า  จากนี้ไปไกลไหมกว่าจะถึงปราสาทเยอ  ได้รับคำตอบว่าไม่ไกล  ประมาณ 30 ก.ม. ก็จะถึงแล้วครับ
     ระหว่างที่เดินทางนั้น  อาจารย์ได้ถามเกี่ยวกับหัวข้อการทำวิทยานิพนธ์ทุกคน  ว่าใครได้ศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมไปถึงไหนแล้ว  เพื่อนๆ ก็ได้นำเสนอในส่วนของตนตามที่ได้รับคำชี้แนะมาบ้างแล้ว  ส่วนข้าพเจ้านั้น  ได้นำเสนอในประเด็นที่ตนสนใจเกี่ยวกับการนำหลักธรรม คืออปริหานิยธรรม 7 มาใช้กับวิถีประชาธิปไตย ในกลุ่มชาติพันธุ์ไทย-กัมพูชา  ซึ่งอาจารย์ก็ได้เสนอแนะในเบื้องต้นว่า  ให้ไปศึกษาประเด็นฮีต 12 คอง 14 แล้วมาเปรียบเทียบกับหลักธรรมนี้  ว่าสามารถเข้ากันได้ไหม  ซึ่งในงานจะมี 2 มิติ คือมิติด้านเกี่ยวกับลาว และพุทธศาสนา    แต่ข้าพเจ้าสนใจชุมชนเขมรมากกว่า  ทราบอยู่ว่าไทยกับเขมรกำลังมีปัญหา  แต่มา ณ วันนี้ทุกอย่างมันดีแล้ว ดังนี้เรื่องที่จะทำวิจัยนั้น ซึ่งข้าพเจ้าได้คิดแล้วคิดอีก จากข้อมูลในเบื้องต้น จึงทำให้ได้หัวข้อว่า การพัฒนารูปแบบวิถีประชาธิปไตยวัฒนธรรมตามหลักอปริหานิยธรรม 7 ของกลุ่มชาติพันธุ์ไทย-กัมพูชา  และคิดว่าจะศึกษาให้เข้าใจอย่างถ่องแท้อย่างลึกซึ้งต่อไป
     ก่อนที่รถจะออกจากจุดแวะรับประทานอาหารนั้น  อาจารย์กับสลับรถกัน โดยรถ ป.เอก ให้ ผศ.ดร.วาสนา ขึ้นมาบรรยายแทน  ส่วน รศ.ดร.อัจฉรา ไปขึ้นรถ ป.โท การบรรยายของ อ.วาสนา ฟังแล้วน่ากลัว เพราะรู้สึกว่าท่านเก่ง  คนอื่นทำไม่ได้  แต่ทุกอย่างก็เป็นไปตามกลไกของมันอย่างนั้นเอง ท่านก็พยายามถ่ายทอดอย่างเต็มที่ 

พื้นที่ศึกษา
    หมู่บ้านปราสาทเยอ ด้านซ้ายมือก่อนเข้าสู่หมู่บ้าน คือโรงเรียนบ้านปราสาทเยอ สองฝั่งข้างทางเป็นทุ่งนาเขียวขจีมีน้ำท่าอุดมสมบูรณ์  จากคำบรรยายของอาจารย์วาสนาในเบื้องต้นว่า ชุมชนบ้านปราสาทเยอมีครอบครัวใหญ่อยู่ 2 ครอบครัวคือ โยธี กับ..... เป้าหมายที่คณะเราไปนั้นคือวัดปราสาทเยอเหนือ  ซึ่งในอดีตมีพระครูประสาธน์ขันธคุณ หรือหลวงพ่อมุม  อินฺทปญฺโญ  ถนนทางเข้าหมู่บ้านเป็นถนนคอนกรีตกว้างประมาณ 250 ซม. จากถนนหลัก เมื่อผ่านเข้าสู่ประตูวัดซึ่งเราสามารถสังเกตเห็นแต่ไกล  ซุ้มประตูที่สร้างขึ้นมีลวดลายแบบขอมมีความแข็งแรงมั่นคง  ซึ่งดูแล้วมีความสวยงามและแฝงไว้ซึ่งมนต์ขลังแห่งอารยธรรมขอมในอดีต  เมื่อเข้าสู่บริเวณวัดสามารถสังเกตได้ทันทีว่า  ภาพจากอดีตกำลังจะถูกกระแสโลกาวิวัฒน์เข้ามาแทรก  ถนนภายในวัดมีการทำเป็นถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก  ภาพเสนาสนะมีการปรับปรุงปฏิสังขรณ์ใหม่ทราบในเบื้องต้นว่าจะมีงานกฐินพระราชทานจากในหลวงโดยทางจังหวัดเป็นตัวแทนพระองค์มาทอดที่วัด  จึงต้องมีการปรับปรุงโบสถ์ใหม่  สภาพบริบทภายในวัดในอดีตเมื่อครั้งที่หลวงพ่อมุมยังมีชีวิตอยู่คงเป็นวัดที่มีผู้คนเข้ามาทำบุญเป็นจำนวนมาก  และเป็นที่รู้จักของผู้คนทั้งหลาย  เพราะจากวัดบ้านนอกธรรมดาแต่มีกำลังสร้างเสนาสนะได้ใหญ่โต โดยเฉพาะโบสถ์นั้นวัดทั่วไปถ้าไม่มีกำลังทรัพย์หรือญาติโยมที่มีเงินจริงๆ จะไม่สามารถสร้างได้เลย  แต่สำหรับวัดปราสาทเยอเหนือสิ่งเหล่านี้มีครบทุกอย่าง เช่น โบสถ์  ศาลาการเปรียญ  เจดีย์
     หลังจากที่ลงจากรถแล้ว  พวกเราก็ได้แยกย้ายกันเดินชมบริเวณวัดไปพลางๆ ก่อน  มีการบันทึกภาพสถานที่ต่างๆ ไว้ บ้างก็มีการจดบันทึกอย่างเอาจริงเอาจังมาก  บ้างก็เอาแต่ถ่ายรูปเสมือนมาเที่ยวชมไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์  ทุกคนต่างก็ไปไหว้รูปเหมือนหลวงพ่อมุม อธิษฐานขอพรเพื่อให้ตัวเองเรียนจบ (ถ้าไม่ตั้งใจจะจบให้ไหมเนี๊ยะ) หลังจากนั้นอาจารย์ได้นัดกันไปพร้อมที่กุฎีท่านเจ้าอาวาส  เพื่อกราบนมัสการและรับฟังการบรรยายสรุปเกี่ยวกับบทบาทของหลวงพ่อมุม ตลอดทั้งกิจกรรมต่างๆ ที่ชาวชุมชนถือปฏิบัติ  ในการณ์นี้ได้ท่านพระอาจารย์มหาสุนันท์ เป็นผู้นำกล่าวรายงานให้ท่านเจ้าอาวาสทราบจุดประสงค์ที่ทางคณะเราเข้ามา  ดูเหมือนพระท่านยังไม่ได้เตรียมตัว  หรือผู้ประสานงานของเรายังไม่ได้ประสานมา  แต่ทุกอย่างก็ผ่านพ้นไปได้เป็นอย่างดี  เจ้าอาวาสรูปปัจจุบันชื่อ  เจ้าอธิการ.......................... ภาษาการสื่อสารนับเป็นปัญหาอย่างมาก  เพราะหลวงพ่อท่านพูดภาษาไทยได้ไม่ค่อยชัด  สำเนียงภาษาจะออกไปทางภาษาเยอผสมภาษาลาวนิดๆ ทำให้เพื่อนบางคนงงไปตามๆ กัน  คือจับประเด็นได้ไม่ดีนัก  เพราะพระท่านพูดกระโดดไปมา เป็นกิริยาที่ใสซื่อบริสุทธิ์ของคนโบราณรู้สึกอะไรก็จะพูดออกมาเป็นความน่ารักทางภาษาท่าทางอย่างหนึ่งของคนพื้นบ้าน  เมื่อได้เวลาพ่อสมควรแล้วก็ได้ถวายจตุปัจจัยไทยธรรม  แยกย้ายกันเข้าชุมชนต่อไป
     ขณะที่ยังอยู่ในเขตวัดนั้น  ข้าพเจ้าได้เข้าไปพูดคุยและถือโอกาสนี้สัมภาษณ์พระมหา............... ซึ่งเป็นพระอาคันตุกะที่เดินทางมาจากที่อื่น  เป็นคนอำเภอภูสิงห์  ที่มาจำพรรษาที่นี่เพราะมีความศรัทธาเลื่อมใสในบารมีธรรมของหลวงพ่อมุม  พระที่วัดแห่งนี้มีกิจวัตรข้อวัตรที่เคร่งครัดพอสมควร  กล่าวคือมีการถือการฉันอาสนะเดียวไม่มีการฉันอาหารเพล  สวดมนต์ไหว้พระตามปกติ แต่ไม่มีการศึกษาพระปริยัติธรรมอย่างเป็นรูปธรรม  สาเหตุจากการสังเกตน่าจะมาจากการที่พระที่บวชมาเป็นพระผู้เฒ่ามากกว่าพระหนุ่มเณรน้อย  และส่วนที่เป็นพระหนุ่มนั้นก็คงบวชไม่นานออกพรรษาก็ต้องสึกหาลาเพศไป  จากการสัมภาษณ์พระสรุปได้ว่าหลวงพ่อมุมนั้นท่านมีบทบาทสำคัญหลายอย่าง เช่นการเป็นครูสอนหนังสือให้กับคนในชุมชน  การเป็นหมอรักษาคุณไสย์  เป็นครูเพลง  แต่ที่เป็นที่เลื่องลือมากที่สุดคือท่านเป็นพระเกจิที่มีความขลัง  พระเครื่องของท่านทุกรุ่นจะเป็นที่ต้องการอย่างมาก  ขนาดท่านมรณภาพไปนานแล้วความขลังยังคงเหมือนเดิม

สภาพบริบทภายในวัด
    บริเวณภายในวัดแห่งนี้เหมือนวัดบ้านทั่วๆ ไป  คือมีชุมชนอยู่รอบข้าง ถนนภายในวัดทำเป็นถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก พื้นที่ภายในบริเวณเป็นสนามหญ้าส่วนใหญ่  ไม่มีลานดินไว้สำหรับปัดกวาดเหมือนวัดป่า  จะมีก็เฉพาะบริเวณศาลาการเปรียญ ปภร. ด้านทิศใต้ของวัดมีสระน้ำขนาดใหญ่  ซึ่งจากการสังเกตพบว่าเป็นแหล่งน้ำที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ  พระเณรสามารถใช้อุปโภคได้ตลอดปี  และข้างๆ สระน้ำมีระบบประปาซึ่งได้สร้างเป็นแท็งก์น้ำไว้สูงเพื่อสูบน้ำไว้ใช้ภายในวัด  ดูรูปภาพเหล่านี้ประกอบ คือ



     เนื่องจากวัดได้รับพระกรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9   พระราชทานผ้ากฐินในปี พ.ศ. 2554 นี้  โดยมอบหมายให้จังหวัด คือผู้ว่าราชการฯ และส่วนราชการต่างๆ ภายในจังหวัดเป็นผู้นำผ้ากฐินพระราชทานมาทอด ณ วัดแห่งนี้  จังหวัดจึงให้งบประมาณมาพัฒนาและปรับปรุงเสนาสนะคืออุโบสถหลังเก่า  เพื่อเตรียมความพร้อมรับงานกฐิน  กุฎีที่พักของพระภิกษุในวัดจะเป็นหลังเล็กๆ พอพักอาศัยกันแดดกันฝนได้  ส่วนกุฎีของท่านเจ้าอาวาสจะหลังใหญ่ ซึ่งพิจารณาดูแล้วน่าจะเป็นการสร้างสมัยที่หลวงพ่อมุมยังมีชีวิตอยู่  เพราะภายในกุฎีมีรูปวาด และที่สำหรับพระรับญาติโยม  เสนาสนะภายในวัดโดยรวมแล้วกุฏิที่อยู่ของพระจะน้อย  อาจเป็นเพราะว่าในแต่ละปีไม่ค่อยมีพระมาจำพรรษามากนัก  หรือถ้ามีก็คนในพื้นที่บวชระยะสั้นๆ จึงไม่เน้นการสร้างกุฏิ  แต่ในด้านศาลาการเปรียญนั้นมีความพร้อม  แต่ละหลังใหญ่โตสามารถรองรับคณะผู้เดินทางจากที่อื่นที่เข้ามาทำบุญได้


 

       [1] พระมหาเฉลิมเกียรติ  แก้วหอม. 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น